เทรนด์การทำ CRM ของโลกกำลังเปลี่ยนไปหลังโลกกำลังค่อยๆ เข้าสู่ยุคของ Web 3.0 แม้แต่ในงานเทคโนโลยีประกันภัย (Insurtech) ที่สิงคโปร์ ประกันภัยรายใหญ่ของโลกต่างพูดถึง การปรับตัวของธุรกิจประกันภัย ต้องเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงพฤติกรรมของลูกค้า ต้องพัฒนา Ecosystem เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ขณะที่นักการตลาดต่างพูดเรื่อง 1st Party Data กันหมด
1st Party Data แก้ปัญหาประกันภัย
การใช้แพลตฟอร์มที่เก็บข้อมูลแบบ 1st Party Data จะเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล ช่วยบริษัทประกันให้อยู่รอดได้ นอกจากนี้ยังแก้ปัญหา Loss Ratio หรือค่าความเสียหายจากการเคลมประกัน ที่ทั่วโลกพยายามจะควบคุมไม่ให้เกิน 55% ขณะที่ประเทศไทยมี Loss Ratio อยู่ที่ 60% กว่า 10 ปี ทำให้บริษัทประกันล่มสลายไปมากมาย ขณะเดียวกันข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปขายจนสุดท้ายไปตกอยู่ในมือแก๊งคอลเซ็นเตอร์
เมื่อ 1st Party Data ถูกพัฒนาเข้ากับคอนเซ็ปต์ Web 3.0 ทุกคนที่อยู่ใน Ecosystem สามารถหาเงินได้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ และสำหรับประกันภัยรถยนต์ ลูกค้าสามารถสร้างรายได้จากการขับรถ (Drive to earn) เช่น คนขับรถไปส่งลูกแล้วได้เหรียญ เติมน้ำมันได้เหรียญ แวะซื้อกาแฟก็ได้เหรียญ ขับรถไปช้อปปิ้งได้เหรียญ และนำข้อมูลส่วนตัวไปขายให้กับผู้ให้บริการประกันภัย หรือแลกเป็นส่วนลดในการซื้อประกัน
สำหรับประเทศไทย มีแพลตฟอร์มอย่าง Keep Di ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมแบบ 1st Party Data อยู่บน Ecosystem ของแพลตฟอร์ม Claim Di ใช้ Blockchain เป็นตัวยืนยันการเก็บพฤติกรรม นำ Token ลงไปเป็นตัวกลางใช้จ่ายแลกเปลี่ยนในระบบ และข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้แต่ละคนจะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบ NFT
กิตตินันท์ อนุพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพชั้นนำ เคลมดิ และที่ Keep Di ภายใต้บริษัท ซีค แอนด์ คีพ เจเนซิส จำกัด กล่าวว่า “สิ่งเหล่านี้กำลังตอบโจทย์สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เรามั่นใจว่าเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เรากำลังทำแพลตฟอร์ม CRM ที่คนสามารถเข้ามาใช้ได้ ซึ่งการที่ผู้ใช้ขายข้อมูลได้ บริษัทประกันจำได้ ข้อมูลเป็น 1st Party Data ไม่ต้องพึ่งพาข้อมูลโซเชียลมีเดีย และสามารถออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ดีมากขึ้น ผู้ใช้ได้ซื้อประกันภัยได้ดีกว่าและตรงกับความต้องการมากกว่า”
Keep Di เดินหน้าสร้าง Ecosystem ให้เติบโต
การจะสร้าง Ecosystem รูปแบบใหม่นั้นนอกจากจะต้องใช้ Blockchain เป็นตัวกลางยืนยันตัวตนและธุรกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ยังต้องใช้ Token เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างผู้พัฒนาแพลตฟอร์มกับพาร์ทเนอร์ และ พาร์ทเนอร์กับผู้ใช้งาน
สำหรับแพลตฟอร์ม Keep Di นั้นวาง Ecosystem ของ Tokenomics แตกต่างออกไปจากธุรกิจอื่นๆ โดยเริ่มต้นจากการลิสเหรียญเข้ามาในระบบทั้งหมด 1,000 ล้านเหรียญ โดย 800 ล้านเหรียญ จะถูกนำเข้ามาใช้ Wallet ระหว่างบริษัทประกันภัยกับลูกค้า ไม่สามารถนำไปเทรดบนกระดานได้ แต่ลูกค้าสามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดประกันภัยหรือขายคืนให้กับ Keep Di ได้
ส่วนอีก 200 ล้านเหรียญ (แยกเป็น Public Investor 100 ล้านเหรียญ Private Investor 100 ล้านเหรียญ) จะถูกเทรดอยู่ในกระดาน เหมือนกับการเทรดคริปโท และไม่สามารถนำเหรียญจากการเทรดเข้าไปแจกในระบบ Wallet ระหว่างบริษัทประกันภัยกับลูกค้า เหมือนกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้น
กิตตินันท์ ตั้งเป้าว่า ภายในเดือนตุลาคมนี้จะมี wallet ให้ลูกค้าได้ใช้งาน และภายในสิ้นปีนี้จะมีผู้ใช้ Wallet 3 แสนบัญชี และตั้งเป้าถึง 3 ล้านบัญชีในปี 2566 จากผู้ใช้แอปฯ Claim Di ทั้งหมด 1.7 ล้านราย (มี Active User 7 แสนราย) ซึ่ง Wallet Keep Di จะถูกเพิ่มเข้าไปในแอปฯ Claim Di หลังการอัปเดต จากนั้นทางบริษัทประกันภัยจะสามารถแจกเหรียญให้คนสะสมได้ เหมือนการทำ Royalty program
วิธีการ คือ บริษัทประกันภัยจะเข้ามาสร้างเควสเพื่อให้ลูกค้าเก็บพฤติกรรมให้ เช่น ให้ลูกค้าเช็คอินตามสถานที่ๆ เดินทางไป ลูกค้าที่อยากได้เหรียญก็จะออกไปเก็บพฤติกรรมให้ จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกรวบรวมไปเป็นรายงานที่ไม่เปิดเผยตัวตนลูกค้า ส่งกลับไปให้บริษัทประกันภัย นอกจากนี้บริษัทอื่นๆ ยังสามารถเข้ามาซื้อพฤติกรรมจากข้อมูลชุดเดียวกันได้ และจ่ายเหรียญให้กับลูกค้าไป
เมื่อพาร์ทเนอร์แจกเหรียญจนหมด ก็จะต้องกลับมาซื้อเหรียญที่ Keep Di อีกครั้ง นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่า Fee กลับมาที่ Keep Di ทุกครั้งที่โอนเหรียญให้ลูกค้า โดยค่า Fee จะถูกเอาไปจ่ายให้กับ Node ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูล
สำหรับจำนวนเหรียญที่ถูกปล่อยเข้าระบบไปแล้ว ปัจจุบันมี Business Partner หรือบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับ Claim Di ได้เหรียญไปแล้วประมาณ 3 ล้านกว่าเหรียญ เป็นส่วนที่ใช้แจกให้กับลูกค้า
ด้าน Private Investor ซื้อเหรียญไปแล้ว 20 ล้านเหรียญ (จาก 100 ล้านเหรียญ) ในราคา 1 บาทต่อเหรียญ ซึ่งราคาการขายเหรียญให้กับ Private Investor แต่ในแต่ละครั้งนั้นขึ้นอยู่กับความพอใจ และราคาเหรียญในตลาด เหมือนกับการซื้อหุ้นจองก่อนเปิดกระดานซื้อขาย เหมือนกับการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จริงๆ
“เราตั้งใจว่าจะนำเหรียญเข้าตลาด Decentralized Exchange (DX) เป็นตลาดนอกที่ให้คนไป Swap กันเองได้ ส่วนตลาด Centralized Exchange (CX) ก.ล.ต. ยังไม่อนุญาตให้เทำได้ ซึ่งเรามีเป้าหมายจะเข้าในเดือนธันวาคม เพราะอยากให้เหรียญเปลี่ยนเป็นเงินบาทได้”
ด้านลูกค้าที่สะสมเหรียญไว้มากจากการเก็บพฤติกรรมก็สามารถขายทิ้งได้ โดยอิงราคาจากในกระดานเทรด (แต่ไม่ได้ขายเข้าไปในกระดานเทรด) ซึ่งแพลตฟอร์มจะเป็นคนเข้ามาซื้อกลับไป และเอาไปกลับไปขายให้กับลูกค้าที่เป็นพาร์ทเนอร์อีกครั้ง
ซึ่งเหรียญจะถูก Burn 0.1% ทุกครั้ง ที่มีการใช้ ทำให้ Supply หายไปเรื่อยๆ
“เราไม่ได้โฆษณาขายเหรียญโดยไม่ได้ทำธุรกิจอะไรเลย เราไม่ได้ทำธุรกิจแบบนั้น แต่เราต้อง Ecosystem ให้มันเติบโตได้ คนเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการทำแบบนี้ หากธุรกิจดีเหรียญจะราคาขึ้นเอง” กิตตินันท์ กล่าวปิดท้าย