วัลยา จิราธิวัฒน์ ซีอีโอหญิงคนแรกของเซ็นทรัลพัฒนา กับพันธกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล

วัลยา จิราธิวัฒน์ ซีอีโอหญิงคนแรกของเซ็นทรัลพัฒนา กับพันธกิจทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล

จากประสบการณ์ทำงานทั้งหมดกว่า 36 ปี และ บริหารธุรกิจศูนย์การค้าเซ็นทรัลมากว่า 17 ปี โดยเป็นผู้บริหารที่พัฒนาโครงการต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นบุคคลสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้วงการรีเทลและอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังสร้างชื่อเสียงให้กับวงการรีเทลทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก

วัลยา จิราธิวัฒน์ เข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ในฐานะซีอีโอหญิงคนแรกของเซ็นทรัลพัฒนา และยังเป็นปีที่เซ็นทรัลพัฒนาดำเนินธุรกิจครบ 40 ปี

สำหรับพันธกิจหลักของซีอีโอหญิงท่านนี้คือ การผลักดันพนักงานในองค์กรเพื่อพาเซ็นทรัลพัฒนาสู่โลกดิจิทัล ตั้งทีม Business & Digital Transformation ด้วยเงินลงทุน 450 ล้านบาท เพื่อทรานส์ฟอร์มสู่การเป็น Omnichannel Platform เชื่อมโยงทุกธุรกิจในระบบนิเวศของเครือเซ็นทรัลพัฒนาเข้าด้วยกัน และเชื่อมโยงธุรกิจไปยังลูกค้า เป็นโมเดลแบบ B2B2C นอกจากนี้ยังวางแผนสร้างความยั่งยืนให้องค์กร (Sustainable Ecosystem) ภายในปี 2050 โดยจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในทุกๆ พื้นที่ การลดใช้พลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ให้ได้อีก 50% (อ่านข่าว เซ็นทรัลพัฒนา 40 ปี เดินหน้าสร้าง Sustainable Ecosystem ตั้งเป้าองค์กร Mixed-use Developer รายแรกสู่ Net Zero ปี 2050)

เมื่อถามถึงความท้าทายกับการรับตำแหน่งในฐานะซีอีโอหญิงคนแรก คุณวัลยา กล่าวกับ Biztalk ว่า ส่วนตัวไม่ได้มองว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย เพราะทำงานกับเซ็นทรัลพัฒนา มา 17 ปีแล้ว ซึ่งความท้าทาย คือ จะทำอย่างไรให้องค์กรดียิ่งขึ้น Empower ทีมให้ช่วยกันคิด พัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพและขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องได้

“นอกจากการสร้างทีม เรายังมองเรื่องการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัล การทรานส์ฟอร์มองค์กรให้เป็น Omnichannel Platform เราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว จะต้องอาศัยทีมงานเข้ามาช่วยกันคิดช่วยกันพัฒนา ซึ่งการมุ่งไปสู่ดิจิทัล มันเป็นไปตามยุคสมัย เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเข้าไปลงทุน และสร้างทีมขึ้นมา เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อผลักดันให้องค์กรเดินหน้าสู่ดิจิทัล”

ซึ่งการเดินหน้าสู่โลกดิจิทัลในครั้งนี้ เราอาจจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในปีนี้เพิ่มเติม เพราะก่อนหน้านี้ได้เห็นการนำ VR เข้ามาจัดแคมเปญอย่าง เซ็นทรัลพัฒนา เปิดแคมเปญ ‘Meta-Luck’ สักการะพระตรีมูรติผ่านร่างอวตารด้วยเทคโนโลยี VR เหมือนเป็นการทดลองเรียนรู้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ เก็บข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าใช้งาน เพื่อเตรียมนำศูนย์การค้าเข้าสู่โลก Metaverse ในเร็วๆ นี้ก็เป็นไปได้

อีกส่วนหนึ่ง คือ จะได้เห็นการรีแบรนด์โลโก้ของเซ็นทรัลพัฒนา ที่ดูแข็งแรงและมีเอกลักษณ์มากขึ้น สะท้อนอัตลักษณ์ Local Essence ของชุมชน มีความเป็น Art & Culture มากขึ้น เช่น เซ็นทรัล อยุธยา โลโก้ถูกออกแบบตัว A ให้คล้ายกับเจดีย์ เพื่อสื่อสารออกมาให้มีความเป็นตัวตนของจังหวัดพระนครศรีอยุธยามากขึ้น หรือ เซ็นทรัล หาดใหญ่ จะเป็นภาพทางรถไฟประกอบ

ด้าน แผน 5 ปี (2022-2026) บริษัทฯ ตั้งเป้าจะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์มากกว่า 30 จังหวัด ตั้งแต่ศูนย์การค้า 50 แห่ง ทั้งในและต่างประเทศ คอมมูนิตี้มอลล์ 16 แห่ง, โครงการที่พักอาศัย 68 แห่ง, อาคารสำนักงาน 13 แห่ง และโรงแรม 37 แห่ง

โดยมากกว่า 50% ของโครงการทั้งหมดจะเป็นรูปแบบมิกซ์ยูส โดยมีศูนย์การค้าเป็นหัวใจสำคัญ และมีออฟฟิศ หรือโรงแรมอยู่ในบริเวณศูนย์การค้า นอกจากนี้ยังมีแผนปั้นโรงแรมแบรนด์ใหม่อีกด้วย

สำหรับในปีนี้ ทางเซ็นทรัลพัฒนา ได้เปิดพื้นที่เฟส 2 ของเซ็นทรัล วิลเลจ และมีแผนจะเปิด เซ็นทรัล จันทบุรี รวมถึงโซนใหม่ของเซ็นทรัลเวิลด์ ในพื้นที่เดิมของอิเซตัน

“ขอให้มั่นใจว่าเรายังดูแล ศึกษา และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง 40 ปี ที่ผ่านมาไม่ว่าจะผ่านกี่วิกฤติ บางช่วงอาจจะชะลอบ้างหรือช้าไปบ้าง แต่เซ็นทรัลไม่เคยหยุดพัฒนา” วัลยา จิราธิวัฒน์ กล่าว

Scroll to Top