Google เผย 5 กลโกงออนไลน์มาแรง! พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวคุณให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

Google เผย 5 กลโกงออนไลน์มาแรง! พร้อมแนะวิธีป้องกันตัวคุณให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

เนื่องในโอกาสวัน Safer Internet Day หรือ วันแห่งการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย Google ได้ออกมาเปิดเผย 5 เทรนด์กลโกงออนไลน์ล่าสุดที่กำลังระบาดในหมู่คนไทย พร้อมทั้งแนะนำเคล็ดลับการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยให้คนไทยรู้ทันและสามารถป้องกันตัวเองจากกลโกงประเภทต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1. มิจฉาชีพใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์สำคัญ

มิจฉาชีพมักใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่ผู้คนให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ต กีฬา เทศกาล หรือแม้กระทั่งภัยพิบัติทางธรรมชาติ มาเป็นเครื่องมือในการสร้างกลลวงใหม่ๆ หรือพัฒนากลลวงเดิมให้แนบเนียนยิ่งขึ้น โดยอาจใช้ AI ในการสร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น การขายตั๋วปลอม การสวมรอยเป็นองค์กรการกุศล หรือการสร้างสถานการณ์กดดันให้เหยื่อรีบตัดสินใจ

Google รับมือ:

  • เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและบังคับใช้นโยบายในช่วงเหตุการณ์สำคัญ
  • กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ละเอียดอ่อนสำหรับ Google Ads, Google Shopping, YouTube และ Google Play
  • ไม่อนุญาตผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เอารัดเอาเปรียบหรือใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ละเอียดอ่อน

เคล็ดลับความปลอดภัย:

  • ซื้อตั๋วและบริจาคผ่านช่องทางทางการเท่านั้น
  • ตรวจสอบองค์กรการกุศลและ URL ก่อนคลิก
  • ใช้ฟีเจอร์ “เกี่ยวกับผลการค้นหานี้” ใน Google Search เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มา

2. AI ปลอมหน้า-เสียงคนดัง หลอกลงทุน

มิจฉาชีพใช้ AI สร้างวิดีโอหรือรูปภาพปลอมของบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อหลอกเหยื่อให้ร่วมลงทุน โดยใช้เทคโนโลยี Deepfake ผสมกับบทความข่าวปลอมและโพสต์โซเชียลมีเดียที่ดูน่าเชื่อถือ ซึ่งมักพบในแพลตฟอร์มการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล การหลอกลวงเหล่านี้ดูน่าเชื่อถือด้วยใบหน้าที่คุ้นเคย เนื้อหาที่ดูเป็นมืออาชีพ และคำสัญญาผลตอบแทนสูง

Google รับมือ:

  • อัปเดตนโยบายการสื่อให้เข้าใจผิด เพื่อจัดการการหลอกลวงที่แอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียงใน Google Ads
  • YouTube มีนโยบายการแอบอ้างเป็นบุคคลอื่น และนโยบายข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
  • พัฒนาเครื่องมือโอเพนซอร์ส SynthID ใช้ใส่ลายน้ำและระบุคอนเทนต์ AI สร้าง

เคล็ดลับความปลอดภัย:

  • อย่าหลงเชื่อคำแนะนำลงทุนของคนดังง่ายๆ โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดีย
  • สังเกตสีหน้าที่ไม่เป็นธรรมชาติในวิดีโอ
  • หากการลงทุนใดดูดีเกินจริง ให้ระวังว่าอาจเป็นกลโกง

3. หลอกขายแพ็กเกจทัวร์และสินค้าออนไลน์

มิจฉาชีพสร้างเว็บไซต์ช็อปปิ้ง เว็บไซต์ท่องเที่ยว และเว็บไซต์ร้านค้าปลอม หลอกล่อเหยื่อด้วยสินค้ายอดนิยม สินค้าหรูหรา ตั๋วคอนเสิร์ต และข้อเสนอเดินทางราคาถูกเกินจริง โดยเว็บไซต์ปลอมจะเลียนแบบเว็บไซต์จริงทุกอย่าง ทำให้แยกได้ยาก มิจฉาชีพใช้เทคนิค “Cloaking” หลีกเลี่ยงการตรวจจับ สร้างความรู้สึกเร่งด่วน เช่น “ข้อเสนอพิเศษแบบจำกัดเวลา” เพื่อกดดันให้ตัดสินใจ เหยื่อมักไม่ได้รับสินค้า ได้รับสินค้าปลอม หรือถูกเรียกเก็บเงินโดยไม่ได้ใช้

Google รับมือ:

  • ตรวจสอบและนำเว็บไซต์ฟิชชิง Cloaking หรือแอบอ้างธุรกิจออกจากระบบ
  • ผู้ลงโฆษณาต้องยืนยันตัวตน เพื่อยืนยันข้อมูลธุรกิจ
  • เคล็ดลับความปลอดภัย:
  • ตรวจสอบเว็บไซต์ให้ดีก่อนซื้อสินค้า โดยเฉพาะช่วงลดราคา
  • ตรวจสอบ URL ฟีเจอร์ความปลอดภัย และระวังราคาถูกเกินจริง
  • ใช้ฟีเจอร์ “เกี่ยวกับผลการค้นหานี้” สำหรับเว็บไซต์ที่ไม่คุ้นเคย

4. กลโกงใช้เทคโนโลยีเข้าถึงระยะไกล

มิจฉาชีพแอบอ้างเป็นผู้สนับสนุนทางเทคนิคจากบริษัท ธนาคาร หรือหน่วยงานรัฐ สร้างสถานการณ์เร่งด่วน อ้างว่ามีปัญหาด้านอุปกรณ์ บัญชี หรือความปลอดภัย ใช้ภาษาทางเทคนิคและหน้าสนับสนุนปลอม มีการปลอมแปลงหมายเลขโทรศัพท์และสนทนาตามสคริปต์ เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ มิจฉาชีพจะหลอกเหยื่อให้ติดตั้งซอฟต์แวร์ Remote Access เพื่อควบคุมอุปกรณ์และเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว

Google รับมือ:

  • มีระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น ตรวจจับและบล็อกเว็บไซต์น่าสงสัย
  • Google Messages มีฟีเจอร์แจ้งเตือนสิ่งผิดปกติ
  • ธุรกิจที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถแสดงข้อมูลสนับสนุนลูกค้าที่ยืนยันบน Google Search
  • Google Safe Browsing เตือนผู้ใช้เกี่ยวกับเว็บไซต์และการดาวน์โหลดอันตราย

เคล็ดลับความปลอดภัย:

  • อย่าให้สิทธิ์เข้าถึงระยะไกล หากคุณไม่ได้สั่ง
  • ติดต่อบริษัทโดยตรงผ่านช่องทางทางการเท่านั้น
  • เพิ่มความปลอดภัยด้วยการยืนยันแบบ 2 ขั้นตอน หรือพาสคีย์

5. หลอกสมัครงาน

มิจฉาชีพหลอกสมัครงาน มุ่งเป้าไปที่ผู้หางานออนไลน์ โดยประกาศรับสมัครงานปลอมตามเว็บไซต์หางานและโซเชียลมีเดีย มีวิดีโอสัมภาษณ์ปลอมและกระบวนการสมัครงานละเอียด มักแอบอ้างเป็นบริษัทต่างชาติ ทำธุรกิจต่างๆ เช่น การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล หรือการตลาดดิจิทัล มีการทำสัญญาและเอกสารปลอม เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ หลอกให้เหยื่อจ่ายค่าธรรมเนียม หรือขโมยข้อมูล

Google รับมือ:

  • มีระบบตรวจจับและบล็อกเนื้อหารับสมัครงานน่าสงสัย
  • อาจต้องมีการยืนยันเพิ่มเติม เพื่อให้ระบบเข้าใจผู้เผยแพร่เนื้อหา

เคล็ดลับความปลอดภัย:

  • ระวังข้อเสนอจ้างงานที่ “ดูดีเกินจริง”
  • ตรวจสอบการรับสมัครงานในเว็บไซต์ทางการของบริษัท
  • ใช้ฟีเจอร์ “เกี่ยวกับผลการค้นหานี้” ตรวจสอบแหล่งที่มา

การปกป้องผู้ใช้จากกลลวงออนไลน์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย Google พัฒนากลไกการตรวจจับและบังคับใช้นโยบายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับมือกับภัยคุกคาม และยกระดับความปลอดภัยเชิงรุก เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยบนโลกออนไลน์

AIS ผนึกกำลังภาครัฐ ปฏิบัติการกวาดล้างแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามพรมแดน สระแก้ว ตามมาตรการภาครัฐเพิ่มอีก 9 จังหวัด

Scroll to Top