Article & Review

Connect the Disconnected: จากคนชายขอบสู่เจ้าของโฮมสเตย์ ชีวิตเปลี่ยนผันของ “ชาวเกาะนกเภา” กับวันที่เข้าถึงสัญญาณทรู

ประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลกมาช้านาน โดยเฉพาะความงามของท้องทะเลที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้มาสัมผัสด้วยตาตัวเอง ส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยถึง 18%

มากไปกว่าความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ด้วยลักษณะพหุวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทย ยังคงรอคอยให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาสัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังเช่น “เกาะนกเภา” หนึ่งในบริวารของเมืองร้อยเกาะหรือ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกมากมาย อย่างเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า

ชีวิตติดเกาะ

เกาะนกเภา ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี  โดยมีเรื่องเล่าว่า “ตานิลและยายแจ่ม” 2 สามีภรรยาชาวไทยเชื้อสายจีน ดั้นด้นพายเรือจากเกาะสมุยมาบุกเบิกที่เกาะไร้นามแห่งนี้ เมื่อช่วงปี พ.ศ.2475 จนได้รับเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินทำกิน ต่อมาจึงชักชวนวงศาคณาญาติมาอยู่มาตั้งรกราก จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลา 3 ชั่วอายุคน จนมีผู้อยู่อาศัยบนเกาะแตะหลักร้อยคนในปัจจุบัน

จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะเป็นเกาะ ห่างจากชายฝั่งท่าเรือดอนสักราว 8 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาทีด้วยเรือหางยาว นั่นทำให้การเดินทางขึ้นฝั่งหรือไปมาหาสู่ระหว่างเกาะเป็นเรื่องที่ “จำเป็น” เท่านั้น เพราะการเดินทางแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 1,000 บาทสำหรับค่าน้ำมัน

ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของชาวเกาะจึงค่อนข้างอยู่กันอย่างสันโดษ หรือในบางกรณีก็มีลักษณะ “ไกลปืนเที่ยง” ไปเลย ดังเช่น สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอย่างไฟฟ้าที่ยังคงเข้าถึงอย่าง “จำกัด” มีเพียงเครื่องปั่นไฟของรัฐเป็นแหล่งพลังงาน โดยให้บริการเพียง 5 ชั่วโมงต่อวัน เวลา 6 โมงเย็นถึง 5 ทุ่มของทุกวัน ขณะที่บริการการสื่อสารยังคงต้องพึ่งพิงสัญญาณจากสถานีฐานบริเวณใกล้เคียง ทำให้คุณภาพและโอกาสในการดำเนินชีวิตมีอยู่อย่างจำกัด

ทั้งนี้ ชาวบ้านบนเกาะนกเภายึดการทำประมงพื้นบ้านในการหาเลี้ยงชีพ ควบคู่กับการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ซึ่งหากพูดถึงรายได้แล้ว จัดอยู่ในขั้น “พออยู่พอกิน” สามารถหาเงินมาจุนเจือครอบครัว ส่งลูกส่งหลานให้เข้าถึงการศึกษาจบปริญญาตรีได้  เช่นเดียวกับ เสธ – สุธร เจนสมุทร ชาวบ้านและเขยหนุ่มของเกาะนกเภาที่ย้ายเข้ามาสร้างครอบครัวตามภรรยาเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

“ชาวบ้านแถวนี้ ทั้งฝั่งดอนสักและชาวเกาะ ส่วนมากทำประมงเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกันทั้งนั้น อย่างผมเองเรียกได้ว่าเติบโตมากับทะเล แต่ช่วงที่ย้ายมาแรกๆ หลังจากตกลงปลงใจสร้างครอบครัวกับภรรยาที่อาศัยที่เกาะนกเภาอยู่แล้ว ตอนนั้นก็ต้องปรับตัวหนักเหมือนกัน เพราะบนเกาะมันเงียบมาก ไม่มีสิ่งที่สร้างความบันเทิงเลย แต่ละวันก็ออกทะเลหากุ้ง หอย ปู ปลา แล้วก็ไปขายให้แม่ค้าที่ฝั่งดอนสัก” เสธ เล่าถึงวิถีชีวิตชาวเกาะ

จากประมงสู่ท่องเที่ยว

เสธใช้ชีวิตแบบหนุ่มชาวเลมาหลายสิบปี ออกทะเลหาปลาทุกวัน จนช่วงปี 2557 ญาติพี่น้องเขาที่อาศัยอยู่บนเกาะใกล้เคียงเหมาเรือมาถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ และนั่น จึงทำให้คนภายนอกได้พบกับ “ความงามอันเป็นเอกลักษณ์” ของเกาะนกเภา ที่เกาะบริเวณใกล้เคียงแห่งอื่นไม่สามารถให้ได้ นั่นคือ ความเงียบสงบ และความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติที่ยังคงไว้ซึ่งความดั้งเดิม ซึ่งหากโชคดีพอ จะสังเกตเห็นปลาโลมาสีชมพูและพะยูนว่ายน้ำหากินบริเวณรอบเกาะ

เมื่อเห็นดังนั้น เขาจึงได้เอ่ยกับเสธถึงศักยภาพของการนำจุดแข็งนี้มาต่อยอดสู่การท่องเที่ยวอย่างธุรกิจโฮมสเตย์ ซึ่งสอดคล้องกับความในใจของเสธในขณะนั้น ที่กำลังครุ่นคิดถึง “การกระจายความเสี่ยง” ของแหล่งรายได้ ที่เดิมทีขึ้นกับฟ้าฝนและคลื่นลมของทะเลเพียงอย่างเดียว

“ทั้งชีวิตผมเกิดและโตมากับทะเล เกือบตายก็เพราะทะเล ไม่เคยคิดเลยจะเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว” เสธ กล่าว หลังจากความรู้สึกเบื่อหน่ายก่อตัวขึ้น ปัจจัยทางธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ กอปรกับบทสนทนาในวันนั้น เสธใช้เวลาไตร่ตรองอยู่ 7 วัน ตัดสินใจนำเงินเก็บทั้งหมด 700,000 บาท เทหมดหน้าตักมาทำเป็นทุนตั้งต้นสำหรับธุรกิจ “โฮมสเตย์”

เมื่อ 10 ปีที่แล้ว การประกอบธุรกิจโฮมสเตย์บนเกาะเช่นนี้ ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ทั้งการเดินทางที่เป็นอุปสรรค ไม่มีเรือขนส่งสาธารณะ การสร้างการรับรู้เป็นเรื่องยากและลงทุนสูง ในขณะที่โซเชียลมีเดียยังอยู่ในระยะตั้งไข่ จนเพื่อนฝูงคนรู้จักต่างทักท้วงถึงความเป็นไปได้ที่อยู่ไกลลิบ แต่กระนั้น เสธก็ยังคงเดินหน้าก่อสร้างที่พักด้วยตัวเอง ทุ่มสรรพกำลังทั้งแรงกายและแรงใจจนเสร็จสิ้นเป็น “เกาะนกเภาโฮมสเตย์” ที่พร้อมต้อนรับแขกผู้มาเยือน พร้อมกันนั้น เสธได้ศึกษาเรียนรู้ทักษะการสร้างคอนเทนท์จากพี่สาวของภรรยาที่พอมีความรู้ด้านนี้บ้าง สร้างเพจเฟซบุ๊ก ลงคอนเทนท์แนะนำเกาะนกเภา ซี่งไม่นานนัก ก็มีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ จำนวน 16 คนติดต่อเข้ามา  โดยพวกเขาให้ความสนใจจากความแปลกใหม่ของเกาะ

ค่าเสียโอกาสจากการตัดขาด

เสธ รับหน้าที่ไกด์นำเที่ยว คนดูแลความเรียบร้อย กัปตันเรือ เรียกว่าทำเกือบทุกอย่างที่ทำได้ ส่วนภรรยารับบทแม่ครัวใหญ่ ประกอบอาหาร 4 มื้อ ให้แขกเหรื่อได้สัมผัสกับความสดของอาหารทะเลและความจัดจ้านของอาหารใต้ โดยมีไฮไลท์เป็น “หอยม่วง” ย่างเนย ที่หาทานได้ยาก จนสร้างความประทับใจและเปลี่ยนแผนอยู่ต่ออีก 1 คืน ทำให้เสธมีกำลังใจที่เดินหน้าสู่ธุรกิจท่องเที่ยวต่อไป ทั้งยังปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้มาเยือนเก็บเกี่ยวความประทับใจของเกาะนกเภากลับไปในความทรงจำ

“แพเปียก” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมนันทนาการที่เสธคิดค้นขึ้น เพื่อส่งมอบความบันเทิงและความสนุกสนานแก่นักท่องเที่ยว เป็นเครื่องเล่นที่ประดิษฐ์ขึ้นจากแผ่นโฟมแผ่นใหญ่หลากสีนับสิบแผ่น เชื่อมต่อกันและผูกเป็นมือจับด้วยเชือกไนล่อน จนมีลักษณะเป็นแพ เมื่อผู้เล่นประจำที่พร้อมสวมเสื้อชูชีพเป็นที่เรียบร้อย เรือยนต์จะทำการลากแพ พาผู้เล่นชมวิวทิวทัศน์ความงามของตามจุดไฮไลท์ต่างๆ ของเกาะโดยรอบ เช่น หาดล่องหน พื้นผิวหาดล้วนปกคลุมไปด้วยเปลือกหอยสีขาวทั้งสิ้น จุดชมพระอาทิตย์ตกดิน  ถ้ำนกนางแอ่นที่สามารถเทรคขึ้นไปได้ เป็นต้น

แม้กิจการโฮมสเตย์ของเสธจะไปได้ดี ชีวิตความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น ทว่า…ความห่างไกลเจริญ ซึ่งหมายรวมถึงการเข้าถึงบริการการสื่อสารอย่างสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์อย่างจำกัด ทำให้เกิด “ค่าเสียโอกาส” จำนวนมาก

“เมื่อก่อน ชาวเกาะนกเภามีสถานะเหมือนคนชายขอบ เวลาจะติดต่อสื่อสารกับคนข้างนอกที ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปที่หัวเกาะ เพราะตรงนั้นเป็นจุดเดียวที่สามารถรับสัญญาณโทรศัพท์จากสถานีฐานที่ตั้่งอยู่บนเกาะอื่นได้ นั่นทำให้เวลาลูกค้าติดต่อมา เราก็ไม่ได้รับการแจ้งเตือน พอโทรกลับ เขาก็ไปจองที่อื่นแล้ว หรือเวลาที่ลูกค้าคิดว่าจะมาเที่ยวที่นี่ดีไหม พอรู้ว่าไม่มีสัญญาณมือถือ พวงเขาก็หนีกันหมด” เสธ กล่าว

ชีวิตดีๆ เพียงมีอินเทอร์เน็ต

วันหนึ่ง ขณะที่เสธทำหน้าที่คนเรือพานักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งจากกรุงเทพฯ ไปออกทะเลบริเวณเกาะสมุย เขาก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รูปร่างแปลกตาออกมา ทำท่าทางประหนึ่งกำลังทดสอบสัญญาณ เสธจึงตัดสินใจถามเพื่อคลายความสงสัย ปรากฏเขาคือผู้บริหารระดับสูงของทรู เสธจึงบอกเล่าความยากลำบากจากการเข้าไม่ถึงบริการการสื่อสาร จากนั้น ทั้งสองจึงได้พูดคุยกันในรายละเอียด ซึ่งเสธยังแอบชั่งใจถึงความเป็นไปได้ที่จะมีเสาสัญญาณมือถือบนเกาะนกเภาที่มีประชากรอยู่อาศัยเพียง 100 คน

ผ่านไป 3 เดือน ทีมงานทรูนับสิบได้เดินทางมายังเกาะนกเภา เพื่อสำรวจเตรียมพื้นที่ติดตั้งสถานีฐาน ในเวลานั้น เสธเองก็ยังไม่เชื่อสายตาตัวเอง จนได้รับการยืนยันจากทีมงานฯ ถึงการตั้งเสาสัญญาณมือถือเพื่อให้บริการแก่ชาวเกาะนกเภา ซึ่งทั้งเสธและชาวบ้านบนเกาะนกเภาต่างแสดงความดีใจกันยกใหญ่

จากวันนั้นถึงวันนี้ เป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ที่ทรูได้ให้บริการการสื่อสารแก่ชาวเกาะนกเภา บริการสาธารณูปโภคที่เปรียบเหมือน Lifeline ของคนในยุคดิจิทัล คุณภาพชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น เข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างทันท่วงที ขณะที่กิจการเกาะนกเภาโฮมสเตย์ของเสธก็เติบโตขึ้นเรื่อยๆ มีแฟนเพจนับหมื่นราย จนตารางจองการท่องเที่ยวเต็มจนถึงมีนาคมปีหน้า และจากการเดินทางด้วยเรื่องหางยาวในวันแรก ตอนนี้เสธสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อพัฒนาบริการให้ดีขึ้นด้วยสปีดโบ้ท 50 ที่นั่งได้แล้ว

“สัญญาณอินเทอร์เน็ตและมือถือ คือ หัวใจหลักของการดำเนินชีวิตในยุคนี้ จากเกาะที่ประหนึ่งเกาะร้าง วันนี้เกาะนกเภาได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สถานที่น่าท่องเที่ยวของ จ.สุราษฎร์ธานี” เสธ กล่าวอย่างภูมิใจ

สำหรับผู้ที่สนใจสัมผัสความเงียบสงบและความงามอันสดใหม่ของเกาะนกเภา รวมถึงวิถีชีวิตชาวบ้าน อาหารทะเลสดๆ จากชาวเลบนเกาะ อากาศที่บริสุทธิ์ ที่มาพร้อมกับความคุ้มค่าคุ้มราคา 2 ใบเทามีทอนกับช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน 2 วัน 1 คืน รายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ก เกาะนกเภาโฮมสเตย์

AI อาวุธสำคัญปี 2025 CIO ต้องรู้! วิทยาลัยนวัตกรรม มธ. แนะกลยุทธ์สู่ความสำเร็จ

supersab

Recent Posts

AIS-True เปิดฉากระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast ทั่วไทย พร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อรัฐบาลสั่งการ

AIS และ True Corporation สองผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ ได้ประกาศความพร้อมในการเปิดใช้งานระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast และ SMS ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมปฏิบัติการทันทีเมื่อหน่วยงานภาครัฐสั่งการ AIS: ระบบ Cell…

9 hours ago

ดีพร้อม-บางจากฯ ผนึก 5 พันธมิตรธุรกิจ ผลิต “น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน” 1 ล้านลิตรต่อวัน ดันไทยสู่ฮับการบินพลังงานสะอาด ชิงความได้เปรียบเศรษฐกิจโลก

กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ดีพร้อม) ประกาศความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์ จับมือ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ 5 องค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)…

11 hours ago

ก.อุตฯ ผนึก World Bank เปิดเกมรุก “Industrial Decarbonization” ดันไทยสู่ Hub ลงทุนสีเขียว

“เอกนัฏ พร้อมพันธุ์” เปิดเวที CEO Forum ชูแนวทาง Industrial Decarbonization ภายใต้โครงการ Low Carbon City หนุนผู้ประกอบการไทยลดคาร์บอน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมประกาศเจตนารมณ์ร่วมลดก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน…

14 hours ago

Tops เขย่าตลาด FMCG ปี 68 ทุ่ม 5,000 รายการ Own Brand ชูคุณภาพพรีเมียม ราคาโดนใจ ผนึกชุมชนโกอินเตอร์

ท็อปส์ (Tops) ประกาศศักดาผู้นำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ปี 2568 ทุ่มงบไม่อั้น พัฒนาพอร์ตสินค้า Own Brand ทะลุ 5,000 รายการ ชูจุดแข็งด้านคุณภาพระดับพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงได้…

15 hours ago

รฟม. แจ้งรถไฟฟ้า MRT สายสีชมพู เปิดให้บริการเดินรถ สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) – สถานีตลาดมีนบุรี (PK29) และจัด Feeder รับ – ส่ง สถานีตลาดมีนบุรี (PK29) – สถานีมีนบุรี (PK30)

ตามที่ เกิดเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา โดยแรงสั่นสะเทือนได้ส่งผลกระทบมาถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู (MRT สายสีชมพู) ต้องงดให้บริการชั่วคราว เพื่อแก้ไขรางจ่ายไฟเพื่อความปลอดภัยในการเดินรถ นั้น จากการตรวจสอบพบว่าเกิดความเสียหายที่แผ่นปิดรอยต่อคานทางวิ่ง จำเป็นต้องซ่อมแซม ซึ่ง กระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางราง…

15 hours ago

“แสตมป์ กระจกเกรียบ” ศิลปะล้ำค่าแห่งสยาม ไปรษณีย์ไทยเปิดตัวแสตมป์ที่ระลึก วันอนุรักษ์มรดกไทย 2568 ดันไทยสู่สายตาโลก

ไปรษณีย์ไทย ได้เปิดตัวแสตมป์ที่ระลึกชุดพิเศษเนื่องในโอกาสวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช 2568 ด้วยการนำเสนอศิลปกรรมอันทรงคุณค่าที่กำลังจะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ นั่นก็คือ "กระจกเกรียบ" ศิลปะแห่งสยามประเทศที่มีความงดงามเป็นเอกลักษณ์แต่กลับหาชมได้ยากยิ่งในปัจจุบัน โดยมีกำหนดการเปิดจำหน่ายทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พุทธศักราช 2568 เป็นต้นไป ในราคาดวงละ…

16 hours ago

This website uses cookies.