หลังจากห่างหายไป 2 ปี งานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียได้กลับมาจัดที่กรุงเทพฯ ประเทศไทยอีกครั้ง ในวันที่ 14-18 พฤศจิกายน 2565 โดยสมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชีย และแปซิฟิก (APSA) ร่วมกับ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แห่งชาติ (สวทช.) และกรมวิชาการเกษตร ในฐานะคณะกรรมการการจัดงานประจำประเทศไทย
วิชัย เหล่าเจริญพรกุล ประธานคณะกรรมการ สมาคมเมล็ดพันธุ์พืชภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก และสมาชิกของ สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (APSA) กล่าวว่า APSA ก่อตั้งมากว่า 27 ปีแล้ว มีการจัดประชุมทุกปีโดยเวียนไปในแต่ละประเทศ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องงดการจัดงานไป สำหรับประเทศไทยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 7 ที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่ได้กลับมาจัดอีกครั้ง และงานในครั้งมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน จากกว่า 50 ประเทศ ทั่วโลก เข้ามาเจรจาทางการค้า และอีกส่วนหนึ่งเดินทางมาเพื่อเข้าประชุม เรื่องความท้าทายและปัญหาใหม่ๆ ในตลาดเมล็ดพันธุ์ จนไปถึงการหาวิธีแก้ไข

APSA เป็นสมาคมที่มีสมาชิกมากกว่า 50 ประเทศ ในเอเชียและแปซิฟิก จุดประสงค์หลัก คือการทำงานให้กับสมาชิก APSA มีสำนักงานในประเทศไทย ซึ่งหลายอย่างที่ทำมากกว่า 50% อยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางนำประเด็นในเรื่องของเมล็ดพันธุ์และความท้าทายเข้ามาพูดคุยกับหน่วยงานราชการ คุยกับกรมวิชาการเกษตรในแต่ละประเทศ หรือเชิญผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากทั่วโลก เข้ามาพูดคุยได้
“ที่ผ่านมาเราเชื่อว่าเธอทำได้ดี โดยเฉพาะในประเทศไทยเราได้การตอบรับในนโยบายจากภาครัฐที่เกิดประโยชน์กับประเทศไทย” วิชัย กล่าว
ไทย ศูนย์กลาง “เมล็ดพันธุ์เขตร้อน”
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ประเทศไทยนั้นมีความชำนาญในการผลิตเมล็ดพันธุ์ในเขตร้อน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของโลก มีเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางของการผลิตเมล็ดพันธุ์เขตร้อน โดยร่วมมือกับกรมวิชาการเกษตร ร่วมกันพัฒนาเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งออกระหว่างภาครัฐและเอกชน
ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ นายกสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย (THASTA) กล่าวว่า งานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียในครั้งนี้เป็นการตอกย้ำการร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะจากกรมวิชาการเกษตร และ สวทช. ที่ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าให้เป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ และเป็นผู้นำระดับโลกของ เมล็ดพันธุ์ในเขตร้อน

“การขับเคลื่อนครั้งนี้ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2557 ที่สมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์ไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร และ สวทช. ได้ร่วมกันลงนามในบันทึกข้อตกลงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในปี 2565 นี้ ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางของ เมล็ดพันธุ์เขตร้อน อย่างสง่างาม” ดร.บุญญานาถ กล่าวเสริม
–NIA รุกระดมทุน 7 ดีพเทคสตาร์ทอัพเกษตร พร้อมดันนวัตกรรมเกษตรไทยสู่ระดับโลก
สำหรับแผนต่อไปของ THASTA นั้นยังคงเดินหน้ารักษาแชมป์ต่อไป หลังจากบรรลุเป้าส่งออกเมล็ดพันธุ์ (ยกเว้นเมล็ดพันธุ์ข้าว) ที่ 10,000 ล้านบาท โดยในปีหน้า ตั้งเป้าส่งออกเมล็ดพันธุ์ไว้ที่ 15,000 ล้านบาท เพราะมีความมั่นใจในคุณภาพของการผลิตเมล็ดพันธุ์จากไทยที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าสูงกว่ามาตรฐานสากล และสูงกว่ามาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร
“เราเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก จึงต้องท้าทายตัวเองเพื่อให้ไปอยู่ในจุดที่สูงขึ้น” ดร.บุญญานาถ กล่าว
ดร.บุญญานาถ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเมล็ดพันธุ์ที่ส่งออกนั้น 80% มาจากประเทศไทย มาจากเกษตรกรไทย เกษตรกรไทยฝีมือดีมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ คนไทยมีวินัยและผลิตสินค้ามีคุณภาพ นอกจากนี้ดินฟ้าอากาศยังเหมาะสมกับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์เขตร้อน ประเด็นทั้งหลายทั้งปวงทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของเมล็ดพันธุ์พืชเขตร้อน และจะทำให้ผลิตภัณฑ์นี้อยู่กับคนไทย เงินจะไหลเข้ามาสู่เกษตรกรไทยมากที่สุด
รัฐร่วมสนับสนุนครบวงจร ดันเมล็ดพันธุ์ไทยเติบโต
การทำงานร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐนั้นมีความสำคัญมาก และประเทศจะเดินต่อไปได้นั้นต้องเกิดการผลักดันร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่ช่วยผลักดันในครั้งนี้คือ กรมวิชาการเกษตร ภายใต้การบริหารของ ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร

ระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวถึงการร่วมมือพัฒนาเมล็ดพันธุ์จากภาครัฐว่า การประชุมรัฐมนตรีเกษตรและอาหาร APEC เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับการประชุมด้านไบโอเทคโนโลยี ได้เน้นย้ำในเรื่องของการใช้นวัตกรรมกับการเกษตร ทั้งการปรับปรุงและวิจัยพันธุ์พืช รวมถึงประเด็นที่ท้าทายและโลกให้ความสำคัญคือความมั่นคงทางอาหาร
ซึ่งความร่วมมือนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน ล่าสุด กรมวิชาการเกษตรได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้การรับรองบริษัทที่มีความสามารถในการตรวจสอบ รับรองเมล็ดพันธุ์ เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจเมล็ดพันธุ์พืช ซึ่งการให้บทบาทภาคเอกชนหรือองค์กรต่างๆ รวมถึงภาคมหาวิทยาลัย จะช่วยผลักดันให้ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางรับรองเมล็ดพันธุ์ จะทำให้เกิดมูลค่าในการค้าขายเมล็ดพันธุ์พืช นอกจากนี้เกษตรกรรายย่อยในประเทศหรือในภูมิภาคของประเทศก็จะต้องได้รับประโยชน์ที่เท่าเทียมกันเช่นกัน
ด้านเทคโนโลยี กรมวิชาการเกษตรใช้เทคโนโลยีหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นชีวภัณฑ์ด้านการเกษตร หรือจุลินทรีย์ มาเคลือบเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ ก่อนปลูก ซึ่งจะทำให้พืชเหล่านี้มีความแข็งแรง เจริญงอกงามได้เร็ว เมื่อรากแข็งแรงและเจริญงอกงามได้ดี ก็ทำให้สุขภาพพืชแข็งแรง มีความทนทานต่อแมลงศัตรูพืชและสภาพภูมิอากาศดีขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในบทบาทของกรมวิชาการเกษตร
“เราเชื่อมั่นว่าเมื่อธุรกิจเมล็ดพันธุ์ของประเทศไทย ไปสู่ในระดับโลกได้ พี่น้องเกษตรกรก็จะได้ใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่มีคุณภาพสูง และสร้างรายได้กลับมาให้ประเทศไทย และส่งผลให้ทำยอดถึงเป้า 15,000 ล้านบาทได้ตามเป้าในปีหน้า” ระพีภัทร์ กล่าว
ด้าน สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เข้ามามีบทบาทช่วยพัฒนาคน และพัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงพันธุ์พืช

ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำานวยการ (ด้านบริหารการวิจัยและพัฒนา) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า หนึ่งในวาระสำคัญที่ สวทช. ปักหมุดไว้คือเรื่องอาหารและเกษตร แต่เนื่องจาก สวทช. เป็นศูนย์วิจัยที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ ไบโอเทคโนโลยี รวมไปถึงวัสดุศาสตร์ จึงพยายามนำความเชี่ยวชาญของทั้งหมดมาประกอบร่างกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา หรือนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ด้านอาหารและเกษตร ซึ่งเมล็ดพันธุ์นั้นเป็นหนึ่งในเรื่องของอาหารและเกษตร ที่ สวทช. พยายามนำปัญหาจากทางสมาคมหรือกรมวิชาการเกษตรเข้ามาแก้ โดยใช้ข้อมูลเชิงวิชาการสนับสนุนนโยบายให้ดีขึ้น รวมไปถึงให้สังคมได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้อง
“ในสมัยก่อนกว่าจะรู้ว่าต้นแข็งแรงหรือไม่ ติดโรคหรือไม่ จะใช้เวลานาน แต่ปัจจุบันเราใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งงานวิจัยมักยากขึ้น แต่ในมุมของนักวิจัยมันคือความท้าทาย เพราะจะต้องหาวิธีแก้ไขให้ได้” ดร.ศรัณย์ กล่าว
ด้าน ดร.บุญญานาถ กล่าวเสริมว่า ขณะที่ความยากอยู่ที่การป้องกันโรค จะทำอย่างไรให้โรคไม่เข้าไปในเมล็ด เป็นโจทย์ที่สมาคมฯ ให้ สวทช. เข้ามาช่วย ถึงแม้จะเป็นความท้าทาย แต่ก็อุ่นใจที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ นอกจากนี้การได้รับการสนับสนุนการขยายตัวของการรับรองห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบศัตรูพืชจากภาครัฐ ทำให้การส่งออกดีขึ้น เร็วขึ้น และต้นทุนลดลง
“การที่เรามีต้นน้ำที่แข็งแรง ประกอบกับเกษตรกรมีฝีมือ รวมถึงเทคโนโลยีการเกษตร เมื่อทุกอย่างมารวมกันจะทำให้เกิดความสมบูรณ์แบบของเมล็ดพันธุ์ บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทมาที่ประเทศไทย มาผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อส่งออกเพียงอย่างเดียว เพราะฝีมือคนไทยดี รวมถึงภูมิอากาศที่ปลูกได้เกือบทั้งปี ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวผลักดันให้อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ไทยมีความมั่นคงยั่งยืนทั้งระบบ” วิชัย กล่าวสรุป
สำหรับงานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชียในครั้งนี้ ถือเป็นการจัดประชุมธุรกิจครั้งที่ 7 ในประเทศไทย โดยที่ผ่านมา ได้จัดงานครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2537 โดยหลังจากนั้นการประชุมทางธุรกิจเมล็ดพันธุ์นี้ได้จัดขึ้นที่ กรุงเทพมหานคร อีกจำานวน 4 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2542, 2546, 2552 และ 2560 ตามลำาดับ และได้จัดประชุมที่ พัทยาใน พ.ศ. 2554
นอกจากประเทศไทยแล้ว ที่ผ่านมางานประชุมเมล็ดพันธุ์แห่งเอเชีย หรือ ASC ในอดีตได้จัด ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ (3 ครั้ง) กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย (2 ครั้ง) และในเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย เมืองเซี่ยงไฮ้ มาเก๊า เกาสง ประเทศจีน รัฐกัว กรุงนิวเดลลี บังกาลอร์ และไฮเดอราบัด ประเทศอินเดีย เมืองชิบะและ โกเบ ประเทศญี่ปุ่น กรุงจาการ์ตา และบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย กรุงโซลและอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี และเมือง โฮจิมินท์ ประเทศเวียดนาม