สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับสาธารณรัฐชิลี เตรียมดำเนินความร่วมมือส่งเสริมนวัตกรรมและสตาร์ทอัพระหว่าง 2 ประเทศ โดยความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นประกอบด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ การเพิ่มโอกาสธุรกิจนวัตกรรมผ่านกิจกรรมและอีเวนท์ เช่น การประชุมและสัมมนานานาชาติ การเวิร์คชอป รวมถึงการยกระดับนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (ย่านนวัตกรรม) นอกจากนี้ NIA มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับมหาวิทยาลัย Catolica ของชิลี เพื่อดำเนินความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพและนวัตกรรมระหว่างไทยกับภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับสตาร์ทอัพทั้งสองประเทศ และคาดว่าจะเป็นโอกาสในการดึงธุรกิจและการลงทุนสู่ไทยและอาเซียนได้เป็นอย่างดี
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะผู้แทนจาก NIA สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เดินทางเยือนสาธารณรัฐชิลี เพื่อศึกษางานด้านระบบนิเวศสตาร์ทอัพ การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในด้านสตาร์ทอัพระหว่างสองประเทศ โดยคณะผู้แทนได้ร่วมหารือกับหน่วยงานต่างๆ ของชิลี ได้แก่ กระทรวงเศรษฐกิจ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจชิลี (Chilean Production Development Agency: CORFO) สตาร์ทอัพชิลี และ Laboratorio de Gobierno ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เสมือนห้องปฏิบัติการทางภาครัฐ พร้อมด้วยการพัฒนา อำนวยความสะดวก และส่งเสริมกระบวนการให้ได้มาซึ่งนวัตกรรม
สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ NIA และ CORFO ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจในการร่วมมือและเป็นพันธมิตรด้านการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพและนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและประเทศชิลี ซึ่งทั้งสองประเทศจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพผ่านการสนับสนุนและประสานงานด้านต่างๆ เช่น การเข้าถึงทุน เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ รวมถึงเพิ่มโอกาสธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านกิจกรรมและอีเวนท์ เช่น การประชุมและสัมมนานานาชาติ การเวิร์คชอป โปรแกรมการอบรม และการเยี่ยมชมตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ NIA มหาวิทยาลัยสุรนารี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจสามฝ่ายร่วมกับมหาวิทยาลัย Catolica ของชิลี ซึ่งนับเป็นการเปิดทางสู่ความร่วมมือด้านสตาร์ทอัพ และนวัตกรรมระหว่างไทยกับภูมิภาคอเมริกาใต้ และเปิดตลาดใหม่ให้กับสตาร์ทอัพของไทยในการออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ชิลีและประเทศในแถบลาตินอเมริการู้จักและเข้าใจประเทศไทยและอาเซียนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการดึงธุรกิจและการลงทุนจากเอเชียแปซิฟิกสู่อาเซียน
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากโครงสร้างของ CORFO และ Startup Chile ที่มีความคล้ายกับ NIA และ สตาร์ทอัพไทยแลนด์ ชิลีจึงเป็นประเทศที่มีโอกาส และความสามารถในการพัฒนาความร่วมมือด้านนวัตกรรม วิสาหกิจเริ่มต้น การทูตนวัตกรรม และนวัตกรรมเชิงพื้นที่ (ย่านนวัตกรรม) ร่วมกันสูงมากประเทศหนึ่ง ทั้งนี้ ระบบนิเวศการลงทุน ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทางสาธารณรัฐชิลีสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมีบริษัทขนาดใหญ่ที่พร้อมให้การลงทุน (CVC) และ การระดมทุน (VC) จำนวนมาก ทาง CORFO และ Startup Chile จึงต้องการองค์ความรู้จากประเทศไทยเพื่อนำไปพัฒนาระบบนิเวศการลงทุน ของสาธารณรัฐชิลีอีกด้วย
ด้านนางศริกานต์ พลมณี เอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงซานติอาโก ประเทศชิลี กล่าวว่า นโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลไทยมุ่งหวังการพัฒนาประเทศสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ด้วยการผลิตและการบริการที่มีฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐบาลได้เอื้ออำนวยนักลงทุนต่างชาติผ่านสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการออก “สมาร์ทวีซ่า” ให้แก่ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคตในประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลก็ได้เล็งเห็นความสำคัญของบทบาทสตาร์ทอัพในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ส่งเสริมการพัฒนาสตาร์ทอัพผ่านการทำงานของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ สำหรับภูมิภาคละตินอเมริกา ชิลีเป็นประเทศที่มีศักยภาพและความโดดเด่นมากประเทศหนึ่ง ซึ่งชิลียังได้เข้าร่วมงานสตาร์ทอัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพ ประเทศไทย เป็นครั้งแรกในปีที่ผ่านมา จึงเป็นที่คาดหวังว่าความร่วมมือระหว่างไทยและชิลีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสตาร์ทอัพจะทำให้เกิดความเข้าใจศักยภาพที่ลึกซึ้ง และเชื่อมโยงผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศให้สามารถทำงานร่วมกันและสร้างความแข็งแกร่งของทั้งสองฝ่ายมากยิ่งขึ้น