กนง. ลดดอกเบี้ยรอบ 4 ปี สัญญาณเตือนเศรษฐกิจถึงจุดเสี่ยง
ถือเป็นเรื่องที่สร้างความแปลกใจ ชนิดหักปากกาเซียนอย่างมาก เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ตัดสินใจ ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 % จาก 1.75 % สู่ระดับ 1.50 % ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง
.
นั่นเพราะก่อนการณ์ประชุม กนง. นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างคาดการณ์กันว่า การประชุม กนง.ในครั้งนี้ น่าจะมีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ เนื่องจากกรอบนโยบายการเงิน ด้านอัตราดอกเบี้ย โดยแบงก์ชาติ ที่ผ่านมา มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมาย ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากผู้ส่งออกให้ดำเนินการลดดอกเบี้ย จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างหนัก
.
อีกทั้งหลายสำนักวิเคราะห์ ต่างคาดว่า แบงก์ชาติน่าจะเลือกใช้ดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือสุดท้าย ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากระดับดอกเบี้ยนโยบายของไทย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ถือว่ายังต่ำกว่ามาก เรียกได้ว่าเก็บกระสุนไว้ เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ !!!
.
ดังนั้นการที่แบงก์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน เลือกที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงในครั้งนี้ ย่อมหมายถึงการยอมรับกลายๆ แล้วว่า เศรษฐกิจไทย มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ จริง ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกที่ สุ่มเสี่ยงต่อการหดตัว จากผลพวงของสงครามการค้า ที่กำลังจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นสงครามค่าเงิน ภายหลังการโต้ตอบกันไปมาของทั้ง 2 ชาติ สหรัฐ-จีน
.
ไหนจะเศรษฐกิจในประเทศที่ต้องลุ้นกันหนัก กับมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐว่าจะกระตุกความเชื่อมั่นให้ฟื้นคืนมาได้ขนาดไหน ซึ่งแบงก์ชาติน่าจะประเมินแล้วว่าอาจไม่เพียงพอ จึงนำมาสู่การตัดสินใจในครั้งนี้
.
มุมมองของนักวิเคราะห์เองก็เซอร์ไพร์ส ต่อการตัดสินใจของ กนง. ในครั้งนี้ นำโดย ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ที่ยอมรับว่า เคยคาดว่า กนง.จะลดดอกเบี้ยปลายปี ซึ่งการที่ กนง. ลดดอกเบี้ยอย่างเหนือคาดในครั้งนี้ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก นั่นคือ แบงก์ชาติ…
.
1. ไม่ทนต่อเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าคาด
2. ไม่ทนต่อเงินเฟ้อต่ำ เพราะเงินเฟ้อเดือนล่าสุดหลุดกรอบล่างที่ 1 % อีกแล้ว 3. ไม่ทนต่อไปแล้วสำหรับบาทที่แข็งค่า
.
ดร.อมรเทพ ยังเชื่อว่า แบงก์ชาติยังมีโอกาสลดดอกเบี้ยต่อ เพราะเมื่อเปิดประตูดอกเบี้ยขาลงแล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะลดต่อ โดยน่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยหาก จีดีพีไตรมาส 2 ที่จะรายงานกลางเดือนนี้ ออกมาแย่ เป็นไปได้ที่กนง.จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งกันยายนนี้ หรืออาจจะรอต่อไป คือรอจีดีพีไตรมาส 3 ที่จะรายงานในเดือนพ.ย.แล้วลดดอกเบี้ยอีกครั้งเดือนธันวาคมก็ยังไม่สาย
.
ขณะที่นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ ทิสโก้ ยอมรับว่า การลดดอกเบี้ยครั้งนี้เหนือคาดจริง ซึ่งเป็นการสะท้อนความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทย แต่ก็เชื่อว่า กนง .จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงติดกันต่อเนื่อง และน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ไปจนสิ้นปี 2562
.
เนื่องจากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ น่าจะสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุด เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตซับไพร์ม ที่ระดับ 1.25 % ซึ่งเศรษฐกิจไทยหดตัว 0.7% ในปี 2552 แต่สถานการณ์เศรษฐกิจที่อ่อนแอลงในปัจจุบัน น่าจะยังไม่รุนแรงเทียบเท่ากับเหตุการณ์ในวิกฤตครั้งก่อน
.
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ปัจจัยที่ต้องติดตาม สำหรับทิศทางดอกเบี้ยระยะต่อไป คือ การตอบสนองของระบบเศรษฐกิจในภาคส่วนต่างๆ ต่อการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ และปัจจัยลบ ต่างๆ ทั้งความตึงเครียดของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
.
ทั้งหมดนี้คือสัญญาณที่บอกเราได้ ถึงความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย ที่มีเพิ่มขึ้น จนถึงขั้นทำให้แบงก์ชาติ ต้องออกอาวุธ ชนิดไม่ทันตั้งตัว