สภาทองคำโลกเผย ไทยทำสถิติสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ด้านความต้องการทองคำปี 2567 ด้านราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นในปี 2567

รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาสที่ 4 และการสรุปภาพรวมตลอดปี 2567 ของสภาทองคำโลก (World Gold Council: WGC) ได้เปิดเผยข้อมูลความต้องการทองคำทั่วโลกที่รวมปริมาณการซื้อขายทองคำนอกตลาดหลักทรัพย์ ‎(Over-the-counter: OTC) ซึ่งได้ทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ด้วยจำนวนรวม 4,974 ตัน โดยประเทศไทยได้ก้าวขึ้นเป็นตลาดทองคำที่มีความแข็งแกร่งในปี 2567 และมีปริมาณความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่จำนวน 39.8 ตัน คิดเป็นการเติบโตสูงถึง 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

สภาทองคำโลกระบุว่าความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2567 นั้นได้รับแรงขับเคลื่อนจากการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งของธนาคารกลาง และการเติบโตของความต้องการทองคำเพื่อการลงทุน ราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดใหม่หลายครั้งและปริมาณความต้องการที่พุ่งสูงในปีที่ผ่านมา ได้ร่วมกันส่งผลให้ความต้องการทองคำรวมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางยังคงซื้อทองคำในปริมาณที่มหาศาลอย่างต่อเนื่องในปี 2567 โดยมีปริมาณการซื้อในระดับสูงกว่า 1,000 ตัน เป็นปีที่สามติดต่อกัน และการเข้าซื้อทองคำที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของธนาคารกลางในไตรมาสที่ 4 จำนวน 333 ตัน ได้ส่งผลให้ยอดรวมการซื้อทองคำของธนาคารกลางตลอดทั้งปีอยู่ที่ 1,045 ตัน

ด้านความต้องการทองคำเพื่อการลงทุนทั่วโลกนั้นได้เพิ่มขึ้นถึง 25% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ ‎1,180 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 4 ปี โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของการลงทุนในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำแท่งสำหรับนักลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ทั้งนี้กองทุน ETF ทองคำทั่วโลกได้เพิ่มปริมาณทองคำจำนวน 19 ตันในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 นับว่าเป็นกระแสการลงทุนในทิศทางไหลเข้าต่อเนื่องกันเป็นไตรมาสที่สองสำหรับสินทรัพย์ประเภทนี้ ขณะที่ความต้องการในทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกยังคงระดับใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ปริมาณ 1,186 ตันสำหรับปี 2567 โดยประเทศไทยมีระดับความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำในไตรมาสที่ 4 จำนวน 14.6 ตัน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ทำให้ปริมาณความต้องการของประเทศไทยรวมตลอดทั้งปี 2567 อยู่ที่จำนวน 39.8 ตัน

เนื่องจากสภาวะราคาทองคำที่พุ่งสูง สภาทองคำโลกจึงมองว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความต้องการทองคำเครื่องประดับนั้นเป็นแนวโน้มที่ไม่น่าแปลกใจ โดยปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับทั่วโลกสำหรับปี 2567 ได้ลดลง 11% อยู่ที่ระดับ 1,877 ตัน อย่างไรก็ตามความต้องการทองคำเครื่องประดับของไทยยังคงแข็งแกร่งและปรับลดลงเพียง 2% และมีความต้องการรายปีรวมเป็น 9.0 ตัน ทั้งนี้การลดลงของความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกส่วนใหญ่นั้นมีที่มาจากประเทศจีน ซึ่งปรับลดลง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่อินเดียยังมีปริมาณความต้องการที่แข็งแกร่งและลดลงเพียง 2% เท่านั้น ภายใต้สภาวะของราคาทองคำที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์

คุณเซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าฝ่ายธนาคารกลางระดับโลก ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ราคาทองคำที่สูงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2567 นั้นถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคในตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อย่างไรก็ตามประเทศไทยนับว่ามีความแข็งแกร่งกว่าตลาดอื่น ๆ โดยมีปริมาณการบริโภคทองคำเครื่องประดับของไทยลดลงเพียง 2% ขณะที่ทั่วโลกได้ปรับลดลง 11% เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งช่วยจำกัดระดับการปรับตัวลดลงของปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับได้”

คุณเซาไก ‎ ฟาน กล่าวเสริมว่า “ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นปีที่ความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของประเทศไทยแข็งแกร่งมาก และสูงเป็นอันดับที่ 7 ของโลก โดยคนไทยได้มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ที่ทั้งสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาว และช่วยลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในประเทศได้ นอกจากนี้การเติบโตของแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อการออมทองคำในรูปแบบดิจิทัล ยังได้ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการทองคำของประเทศไทยนั้นแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง”

สภาทองคำโลกยังได้ระบุว่า ทองคำในภาคเทคโนโลยีได้ทำสถิติรายไตรมาสที่แข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 เป็นต้นมา โดยมีความต้องการจำนวน 84 ตัน การเติบโตของปริมาณทองคำที่ใช้ในเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้ความต้องการทองคำในภาคเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณสุทธิรายปีรวม 326 ตัน

ด้านอุปทานทองคำทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบเป็นรายปี และทำระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ 4,794 ตัน จากทั้งการผลิตของเหมืองแร่และการรีไซเคิลทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น

คุณหลุยส์ สตรีท (Louise Street) นักวิเคราะห์การตลาดอาวุโส ของสภาทองคำโลก กล่าวว่า “ทองคำยังคงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปี 2567 โดยราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 40 ครั้งในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแนวโน้มความต้องการทองคำนั้นไม่ได้สม่ำเสมอตลอดทั้งปี 2567 โดยภาคธนาคารกลางมีความต้องการที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 1 ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงกลางปี และกลับมาเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 4 ขณะที่นักลงทุนฝั่งตะวันตกได้หันกลับมาสนใจลงทุนในทองคำอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเมื่อรวมกับกระแสเงินทุนจากฝั่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้กระแสการลงทุนในกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกปรับทิศทางเป็นเชิงบวกในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี โดยความเคลื่อนไหวนี้มีที่มาจากการที่ธนาคารกลางหลายแห่งได้เริ่มต้นวัฏจักรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย รวมถึงความไม่แน่นอนในระดับโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคตะวันออกกลาง”

คุณหลุยส์ สตรีท ได้กล่าวเสริมว่า “ในปี 2568 นี้ เราคาดว่าธนาคารกลางจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันตลาดทองคำต่อไป สนับสนุนด้วยนักลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลง แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังมีความผันผวนก็ตาม ในทางกลับกันทองคำเครื่องประดับอาจยังคงชะลอตัวต่อไป เนื่องจากราคาทองคำที่สูงและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงตามไปด้วย ความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจมหภาคนั้นน่าจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของปี ซึ่งสภาวะนี้จะช่วยเสริมความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ช่วยรักษามูลค่าและเป็นเครื่องมือลดผลกระทบจากความเสี่ยง”

Scroll to Top