5 ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกสิกรไทย เปิดแถลงวิสัยทัศน์พร้อมกัน และประกาศเป้าหมายตั้งเป้าสู่ธุรกิจแบงก์ยุคใหม่ ใช้ดาต้าช่วยปล่อยกู้ 30,000 ล้านบาท สินเชื่อรายย่อยโต 9-12 %
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยประกาศเป็นแบงก์ยุคใหม่ แข็งแกร่งในประเทศ และขยายสู่ต่างประเทศ เพื่อให้ทันต่อพฤติกรรมลูกค้าและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ จะให้บริการ คิวอาร์ โค้ด มาตรฐานไทยในประเทศ CLMV+3 สามารถสแกนชำระเงินนอกประเทศได้ และบริการร้านค้าสแกนคิวอาร์ โค้ด ของลูกค้าผู้ชำระเงิน (B Scan C) ที่จะช่วยให้การชำระเงินสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
โครงการ National Digital ID ที่ลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ ช่วยให้เปิดบัญชีผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องไปแสดงตนที่สาขา การขอสินเชื่อและการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ทางออนไลน์ รวมทั้งโครงการเอทีเอ็มสีขาว (White-Label ATMs) ที่จะช่วยให้ธนาคารบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทย จะใช้ข้อมูล และพฤติกรรมของลูกค้ามาพิจารณาช่วยปล่อยกู้ (Data-Driven Lending ) โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตั้งเป้าวงเงินสินเชื่อไว้ 30,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมพัฒนาระบบการชำระเงินด้วยใบหน้า
แต่ในปีนี้ธนาคารยังคงมีการปิดสาขาอีก 80 สาขา แต่จะเปิดสาขารูปแบบใหม่ในรูปแบบดิจิทัลให้เพิ่มอีก 30 สาขา ส่งผลให้สาขารวมของธนาคารลดลงเหลือ 935 สาขา จากสิ้นปีก่อน 985 สาขา แต่ธนาคารยืนยันว่าจะไม่ปลด พนักงานแต่จะเพิ่มทักษะให้สอดคล้องกับยุคสมัย
นายพิพิธ เอนกนิธิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าในปีนี้ธนาคารกสิกรไทยจะเชื่อมโยงลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคใน CCLMVI ((จีน กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และอินโดนีเซีย) ธนาคารตั้งเป้าหมายการเติบโตรายได้จากธุรกิจในต่างประเทศกว่า 8 เท่า ภายใน 3 ปีข้างหน้า
นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อรวม 5-7 % โดยสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเติบโต 9-12 % อัตราส่วนผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ 3.3-3.5 %
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิซิเนส – เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวว่าตั้งเป้าหมายการพัฒนา KBTG ไปสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเปลี่ยนแกนเทคโนโลยีของโลกมาสู่ประเทศไทย ภายในปี 2565 โดยเริ่มจากงบลงทุนด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และบุคลากร ในปีนี้กว่า 5,000 ล้านบาท