ถอดรหัสเส้นทางแห่งความสำเร็จของ “ยุภา ลีวงศ์เจริญ” CFO หญิงกับบทบาท “ลมใต้ปีก” พิชิตฝันผู้นำ Telecom-Tech Company ของภูมิภาค

ถอดรหัสเส้นทางแห่งความสำเร็จของ “ยุภา ลีวงศ์เจริญ” CFO หญิงกับบทบาท “ลมใต้ปีก” พิชิตฝันผู้นำ Telecom-Tech Company ของภูมิภาค

รู้หรือไม่ “ไทย” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วน CFO เป็นผู้หญิงมากที่สุดในโลก คิดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกที่ 43% ซึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวคือ ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ในเดือนแห่งวันสตรีสากล 2567 นี้ True Blog ได้มีโอกาสพุดคุยกับผู้บริหารหญิงแกร่ง ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการพิชิตเป้าหมาย Telecom-Tech Company ของทรู คอร์ปอเรชั่น ผ่านมิติทางการเงินและทุน แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้นั้น ยุภาผ่านร้อนผ่านหนาวมานับไม่ถ้วน ทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน

อะไรคือแรงผลักดันให้เธอก้าวข้ามแรงกดดัน ยืนหยัดนำองค์กรแสนล้านพลิกสู่เป้าหมายทางการเงินได้เร็วกว่ากำหนด มาร่วมถอดรหัสผ่านเรื่องราวของเธอได้ที่นี่

โอกาสที่เสียไปจากความเป็นผู้หญิง

ยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) โลดแล่นอยู่บนเส้นทางทางการเงินตั้งแต่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เธอมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดระยอง ต่อมาย้ายชีวิตเข้าเมืองหลวงเพื่อเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่ดีกว่าในระดับมัธยมศึกษา เมื่อชีวิตเดินถึงทางแยกเพื่อเลือกเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ขณะนั้น แนวคิดด้านอาชีพและการค้นหาตัวเองในสังคมไทยยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน และจำกัดเพียงไม่กี่อาชีพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิศวกร ทำให้ผู้เข้าสอบส่วนใหญ่ยึดเกณฑ์ความมั่นคงในหน้าที่การงานและระดับคะแนนของตัวเองเป็นหลัก

“จริงๆ พี่เป็นเด็กสายวิทย์ ชอบคณิตศาสตร์ แต่เลือกเรียนบัญชีตามค่านิยมของสังคมเพราะ ‘เขาบอกกันว่า’ หางานง่าย แต่ในความเป็นจริงคณิตศาสตร์ทางบัญชีต่างจากคณิตศาสตร์บริสุทธิ์มากเลย” ยุภาเล่าถึงประสบการณ์ในวัยเยาว์

เมื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากธรรมศาสตร์ เธอมีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ต่างประเทศ เพราะอยากกลับมาเป็นอาจารย์ แต่ด้วยความเป็น “ลูกสาว” การเดินทางไปต่างบ้านต่างเมืองเพียงลำพังเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง และขณะนั้นการสื่อสารยังไม่สะดวกสบายเหมือนดังเช่นปัจจุบัน ช่องทางในการสื่อสารหลักยังคงเป็น “จดหมาย” ด้วยความเป็นห่วงลูกสาวของพ่อแม่ จึงรั้งให้เรียนในประเทศไปพลาง โดยต่อมาเธอเรียนจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)

“ความแตกต่างของการเป็นลูกผู้หญิงกับลูกผู้ชายในสมัยก่อนชัดเจนมาก ถ้าเป็นผู้ชาย ที่บ้านพร้อมสนับสนุนเต็มที่ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีเพื่อนหรือบัดดี้ไปด้วย ซึ่งพี่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะความเป็นห่วงเป็นใยของพ่อแม่เรา ในทางกลับกัน ผู้หญิงเราก็เสียโอกาสอย่างง่ายดาย แม้เราจะมีความสามารถ มหาวิทยาลัยเลือกเราไปเรียนก็ตาม” ผู้บริหารหญิงสะท้อนกรอบทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงในอดีต

ฝ่าฟันวิกฤต (การเงิน)

เมื่อยุภาเก็บเกี่ยวความรู้เต็มตำรา ก็ถึงเวลาเข้าสู่ “สนามการทำงาน” โดยเริ่มทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นแห่งแรก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย CFO ดูแลในส่วนของการบัญชีบริหาร (Managerial Accounting) แม้เธอจะเข้าสู่สนามการทำงานอย่างเต็มตัว เเต่เธอก็ยังไม่ทิ้งความฝันในการไปเรียนต่อ ยังคงเตรียมตัวเพื่อสานฝันต่อ ในระหว่างนั้น องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ปัจจุบัน ควบรวมกับ CAT Telecom เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)) กำลังเปิดรับพนักงาน ด้วยความที่ตั้งอยู่ละแวกเดียวกันในย่านเพลินจิต เธอจึงสมัครเข้าทำงานในส่วนงาน Corporate Planning โดยรับผิดชอบด้านกลยุทธ์การเงินของบริษัท ครอบคลุมตั้งแต่การลงทุน การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

ในช่วงปี 2535-2539 ถือเป็นยุคเฟื่องฟูของธุรกิจโทรคมนาคมไทย รัฐบาลเปิดสัมปทานให้เอกชนมาลงทุนด้านโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ และที่นี่เอง ทำให้ยุภาพบกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้บุกเบิกธุรกิจสื่อสารของเครือซีพีภายใต้บริษัท เทเลคอมเอเชีย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้รับสัมปทานจำนวน 2.2 ล้านเลขหมายจากองค์การฯ

“พี่ยังจำได้เลยวันที่พี่นั่งตรงข้ามคุณศุภชัย ร่วมเจรจาข้อสัญญาสัมปทานระหว่างทั้งสองฝ่าย และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พี่มาทำงานกับกลุ่มทรู ในภายหลัง” ยุภา กล่าว

งานแรกที่ได้รับมอบหมายคือที่ UTV ธุรกิจโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกผ่านสายเคเบิล ที่ถือเป็นการปฏิวัติการรับชมโทรทัศน์มีความชัดเจนพร้อมกับคอนเทนท์พิเศษที่มากกว่า โดยขณะนั้นคู่แข่งที่สำคัญอีกรายคือ IBC การแข่งขันทางธุรกิจดำเนินมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งไทยเผชิญกับ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” เมื่อปี 2540 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ทั้งสองบริษัทอยู่ในภาวะแทบล้มละลาย ต้นทุนด้านคอนเทนท์ที่ซื้อจากต่างประเทศมาสูงขึ้นเป็น “เท่าตัว” ทำให้ทั้ง IBC และ UTV จำเป็นต้องควบรวมกิจการกันเป็น UBC โดยแยกออกมาเป็นนิติบุคคล มีทรูฯ และ MIH บริษัทสื่อรายใหญ่สัญชาติแอฟริกาใต้ถือหุ้นใหญ่

เบื้องหลังความไว้วางใจ

ยุภา ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งหญิงแกร่งที่ยืนหยัดอย่างท้าทาย ผ่านมาหลากวิกฤตหลายสถานการณ์ ร่วมหัวจมท้ายจนได้รับ “ความไว้วางใจ” จากคณะกรรมการบริษัทให้กุมบังเหียนดูแลด้านการเงินในตำแหน่ง CFO ทั้งที่ TrueVisions, True Move, True Online และกลุ่มทรู เป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนควบรวมกิจการ โดยปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น

อะไรที่ทำให้ยุภาได้รับความไว้วางใจให้ดูแลสินทรัพย์มูลค่านับแสนล้าน True Blog ถาม? เธอครุ่นคิดอยู่สักครู่ก่อนตอบว่า “สมัยที่ทำ UBC ที่นั่นความหลากหลายทั้งเชื้อชาติและภาษา ทั้งแอฟริกัน ดัช อังกฤษ กรีซ ตอนนั้นพี่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ Deputy CFO พี่ถามนายพี่ที่เป็นชาวกรีซว่า ทำไมถึงเลือกพี่ เขาตอบว่า เพราะพี่ทุ่มเทเพื่อประโยชน์ขององค์กรอย่างเต็มที่ก่อนคิดถึงตัวเองเสมอ ไม่ว่างานนั้นจะท้าทายและยากขนาดไหนก็ตาม”

แม้โดยธรรมชาติ ความเป็นผู้หญิงจะเผชิญกับข้อจำกัดทั้งทางร่างกายและจิตใจอยู่บ้าง และบางครั้งก็สร้างประสบการณ์ที่ไม่ดี ยุภาเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่ง ขณะนั้นเธอเดินทางไปประชุมกับคู่ค้ารายหนึ่ง ด้วยความที่อายุน้อยบวกกับความเป็นผู้หญิง ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจของฝั่งคู่ค้าคิดว่าเธอทำหน้าที่ติดตาม จนแสดงกิริยาอาการที่ไม่ให้เกียรติผู้หญิงเท่าที่ควร รู้สึกได้ถึงการถูกคุกคามทางเพศ

Stepping Stone

อย่างไรก็ตาม ยุภายังคงยืนยันว่า ความเป็นผู้หญิงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ผู้หญิงสามารถเปลี่ยนความเป็นผู้หญิงมาเป็นจุดแข็ง ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเพศ ผ่านการค้นหาและวางเป้าหมายของชีวิต มองภาพใหญ่ คิดเป็นองค์รวม เพื่อให้เห็นตัวเองในอนาคต

“ผู้นำหญิงต้องใช้ soft power ให้เป็นความได้เปรียบ เปลี่ยนความละเอียดให้เป็นความรอบคอบ แต่ต้องมองภาพใหญ่เป็นองค์รวมก่อน จัดลำดับความสำคัญแล้วค่อยลงรายละเอียดเฉพาะเรื่องที่สำคัญเท่านั้น” นักบริหารหญิงอธิบาย

ยกตัวอย่างกรณีวางแผนการเงิน ความผิดพลาดต้องเป็น “ศูนย์” นักการเงินจึงต้องมองไปข้างหน้าและวางแผนล่วงหน้า พิจารณาปัจจัยแวดล้อม ควบคู่กับเศรษฐกิจมหภาค และที่สำคัญเราต้องมีแผนสำรองเสมอ ซึ่งตอนนี้เราเตรียมตัวเพื่อปีหน้าแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีของ ทรู คอร์ปอเรชั่น ก่อนการควบรวมเราลงทุนค่อนข้างมากเพื่อขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพทำให้เรามีหนี้ค่อนข้างสูง รวมทั้งสิ้น 3.7 แสนล้านบาท มีความจำเป็นในการรีไฟแนนซ์ปีละหลายหมื่นล้านบาท โดยต้องพิจารณาถึงแหล่งเงินทุน และอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม บาลานซ์ให้เกิดความสมดุลทั้งผู้กู้และนักลงทุน ทั้งนี้เรายึดมั่นในความรับผิดชอบสูงสุดให้สมกับที่ผู้ให้กู้และนักลงทุนไว้วางใจเรา

เช่นเดียวกับกรณีการควบรวมกิจการของทรู คอร์ปอเรชั่น ดีลนี้เป็นหนึ่งในดีลที่มีมูลค่ามากที่สุดในภูมิภาค ต้องอาศัยการตัดสินใจทางการเงินอย่างแน่วแน่ภายใต้เงื่อนเวลาที่จำกัด แน่นอน…อาจมีบางช่วงที่ดีลอาจไปต่อไม่ได้ แต่การมีเจ้านายที่ดี ให้กำลังใจพร้อมสนับสนุนไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ก็ทำให้เราก้าวต่อไปข้างหน้าได้

“ในฐานะ CFO เราบริหารเงินเยอะ บริหารความเสี่ยง เป็นความรับผิดชอบสูงสุดซึ่งพลาดไม่ได้ กำลังใจจากเจ้านาย โทรมาขอบคุณ ชื่นชมในความทุ่มเทเวลาทำงานใหญ่สำเร็จ แค่นี้ก็ทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แม้ต้องรับงานหนักก็ตาม” ยุภา เผยความในใจ

เธอฝากข้อคิดแก่ผู้หญิงที่ต้องการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานว่า “ถนนไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้องบาลานซ์การงานและชีวิตส่วนตัวให้ดี การทำงานย่อมจะมีความคิดเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่ถ้าทุกการตัดสินใจทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม-องค์กร อย่างอื่นก็เป็นเรื่องเล็กหมด และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรเราต้องยอมรับและแก้กันไป ยิ่งงานท้าทายและอุปสรรคมากเท่าไหร่ สิ่งนั้นจะเป็น Stepping Stone ที่ทำให้เราแกร่งขึ้น เติบโตขึ้น และรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่มองกลับมา”

fintips by ttb พาสำรวจ 7 อันดับหนี้ของคนไทยพร้อมแผนรับมือที่ทำตามได้จริง

Scroll to Top