depa ยูนิคอร์นภาครัฐ ผู้เร่งการเติบโตดิจิทัลไทยแบบก้าวกระโดด

depa ยูนิคอร์นภาครัฐ ผู้เร่งการเติบโตดิจิทัลไทยแบบก้าวกระโดด

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มุ่งพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน 5 ปีหลังสุด ภายใต้การนำของ ผู้อำนวยการใหญ่ อย่าง ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

หากมาดูผลงานใน 5 ปีที่ผ่านมากับการส่งเสริมให้ทั้งประชาชนมีทักษะด้านดิจิทัล และส่งเสริมธุรกิจเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้

1.ส่งเสริมทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับเยาวชน โดยปัจจุบันมีนักเรียนเข้าถึงทักษะด้านโค้ดดิ้งมากกว่า 4.2 ล้านคน

2.เสริมกำลังคนดิจิทัลผ่านการ Upskill, Reskill และ New Skill โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ด้านการศึกษา เพื่อให้คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนได่อย่างถูกต้องและปลอดภัย

3.สนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ให้มีสกิลดิจิทัลเพื่อให้อยู่รอดในสังคมได้ รวมไปถึงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้สูงวัย ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือต่างๆ ได้ ไม่น้อยกว่า 9 ล้านคน

4.พัฒนาขีดความสามารถในกระบวนการผลิต ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัลมากถึง 281 ชุมชน

5.ผลักดันภาคเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ Angel Investor โดยสร้างดิจิทัลสตาร์ทอัพไทยแล้ว 142 ราย เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 16,000 ล้านบาท

6.ส่งเสริมให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 30 พื้นที่ใน 23 จังหวัด

7.ขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนวัตกรรม ผ่านโครงการ Thailand Digital Valley ที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2567

สำหรับแผนในปี 2566 นั้น depa จะต่อยอดภารกิจภายใต้แนวคิด “DIGITAL INFINITY” ทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย

Ecosystem and Beyond

แบ่งเป็น 2 ประเด็นคือ ด้าน Financial Capital เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ของเหล่าดิจิทัลสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และสามารถไปเติบโตได้ในเวทีโลกโดยเฉพาะ อาเซียน จีน และ สหรัฐฯ ผ่านการดึงทุนจาก Venture Capital (VC) จากต่างประเทศเข้ามาในไทย รวมถึงการดึง Mentor ที่มีความสามารถเข้ามาให้ความรู้สตาร์ทอัพไทย

สำหรับด้าน Human Capital ใช้กลไกการสร้างคนสายเทคผ่านโรงเรียน เพื่อให้เด็กเรียน Coding ได้โดยตรงจากโรงเรียน ซึ่ง 5 ปี ที่ผ่านมา depa เข้าไปสนับสนุน 131 โรงเรียน มีเด็กเข้าถึงหลักสูตร Coding 113,195 คน ซึ่งในปี 66 ตั้งเป้าจะเข้าไปสนับสนุน 1,500 โรงเรียน เพื่อให้มีนักเรียนเข้าถึงหลักสูตร Coding มากถึง 1.3 ล้านคน

National Transformation and Beyond

เป็นการสร้างกลไกเข้ามาช่วยทรานส์ฟอร์มภาคธุรกิจที่มีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เช่น ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอุตสาหกรรมเกษตร สามารถทำเกษตรได้โดยควมคุมการทำงานต่างๆ ผ่านสมาร์ทโฟน ที่ผ่านมา depa ได้เข้ามาสนับสนุนด้านการบริหารข้อมูลสำหรับภาคเกษตรกรรม โดยร่วมมือกับพาร์ทเนอร์พัฒนาแพลตฟอร์ม ฟ้าฝน โดยติดตั้งเซ็นเซอร์เพื่อจับข้อมูลอากาศ ค่าฝุ่น รวมไปถึงการใช้ข้อมูลเข้ามาพัฒนา IoT ด้านการเกษตร รวมถึงรวบรวมข้อมูลด้านการเกษตรไว้ในคลาวด์เพื่อช่วยการเพาะปลูกกับเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทยเพื่อการส่งออกให้ผู้ประกอบการมีรายได้มากขึ้น ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูปสินค้าให้มีมูลค่ามากขึ้น ส่งเสริมทักษะผู้ประกอบการให้รู้จักการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

Technology and Beyond

โฟกัสที่การพัฒนา Big Data, Blockchain และ AI เร่งสร้างเทคโนโลยี Deep Tech และมองไปถึงอนาคตไม่ว่าจะเป็น 6G หรือ Quantum Computing

ผลักดันให้เอกชนมีส่วนร่วมกับรัฐในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เช่น Blockchain as a service ที่เป็นของคนไทย มีโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ให้ธุรกิจเกิดใหม่เข้ามาใช้งานได้

นอกจากนี้ยังเดินหน้าเป็นส่วนช่วยในการสร้างสมาร์ทซิตี้ ผ่านการเก็บข้อมูลในแต่ละเมือง รวมถึงนำ 5G เข้ามาใช้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น การทำระบบออโตเมชัน โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการด้านโครงข่ายต่างๆ รวมไปถึงการสร้าง Thailand Digital Valley ให้เป็นศูนย์กลางการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ

Policy and Digital Inclusion

ช่วยผลักดันนโยบายรัฐเพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ของภาคธุรกิจ ผลักดันนโยบายที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค รวมถึงเปิดประตูการค้าหรือการทำงานร่วมกัน ด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เข้ามาช่วยผลักดันนโยบาย Long Term Resident Visa เพื่อดึงผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลเข้ามาเเสริมการขาดแคลนแรงงานเทคของสตาร์ทอัพไทย

สนับสนุนให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึง Digital device สามารถนำไปใช้ในการสร้างอาชีพได้ และมีความรู้ความเข้าใจการใช้ดิจิทัลอย่างปลอดภัย รวมไปถึงการสร้างความตระหนักให้ผู้สูงวัยกับการเรียนรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปประกอบกับทักษะเพื่อสร้างอาชีพได้หลังเกษียณ

นอกจากนี้ยังมีแผนสร้าง Young Ambassador ให้เด็กไทยมีโอกาสไปทำงานกับคนต่างประเทศ โดยเฉพาะสิงคโปร์ จีน สหรัฐฯ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและกลับมาช่วยพัฒนาประเทศ

Looking Forward

เป้าหมายสร้างประเทศไทยให้มีข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมและจับต้องได้ผ่านการจัดตั้งสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่แห่งชาติ (National Big Data Institute: NBDi) ผลักดัน Big Data for All ให้ทั้งองค์กร บริษัท และประชาชน ได้ประโยชน์จากการใช้ข้อมูล

กระจายการเข้าถึงดิจิทัลผ่านสาขาต่างๆ ทั้ง 7 สาขา ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดชลบุรี จังหวัดภูเก็ต และ จังหวัดสงขลา รวมไปถึง d-space และ d-station เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยเข้าถึง และสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยดำเนินงานเสมือนเป็นหนึ่งในครอบครัวของ depa

“แผนการดำเนินงานต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้น ซึ่ง depa จะไม่หยุดนิ่ง เราพร้อมทำงานเต็มที่ ทำงานอย่าง Beyond ควบคู่ไปกับการประสานการทำงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จ โดยมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลรอบด้าน และให้ประเทศไทยรวมถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น” ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

Scroll to Top