Article & Review

ETDA เปิดข้อเงื่อนไข กฎหมาย DPS ที่ แพลตฟอร์มดิจิทัล ต้องทำก่อนเลิกให้บริการ พร้อมชี้ช่องรักษาสิทธิที่ ผู้ใช้ ต้องรู้

เราเคยตั้งคำถามกันไหมว่า…ถ้าหากวันหนึ่งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันที่เราเคยใช้กันจนคุ้นเคย หรือ เป็นแหล่งรายได้ของเรา อยู่ๆ ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มนั้นเกิดยุติการให้บริการ หรือเลิกประกอบธุรกิจไป เราในฐานะผู้ใช้บริการที่มีการทำธุรกรรมต่างๆ บนแพลตฟอร์มอาจได้รับผลกระทบจากการเลิกประกอบธุรกิจของแพลตฟอร์มดิจิทัล เราจะทำอย่างไร? และแพลตฟอร์มดิจิทัลเองในฐานะผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มที่ต้องการเลิกประกอบธุรกิจ หรือยุติการให้บริการสามารถทำได้ทันทีเลยไหม? หรือมีข้อกำหนด หน้าที่อะไรที่ต้องทำบ้าง? เพื่อให้การเลิกประกอบธุรกิจนั้นๆ ไม่สร้างความเสี่ยงและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้มากที่สุดวันนี้ ETDA หรือสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้กฎหมาย DPS หรือ Digital Platform Services จะมาไขข้อสงสัย เปิดข้อเงื่อนไขของประกาศที่เกี่ยวข้องภายใต้ กฎหมาย DPS ที่ ‘บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ต้องทำก่อน เลิกประกอบธุรกิจ…พร้อมชี้ช่องรักษาสิทธิที่ ‘ผู้ใช้’ ต้องรู้!

กฎหมาย DPS ชี้ชัด ‘บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล’ ต้องแจ้งก่อนเลิกประกอบธุรกิจ

อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า วันนี้เรามี “พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ.2565” หรือที่ใครก็รู้จักในชื่อ กฎหมาย DPS (Digital Platform Services) ที่เข้ามากำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ให้บริการแก่คนไทย เพื่อให้ระบบนิเวศของการให้บริการแพลตฟอร์มมีความโปร่งใส เป็นธรรม เมื่อผู้ใช้เข้าใช้งานแล้วเกิดปัญหาจากการใช้งาน เช่น ซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลแล้วถูกโกงถูกหลอก ผู้ใช้ก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับการช่วยเหลือ มีช่องทางในการติดต่อทั้งผู้ขาย และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมาย DPS ไม่เพียงกำหนดหน้าที่ให้แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่เป็น “บริการสื่อกลาง” ต้องมาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจเมื่อเริ่มประกอบธุรกิจให้บริการเท่านั้น แต่เมื่อต้องการจะเลิกประกอบธุรกิจบริการ หรือ ยุติการให้บริการก็ต้องมา “แจ้งเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล” ให้ สำนักงาน ในทีนี้หมายถึง ETDA รวมถึง ผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น พ่อค้าแม่ค้าบนแพลตฟอร์ม ผู้บริโภค รวมถึงไรเดอร์ เป็นต้น ทราบล่วงหน้า  เพื่อให้ผู้ใช้บริการมีเวลาในการปรับตัวและหาทางเลือกใหม่ในการเลือกใช้บริการ

แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีคุณลักษณะไหนบ้าง? ที่ต้องแจ้งก่อนเลิกให้บริการ

ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องแจ้งให้ทราบก่อนเลิกประกอบธุรกิจหรือเลิกให้บริการ จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 

กลุ่มแพลตฟอร์มที่มีหน้าที่ต้องมาแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ กลุ่มนี้จะมีทั้งหมด 3 ประเภทตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไป ตาม มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้เกิน 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานเกิน 5,000 รายต่อเดือน (โดยคำนวณจากการใช้งานเฉลี่ยต่อเดือนย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานประกาศกำหนด) อีกประเภทคือ แพลตฟอร์มดิจิทัล ตาม มาตรา 16 ที่เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะให้บริการโดยคิดค่าบริการ, ให้บริการเป็นสื่อกลางในการเสนอสินค้าหรือบริการ, ผู้ประกอบธุรกิจมีสัญญากับผู้ประกอบการในการเสนอสินค้าหรือบริการ หรือเป็นบริการ search engine และแพลตฟอร์มดิจิทัล ตามมาตรา 18 วรรคสอง ที่มีขนาดใหญ่ มีรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายแต่ละประเภทบริการเกิน 300 ล้านบาทต่อปี หรือ รวมทุกประเภทเกิน 1,000 ล้านบาทต่อปี หรือ จำนวนผู้ใช้บริการเฉลี่ย (AMAU) เกิน 10% ของจำนวนประชากร หรือ แพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตามความเสี่ยงที่มีผลกระทบในระดับสูง ตามประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) 

ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ขอความร่วมมือให้แจ้งเลิกประกอบธุรกิจ โดยทาง ETDA มีกระบวนการดำเนินงานที่มุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและความมั่นใจต่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ETDA จึงได้ขอความร่วมมือให้มาแจ้ง ซึ่งบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในกลุ่มนี้ ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็ก ตามมาตรา 8 วรรคสามและวรรคสี่  ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานไม่เกิน 5,000 รายต่อเดือน หรือ แพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่ำ ตามประกาศ คธอ. นั่นเอง

เปิดขั้นตอนที่ต้องทำ…ก่อนเลิกประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล

เมื่อเราทราบแล้วว่า กลุ่มแพลตฟอร์มที่มีหน้าที่ต้องมาแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ มีประเภทไหนบ้าง ก็มาเจาะลึกในประเด็นเรื่องของขั้นตอนที่ต้องทำเมื่อต้องแจ้งเลิกกันต่อซึ่งตาม ประกาศ สพธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดเงื่อนไขของการแจ้งเลิกที่แพลตฟอร์มดิจิทัลแต่ละประเภทที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเริ่มที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ที่ถือเป็นบริการแพลตฟอร์มที่ให้บริการแก่คนไทยในวงกว้าง ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดว่าหากจะต้องการเลิกประกอบธุรกิจ ก็จะต้องแจ้งวันที่จะเลิก ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนวันที่จะเลิก เช่น ต้องการให้วันที่เลิกประกอบธุรกิจ มีผลวันที่ 1 สิงหาคม   ก็ต้องดำเนินการแจ้งเลิกกับ ETDA และผู้ใช้บริการ ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน คือต้องแจ้งเลิกไม่เกินวันที่ 2  มิถุนายน เป็นต้น ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลตามมาตรา 16 และมาตรา 18 วรรคสอง จะต้องแจ้งวันที่จะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 120  วัน 

โดยข้อมูลที่ต้องแจ้งให้ ETDA ทราบกรณีแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ จะมีข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจ ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกประกอบธุรกิจ เช่น วันที่และเหตุผลที่จะเลิก ช่องทางหรือวิธีการที่จะประกาศการแจ้งให้ผู้ใช้บริการทราบ ผู้ประสานงาน และช่องทางการติดต่อ เป็นต้น

แผนมาตรการเยียวยาห้ามขาด! สิทธิที่ผู้ใช้บริการต้องรู้

นอกจากระยะเวลาของการแจ้งเลิกล่วงหน้าที่แตกต่างกันแล้ว แพลตฟอร์ม มาตรา 16 และ มาตรา 18 วรรคสอง ก็จะต้องมีหน้าที่ต้องทำเพิ่มเติมต่างจาก บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั่วไป ซึ่งในส่วนนี้ถือว่ามีความสำคัญ เพราะผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มเองจะต้องรู้ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการดูแลเยียวยาที่พึงมีได้ เพราะหน้าที่เพิ่มเติมที่ว่านั่นคือการจัดทำแผน และมาตรฐานในการดูแล เยียวยาผู้ใช้บริการภายใต้ประกาศ คธอ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการซึ่งได้รับความเสียหายจากการใช้  บริการ หรือการอื่นที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ที่อย่างน้อยๆ แพลตฟอร์มที่มีลักษณะตามข้างต้น จะต้องมีมาตรการและกระบวนการในการดูแลผู้ใช้บริการก่อนเลิกประกอบธุรกิจ เช่น 1.แนวทางการหยุดการให้บริการเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการในการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการเลิกประกอบธุรกิจ  2. มาตรการในการชดใช้หรือเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับความเสียหาย เช่น การจัดการชำระหรือโอนค่าบริการ การคืนค่าบริการ หรือการเก็บรักษาค่าบริการของผู้ใช้บริการที่ไม่สามารถติดต่อได้หรือไม่ติดต่อขอรับภายในเวลาที่กำหนด รวมถึงการจัดการข้อมูลต่างๆ 3. กระบวนการจัดการข้อพิพาทและช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้ ที่อย่างน้อยจะต้องมี กระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน, ช่องทางการให้ความช่วยเหลือและขั้นตอนการเยียวยาความเสียหาย และ 4. มาตรการอื่นๆ ที่ETDA อาจกำหนดเพิ่มเติม ถ้าบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความเสียหายส่งผลกระทบต่อสาธารณะชนในวงกว้างหรือไม่สามารถระงับข้อพิพาทได้

ทั้งนี้การคุ้มครองให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มได้รับการดูแล เข้าถึงการเยียวยาและความเป็นธรรมในการใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งในช่วงก่อนและหลังการเลิกประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล ไม่เพียงช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการร่วมยกระดับบริการที่มีคุณภาพของบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ไม่เพียงมีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย แต่ยังใส่ใจและให้ความสำคัญกับผู้ใช้บริการด้วย 

ธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจสามารถแจ้งข้อมูลและ หลักฐานต่างๆ ผ่านระบบแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของ ETDA ได้ที่ลิงก์ https://eservice.etda.or.th/dps/th/login และหากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับเงื่อนไขการแจ้งเลิกประกอบธุรกิจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 02-123-1234 (ติดต่อทีมกำกับดูแลกฎหมาย DPS) ในช่วงวัน และเวลาราชการ (9.00-17.00 น.) หรือที่เพจ ETDA Thailand ส่วนผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1212 ETDA พร้อมรับเรื่องร้องเรียน ประสานงานการดูแลอย่างเต็มที่ ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมาย DPS ที่จะช่วยให้คุณชีวิตดีเมื่อมีดิจิทัล ยังไม่หมดแต่เพียงเท่านี้ ติดตามข้อมูล ความรู้ดีๆ เกี่ยวกับกฏหมาย DPS เพิ่มเติม ได้ที่นี่  หรือที่เพจ  ETDA Thailand

กลุ่มแอร์เอเชีย เสริมฝูงบินแอร์บัส A321neo ใหม่ 4 ลำ เพิ่มเป็น 221 ลำ

supersab

Recent Posts

Huawei Cloud ครองแชมป์ ผู้ให้บริการ Container อันดับ 1 ด้วยกลยุทธ์ Cloud Native 2.0

Huawei Cloud ผงาดขึ้นแท่นผู้นำระดับโลกในบริการคอนเทนเนอร์ คว้าอันดับ 1 ในรายงาน Omdia Universe: Cloud Container Management & Services, 2024-25 ตอกย้ำความเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี…

1 minute ago

เจาะลึกกลยุทธ์ Lifestyle Brand สร้างแบรนด์ให้ปัง ดึงลูกค้าให้ตรึงใจ

ในยุคที่ผู้บริโภคใส่ใจในแบรนด์ที่สะท้อนรสนิยมและความสนใจของตัวเองมากขึ้น "Lifestyle Brand" หรือ "แบรนด์ไลฟ์สไตล์" จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยสร้างความผูกพันอันแข็งแกร่งกับลูกค้า โดยนำเสนอมากกว่าแค่สินค้าหรือบริการ แต่เป็นการนำเสนอ "วิถีชีวิต" ที่ลูกค้าใฝ่ฝัน จากรายงาน Business of Fashion (BoF)…

2 hours ago

AIS ผนึกกำลัง OPPO ส่ง OPPO Find X8 Series ราคาพิเศษ เริ่มต้น 18,999 บาท พร้อมรับชมความบันเทิงระดับโลกจาก Max

AIS จับมือ OPPO เปิดตัว OPPO Find X8 Series สมาร์ทโฟนแฟลกชิป รุ่นล่าสุด ในราคาเริ่มต้นเพียง 18,999 บาท พร้อมมอบข้อเสนอสุดพิเศษให้กับลูกค้า AIS…

17 hours ago

“Once Wongamat” คอนโดฯหรูแห่งใหม่ในพัทยา ผสานความยั่งยืนกับดีไซน์สุดล้ำ ตอบโจทย์ชีวิตเหนือระดับ

ออเนอร์ กรุ๊ป เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมสุดหรู "Once Wongamat" บนทำเลทองวงศ์อมาตย์ ชูจุดเด่นการออกแบบที่ผสานความหรูหรา และความยั่งยืนเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ กลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ ออเนอร์ กรุ๊ป (Honour Group)…

17 hours ago

ไปรษณีย์ไทย ใจป้ำแจกประกันอุบัติเหตุจากกรุงไทย แอกซ่า ฟรี 30 วัน พร้อมเปิดตัวตู้ KIOSK ให้บริการการเงิน เฟสแรก ทั้งสินเชื่อ ประกันภัย พ.ร.บ. จัดให้ครบจบในตู้เดียว

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด มอบประกันอุบัติเหตุจากกรุงไทย แอกซ่า ฟรี 30 ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม - 31 ธันวาคม 2567…

17 hours ago

พฤกษา สานต่อโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ” ปีที่ 6 ชู “นวัตกรรม-พันธมิตร-สร้างอาชีพ” ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้พิการอย่างยั่งยืน

พฤกษา โฮลดิ้ง ไม่หยุดยั้งที่จะสร้างสรรค์สังคมแห่งโอกาสที่เท่าเทียม เดินหน้าสู่ปีที่ 6 ของโครงการ “บ้านใส่ใจเพื่อคนพิการ By PRUKSA” โดยผนึกกำลังร่วมกับ โรงพยาบาลวิมุต และ อินโนโฮม คอนสตรัคชัน ในเครือ…

18 hours ago