จากสถิติในปี 2022 พบว่าการซื้อสินค้าออนไลน์ของคนไทยใน 1 สัปดาห์ วัดจากคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตช่วงอายุ 16-64 ปี พบว่า 68.3% ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ 45.8% ซื้ออาหารออนไลน์ ขณะที่ 16% ซื้อของมือสองผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับปี 2023 นี้ยังเป็นปีที่ท้าทายของการทำธุรกิจ e-Commerce ลองมาดูกันว่ามีเทรนด์อะไรบ้างที่น่าสนใจ
1.มูลค่าการค้าออนไลน์ดีดกลับอีกครั้ง เพราะท่องเที่ยวกำลังกลับมา
ในช่วงวิกฤตโควิดคนส่วนมากมักจะคิดว่าคนซื้อของออนไลน์กันหมดทำให้ e-Commerce โต แต่ในภาพรวมแล้วนั้น e-Commerce ไม่ได้โตขึ้น เพราะส่วนที่โตขึ้นนั้นมีเฉพาะแพลตฟอร์มขายของออนไลน์เท่านั้น แต่แพลตฟอร์มท่องเที่ยวการผลิตและการขนส่ง หดตัวทั้งหมด
–เปิดแนวคิด Digital-First Company โอกาสใหม่แห่งการเติบโตทางธุรกิจ
แต่หลังผ่านวิกฤติโควิด-19 การท่องเที่ยวกลับมาเกือบจะเป็นปกติ จะเป็นช่วงที่การค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอีกครั้งหนึ่งจากนักท่องเที่ยวที่เข้าใช้แพลตฟอร์มท่องเที่ยว และการขนส่ง ขณะเดียวกันภาคการผลิตก็สามารถทำงานได้ปกติ
ทั้งนี้ผลสำรวจยังคาดว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะเติบโต 17% ต่อปี และจะมีมูลค่าถึง 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 โดยขับเคลื่อนจากอีคอมเมิร์ซ
2.สงคราม e-Marketplace กำลังจะจบลงแล้ว
โดยการแข่งขันของ e-Marketplace ในประเทศไทยจะเป็นของต่างชาติเกือบ 100%
คงไม่ต้องแปลกใจเพราะว่าที่ผ่านมาเป็นการแข่งขันระหว่าง Lazada, Shopee และ JD แต่เมื่อ JD ถอนตัวออกไป ขณะที่ Lazada เริ่มกลับมาทำกำไรได้แล้ว ปีล่าสุดกำไรถึง 3,200 ล้านบาท ส่วน Shopee ถึงแม้จะยังขาดทุนอย่างต่อเนื่องมาทุกปีแต่ก็ยังมีเงินทุนมาสู้ในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าหลังจากนี้จะเริ่มกลับมาทำกำไรได้
หลังจากนี้จะเข้าสู่ภาวะผูกขาดตลาด ลดการแจกคูปองต่างๆ ขณะที่ยังไม่เห็นแววว่าจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ในไทยเข้ามาลงแข่งขันในตลาดนี้ได้
ส่วนสิ่งที่น่ากังวลคือ e-Marketplace เหล่านี้จะทยอยขึ้นค่าธรรมเนียมทำให้ร้านค้าได้กำไรน้อยลง ขณะที่ยังต้องแข่งขันกันมากขึ้น
3.สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ
ทุกวันนี้อาณาจักรสินค้าจีน ยกโรงงานเอาไว้ที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านเรียบร้อยแล้ว แถมราคายังถูกในระดับที่สินค้าไทยไม่มีทางสู้ได้
ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามานั้นเป็นสินค้าผิดกฎหมายที่ขายอยู่ในแพลตฟอร์มชื่อดัง เช่นหลอดไฟจากต่างประเทศที่ไม่มี มอก. อุปกรณ์การพนัน เครื่องสำอางจากต่างประเทศที่ไม่มี อย.
ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีแนวทางป้องกันสินค้าจีนผิดกฎหมายเหล่านี้ ในอนาคตคนผลิตสินค้าในไทยก็จะลำบากมากขึ้น
4.On-Demand Commerce สงครามการค้าออนไลน์รูปแบบใหม่กำลังก่อตัวขึ้น
เริ่มมีการเตรียมการใช้เงินมหาศาลในการแข่งขันในตลาดนี้
สำหรับคู่แข่งในตลาดนี้ส่วนมากก็ยังเป็นแพลตฟอร์มจากต่างประเทศ เช่น Grab, foodpanda ส่วน LINEMAN นั้นเป็นการร่วมทุนระหว่างคนไทยและต่างประเทศ ด้าน Robinhood เป็นของธนาคารอย่าง SCB นอกจากนี้ยังมี airasia Food ที่ซื้อกิจการ Gojek มา รวมถึง ShopeeFood และ True Food
ซึ่งการแข่งขันมีตั้งแต่ความเร็วในการส่ง การครอบคุมพื้นที่ให้บริการ ราคาค่าส่ง และโปรโมชั่นอื่นๆ
ซึ่งการเติบโตของแพลตฟอร์มเหล่านี้ขยายตัวจากการสั่งอาหารปรุงสุก ส่งอาหารแห้ง ข้าวของเครื่องใช้ รับส่งการเดินทาง ชำระเงิน ไม่เพียงเท่านั้นยังมีบริการสินเชื่อในตัวเองด้วย
5.การบุกของ Digital financial Service
จากนี้ไปธนาคารน่าจะเหนื่อยมากชึ้น
ผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ ยังเป็นกลุ่มแพลตฟอร์ม e-Marketplace และ On-Demand Commerce เป็นส่วนใหญ่ เช่น การออกฟีเจอร์ Buy Now Pay Later หรือการผ่อนชำระโดยที่ไม่ต้องมีบัตรเครดิต แพลตฟอร์มเหล่านี้จะคำนวณจาก Data การใช้งานของผู้ใช้และทำการปล่อยวงเงินให้ลูกค้าผ่อนจ่ายได้เลยโดยไม่ต้องมีหลักฐานมากมายเหมือนกับการสมัครบัตรเครดิต
6.สงคราม Short Video Commerce
วันนี้การทำ Short Video ไม่ใช่เพียงแค่ทำเพื่อความสนุกอีกต่อไป เมื่อช่องทางการสร้างรายได้จากการทำตัวเหมือนเป็นนายหน้าขายสินค้า สามารถทำได้เต็มตัวผ่านแพลตฟอร์มอย่าง TikTok ที่มีฟีเจอร์ TikTok Shop ที่ให้คนที่มีความคิดสร้างสรรค์หยิบจับสินค้าไปลองขายแลกกับการได้คอมมิชชั่น ใช้คอนเซ็ปต์ดูคลิปรีวิวจบสั่งซื้อได้เลยแค่ปลายนิ้ว
ซึ่งข้อดีก็คือคนขายไม่จำเป็นต้องสต๊อกสินค้าเอง แต่หยิบสินค้ามาขายให้ได้และเจ้าของสินค้าจะแบ่งเปอร์เซ็นต์การขายให้
7.โฆษณาออนไลน์มีทางเลือกมากขึ้น Facebook ได้ผลน้อยลง
หลังจากเพจต่างๆ ใน Facebook ถูกกดยอดการมองเห็น ทำให้หลายคนเริ่มมองหาช่องทางการทำโฆษณา เปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำคลิปผ่าน TikTok หรือ Reel ใน Instagram
8.Affiliate Marketing การตลาดผ่านการบอกต่อ
ผลสำรวจเปิดเผยว่า 88% ของผู้บริโภคในปัจจุบันเชื่อคำแนะนำ คนรู้จัก มากกว่า โฆษณา การตัดสินใจซื้อสินค้าเกิดจากความไว้วางใจที่ได้รับจากคนที่พวกเขาเชื่อถือมากขึ้น
ซึ่ง Affiliate Marketing เป็นช่องทางที่ Content Creator เข้ามาสร้างรายได้จากการเป็นผู้แนะนำสินค้าและบริการผ่านการทำ Content และได้รับค่าตอบแทนเป็นคอมมิชชั่น เช่นใน TikTok Shop ที่เปิดให้คนทำ Content นำสินค้าไปขายได้
9.MarErce เมื่อ MarTech ผสานเข้ากับ e-Commerce
วันนี้คนที่ทำ Marketing และ Commerce จะไม่ได้แยกออกจากกัน แต่จะต้องเข้าใจขั้นตอนทั้งหมดของการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ตั้งแต่การสร้างการรับรู้ การดึงดูดความสนใจ การตัดสินใจซื้อ และการเป็นลูกค้า
เพราะทุก MarTech จะเข้ามาแข่งในสนามเดียวกัน เป็นลักษณะ One Stop Service คือมีทั้ง ระบบออเดอร์ แชทบอท ไลฟ์ โลจิสติกส์ CRM, Loyalty Program, Email Marketing โดยใช้ข้อมูลลูกค้าเป็นศูนย์กลางของการทำธุรกิจ
10.การแข่งขันด้าน e-Commerce ของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ในปี 2023
จะเห็นว่าแพลตฟอร์มอย่าง Facebook และ Google พยายามขยายช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น ให้คนติดอยู่กับแพลตฟอร์ม ขณะที่ LINE และ TikTok พยายามสร้างแพลตฟอร์มตัวเองให้เป็นช่องทางขายของ
นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบ Ads เพื่อให้ผู้ใช้ซื้อโฆษณาโดยที่เงินไม่รั่วไหลออกไปไหน และมีระบบ Payment เป็นของตัวเอง
11.การขาดดุลดิจิทัลของไทย
ปัจจุบันคนไทยเสียค่าบริการให้แพลตฟอร์มจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทจากต่างประเทศที่ไม่ได้เข้ามาจดทะเบียนในไทย เช่น เมื่อคุณซื้อโฆษณาจาก Facebook จะเป็นการจ่ายเงินตรงไปยังต่างประเทศ
ซึ่ง ป้อม-ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้ง tarad.com คาดว่าคนไทยจ่ายเงินให้กับผู้บริการออนไลน์ต่างประเทศสูงถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี ขณะที่เทียบกับปริมาณส่งออกข้าวไทยปี 64 มียอดส่งออกเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น
12.Direct to Consumer จะฆ่าตัวกลางทางการค้า
ในอดีตการขายสินค้าจะต้องพึ่งร้านค้าส่ง ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว และร้านค้าปลีก ก่อนจะไปถึงมือลูกค้า แต่กระบวนการเหล่านี้ทำให้สินค้าปลายทางมีราคาสูงมาก ขณะที่ผู้ผลิตได้เงินเท่าเดิม แต่หากวันนี้ผู้ผลิตขายตรงไปยังลูกค้าได้เลย ก็จะสามารถทำกำไรได้เอง ซึ่งปัจจุบันหลายแบรนด์ก็ลงมาขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างๆ พร้อมจัดแคมเปญลดราคาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากพฤติกรรมผู้บริโภค ยังเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ในอนาคตร้านค้าท้องถิ่นและตัวกลางก็จะอยู่ไม่ได้และต้องปิดตัวไปหมด