CCO หรือ Chief Communication Officer เป็นอีกหนึ่งตำแหน่งสำคัญของหลายๆ องค์กร ในระดับที่จะคอยชี้เป็นชี้ตายกับการสร้างแบรนด์ให้ไปต่อได้ในระยะยาว และแน่นอนว่าบอสใหญ่ในสายนี้ ไม่ได้มีหน้าที่แค่ PR หรือคนที่คอยทำข่าวประชาสัมพันธ์ หรือสื่อสารไปยังลูกค้า หรือมีคุณสมบัติแค่เล่นโซเชียลเป็น
แน่นอนว่า คนที่เล่นโซเชียลเป็น เข้าใจโซเชียล อาจจะได้เปรียบในด้านการสื่อสาร แต่กับ CCO ในชีวิตจริงแล้วนั้น มีคุณสมบัติที่สำคัญมากกว่าอีกหลายข้อ
กำหนดทิศทางการทำประชาสัมพันธ์
หนึ่งในหน้าที่หลักของบอสฝ่ายสื่อสารองค์กร คือ การกำหนดกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ ด้วยทักษะที่สามารถสื่อสารวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ได้อย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การเลือกช่องทางการสื่อสาร กำหนดกลยุทธ์การเขียนข่าวประชาสัมพันธ์ไปสู่สื่อมวลชน และส่งตรงไปถึงผู้บริโภค
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่เป็นบอสฝ่ายสื่อสารองค์กร ยังเป็นผู้ที่จะต้องประสานงานกับหน่วยงาน เครือข่ายต่างๆ ทั้งในและนอกองค์กร เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ต้องการสื่อไปในทิศทางเดียวกันอีกด้วย
และส่วนสุดท้าย คือการรักษาภาพลักษณ์องค์กร และรักษาวัฒนธรรมองค์กรให้ดูดีอยู่เสมอทั้งในสายตาจากคนภายนอกและภายใน
เข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง
ทั้งกับภาพรวมของอุตสาหกรรมและสถานการณ์ของตลาด เพื่อให้องค์กรสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ๆ หรือแนวทางการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพได้อยู่เสมอ
นอกจากนี้ยังต้อง พัฒนาช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เช่น หากมีแพลตฟอร์มเกิดใหม่ที่มีโอกาสที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายไปรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ก็จะต้องเป็นคนที่เข้าใจและออกกลยุทธ์การสื่อสารในช่องทางใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ไม่เพียงแค่สื่อสาร แต่ยังต้องแก้วิกฤติด้วย
อีกบทบาทที่สำคัญมากๆ ของคนที่นั่งในตำแหน่ง CCO คือ การบริหารจัดการวิกฤติขององค์กร โดยเฉพาะเวลาที่จะต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ต้องออกมาปกป้ององค์กร โดยเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับการสื่อสารด้วยความยืดหยุ่น เช่น บางสถานการณ์อาจจะเลือกสื่อสารในเชิงรุก หรือบางสถานการณ์อาจจะใช้คำที่ประนีประนอมกับทุกฝ่าย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับธุรกิจ และเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ขององค์กร
ภาพประกอบจาก freepik
–กางโร้ดแมป LINE เพื่อภาคธุรกิจไทย ต่อยอดการใช้ “ดาต้า” รับมือสภาวะความไม่แน่นอนในอนาคต