วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันมะเร็งโลก โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ได้จัดกิจกรรมบริการวิชาการสำหรับผู้ป่วยมะเร็งและญาติ โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจคือ “ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดก้อนมะเร็งที่เข้าถึงยากและซับซ้อนด้วยนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด” พร้อมกับนิทรรศการแสดงนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็งที่มีชื่อว่า “ROBOTIC-ASSISTED CANCER SURGERY REVOLUTION” ซึ่งได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานในการเปิดงาน
รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ได้กล่าวว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีพันธกิจสำคัญในการให้บริการวิชาการและวิชาชีพด้านสุขภาพแก่สังคม โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชน ตามพระปณิธานของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้น
สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันมะเร็งโลกในปีนี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “CRA United by Unique Against Cancer” ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเอาชนะมะเร็งด้วยการรักษาแบบสหวิทยาการ และได้เปิดตัวนวัตกรรม “หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดปฏิวัติการรักษามะเร็ง” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
นวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนี้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายสาขาศัลยกรรม เช่น ศัลยกรรมทั่วไป ศัลยกรรมระบบทางเดินปัสสาวะ ศัลยกรรมตับ ตับอ่อน ศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ศัลยกรรมทางนรีเวช ศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก รวมถึงการผ่าตัดลดความอ้วน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการรักษาโรคต่างๆ
นพ.วิชญะ ปริพัฒนานนท์ แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ชาย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ของมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทยว่า เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 4 ในผู้ป่วยมะเร็งชาย และการนำหุ่นยนต์มาช่วยในการผ่าตัดรักษามะเร็งต่อมลูกหมากนั้นได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพและให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่นๆ
ด้วยเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้องแผลเล็กและการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ทำให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยในด้านต่างๆ เช่น แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และสามารถกลับมาทำกิจวัตรประจำวันได้เร็วขึ้น
นพ.วิชญะ ยังได้กล่าวถึงข้อดีของการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ว่า “การผ่าตัดมะเร็งจะมีการผ่าตัดแบบเปิด และการผ่าตัดแบบแผลเล็ก ซึ่งการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดจะเพิ่มประสิทธิภาพในการผ่าตัดแบบแผลเล็ก เนื่องจากการเคลื่อนไหวของข้อมือหุ่นยนต์ที่ทำได้ไม่ต่างจากมือศัลยแพทย์ ยังสามารถลดการสั่นได้ด้วย ฉะนั้นจึงช่วยเพิ่มความแม่นยำ เข้าถึงอวัยวะที่มีโครงสร้างซับซ้อนได้ง่ายขึ้น”
ในส่วนของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์นั้น นพ.วิชญะ ยอมรับว่ายังมีค่าใช้จ่ายที่สูง แต่เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนการใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดในโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ และมะเร็งตับอ่อน ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง อย่างไรก็ตาม ยังมีค่าเครื่องและการบำรุงรักษาที่ยังคงสูงอยู่ แต่ข้อดีคือช่วยลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลและช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
นพ.วิชญะ ได้กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของการมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดว่า “การมีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดนอกจากทำให้การผ่าตัดแบบแผลเล็กมีความแม่นยำขึ้น ใช้เวลาในการผ่าตัดสั้นลง ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง หายเร็วขึ้น ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลสั้นลง ไม่เพียงทางโรงพยาบาลมีเตียงเพื่อในการให้บริการแก่ผู้ป่วยรายอื่นๆ หมอก็มีเวลาไปดูแลรักษาผู้ป่วยอื่นมากขึ้น สามารถผ่าตัดได้เพิ่มขึ้นจากวันละ 1 เคส เป็น 2-3 เคส เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งในโรงพยาบาลจุฬาภรณ์”