นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) แจ้งว่าเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม ได้ประกาศผลชั้นที่สุดในการทบทวนอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนน้ำตาล ที่มีแหล่งกำเนิดจากไทย โดยอัตราอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) และอัตราอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยผลักดันการส่งออกน้ำตาล
เวียดนามเริ่มเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนสินค้าน้ำตาล ที่มีแหล่งกำเนิดจากไทยตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 โดยมีกำหนด 5 ปี เนื่องจากพบหลักฐานว่าน้ำตาลจากไทยมีพฤติกรรมทุ่มตลาด รวมถึงได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลไทย อันเป็นเหตุให้อุตสาหกรรมน้ำตาลของเวียดนามได้รับความเสียหาย
การเรียกเก็บอากร AD และ CVD ส่งผลให้น้ำตาลไทยที่ส่งออกไปเวียดนามต้องเผชิญภาระอากรรวมกันในอัตราที่สูงถึง 47.65% โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้ส่งออกได้มีการหารือ คต. ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาซึ่ง คต. ได้มีคำแนะนำให้ยื่นขอทบทวนอัตราอากร รวมถึงให้คำปรึกษาในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนมีหนังสือโต้แย้งร่างผลการทบทวน ส่งผลให้กลุ่มน้ำตาลมิตรผลได้รับการปรับลดอัตราอากร AD มาอยู่ที่ 32.75% และอากร CVD มาอยู่ที่ 0% สำหรับกลุ่มไทยรุ่งเรือง ได้รับการปรับลดอัตราอากร AD มาอยู่ที่ 25.73% ขณะที่อากร CVD ยังคงเดิมที่ 4.65 ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่ประกาศในร่างผลการทบทวน
คต. มั่นใจว่าการปรับลดอัตราอากร AD และ CVD สินค้าน้ำตาลจากไทยของเวียดนามในครั้งนี้เป็นปัจจัยส่งเสริมการส่งออกน้ำตาล ไทยมีการส่งออกน้ำตาลไปเวียดนามในปี 2565 อยู่ที่ 114,000 ตัน และใน 6 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 38,000 ตัน แม้จะคิดเป็นเพียง 1% ของปริมาณส่งออกรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าว หากแต่ เวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกน้ำตาลที่มีศักยภาพ โดยในปี 2563 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะมีการเรียกเก็บอากร AD และ CVD ปริมาณส่งออกน้ำตาลไปเวียดนามเคยไปแตะที่ระดับ 1.26 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 23.59 ของปริมาณส่งออกรวมของไทย ดังนั้น การที่กลุ่มน้ำตาลมิตรผลและกลุ่มไทยรุ่งเรืองได้รับการปรับลดอัตราอากร AD และ CVD ลงมาอย่างมีนัยสำคัญย่อมเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของไทยในตลาดเวียดนาม และเป็นผลบวกต่อการส่งออกน้ำตาลในภาพรวม
จากภาวะตึงตัวของอุปทานและการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันกลับมาใช้น้ำตาลซึ่งเป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติแทนสารแอสปาร์แตม ส่งผลให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก หากแต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่เกิดภาวะขาดแคลนตามที่มีการคาดการณ์ไว้ ผู้ผลิตน้ำตาลต่างเร่งส่งออกเพื่อระบายน้ำตาลสู่ตลาด ทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกลดต่ำลง ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ส่งออกน้ำตาลของไทยเผชิญแรงกดดันด้านราคา การลดลงของภาระอากร AD และ CVD ย่อมช่วยบรรเทาความเสียเปรียบในการแข่งขันของน้ำตาลไทยในตลาดเวียดนาม จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถขยายปริมาณส่งออกน้ำตาลไปตลาดเวียดนามได้อย่างแน่นอน นายรณรงค์ฯ กล่าวทิ้งท้าย