นายกฯ ลุยเชียงราย ตรวจโครงข่าย 5G นำร่องดอยผาหมีสู่ “เกษตรดิจิทัล”

นายกฯ ลุยเชียงราย ตรวจโครงข่าย 5G นำร่องดอยผาหมีสู่ “เกษตรดิจิทัล”

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าโครงการนำร่อง “เกษตรดิจิทัล” ด้วยเทคโนโลยี 5G Platform บน GDCC (ระบบคลาวด์กลางภาครัฐ) ที่ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ระบบสมาร์ทฟาร์มโรงเรือนอัจฉริยะ (Smart farming) และโครงการพืชมูลค่าสูง อาทิ แปลงผัก แปลงวานิลลา ต่อยอดผลผลิตโครงการดอยตุง พร้อมขับเคลื่อนเป้าหมายใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล สร้างประโยชน์ครอบคลุมทุกภาคส่วน ของไทย รวมถึงสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรและยกระดับชุมชน ที่มอบหมายให้กระทรวงดีอีเอส เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯ ได้ดำเนินการตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อน 5G แห่งชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เห็นชอบให้ดำเนินโครงการนำร่องการใช้ประโยชน์ 5G ของประเทศไทย ด้านการส่งเสริมเกษตรดิจิทัล ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยี Internet of Thing ในการควบคุมการเพาะปลูกอัตโนมัติ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพอย่างยั่งยืน

อุตสาหกรรมรถยนต์มือสองไทยปี 2566 ส่งสัญญาณเติบโตต่อเนื่อง

ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ณ ศูนย์ฝึกอบรมผาหมี จังหวัดเชียงราย โดยนําร่องปลูกพืชวานิลลา บนพื้นที่ไหล่เขาและชายขอบ รวมถึงการปลูกพืชในโรงเรือนแบบ EVAP (Evaporative Cooling System) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาการเกษตร ภายใต้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรดิจิทัลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างมิติใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการเพาะปลูก โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเกษตรกรรม ทั้งควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น การให้น้ำ ให้ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว ผ่านระบบมือถือ แทนการใช้แรงงานคน และการพยากรณ์อากาศแบบดั้งเดิม เพื่อให้ได้เพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และเกิดความแม่นยำ สามารถผลิตสินค้าออกมาได้ตรงความต้องการของผู้บริโภคและตลาดในปริมาณที่เหมาะสมพอดี

สำหรับศูนย์ฝึกอบรมผาหมี เป็นศูนย์การเรียนรู้ วิจัยและพัฒนาพืชมูลค่าสูง ทำแปลงสาธิตวานิลลา พืชตระกูลกล้วยไม้ (1 ใน 5 ผลผลิตที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก) ต่อยอดผลผลิตหลากหลายในโครงการดอยตุง หวังยกระดับพัฒนาเกษตรครบวงจรสร้างความยั่งยืนให้เกษตรกรและชุมชน อาทิ โกโก้ กัญชง พืชกลุ่ม Superfood เป็นต้น รวมถึงถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ ลดปัญหาความยากจน เพื่อสร้างทางเลือกในการประกอบอาชีพ

ทั้งนี้ โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี 5G ได้มีการพัฒนาและจัดการระบบการรดน้ำและติดตั้งอุปกรณ์ช่วยควบคุมดูแลการเพาะปลูก (IoT Controllers) และอุปกรณ์วัดสภาพแวดล้อมแปลงปลูก (IoT Sensors) ในบริเวณแปลงวานิลลา และโรงเรือน EVAP การติดตั้งอุปกรณ์กระจายสัญญาณ 5G และเทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) และพัฒนาซอฟต์แวร์สมาร์ทฟาร์ม และการเก็บบันทึกข้อมูล รวมทั้งการพัฒนาระบบ Cloud GDCC ให้รองรับการเชื่อมต่อเทคโนโลยี IoT Smart farm และจัดเก็บข้อมูล Big Data ภาคเกษตรของไทย พร้อมรองรับการขยายผลไปสู่เกษตรกรไทย และพืชทดลองชนิดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

Scroll to Top