สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ร่วมกับ สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดแถลงผลการศึกษาในงาน “Thailand Digital Competitiveness: Way Forward for National e-Transaction” เพื่อเปิดผลวิเคราะห์ World Digital Competitiveness Ranking (WDCR) เน้น 10 อันดับตัวชี้วัด ที่ส่งผลต่อการขยับอันดับการพัฒนาความสามารถของด้านดิจิทัลของประเทศ เน้นที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ทั้งในด้าน Internet Retailing และ e-Government หลังจากที่ล่าสุด IMD ได้ประกาศผลว่าปี 2566 ไทยอยู่อันดับที่ 35 จากทั้งหมด 64 ประเทศ ถือเป็นการไต่อันดับดีขึ้น 5 อันดับจากปีที่แล้วที่ไทยอยู่อันดับที่ 40
มีธรรม ณ ระนอง รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2566-2570 ที่มุ่งเน้นให้ประเทศมีระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้การทำธุรกรรมฯ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างโอกาส ความยั่งยืน และความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advantage) มี 2 เป้าหมายภายใน 2570 คือ 1) เพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP เป็นร้อยละ 30 และ 2) ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ใน IMD-WDCR อยู่ใน 30 อันดับแรก ซึ่งล่าสุดวันนี้ (30 พ.ย.) สถาบัน IMD – International Institute for Management Development ได้เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของโลก หรือ WDCR ประจำปี 2566 ว่า ประเทศไทยมีอันดับดีขึ้นถึง 5 อันดับ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ อันดับ 35 จากเดิมปี 2565 อยู่อันดับที่ 40 และเมื่อวิเคราะห์รายตัวชี้วัดตามปัจจัยหลัก 3 ด้าน พบว่า ปีนี้มีอันดับดีในหลายด้าน โดยด้านเทคโนโลยี ((Technology) อยู่ในอันดับที่ 15 (เดิมอันดับที่ 20) ด้านความรู้ (Knowledge) อยู่ที่อันดับ 41 (เดิมอันดับที่ 45) และด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) อยู่ที่อันดับ 42 (เดิมอัันดับที่ 49)
จากผลการจัดอันดับฯ เป็นการสะท้อนความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและใกล้เข้าสู่อันดับที่ 30 ตามเป้าหมายมากขึ้น แต่ก็ยังต้องวางกลยุทธ์กันต่อ เพื่อโฟกัสตัวชี้วัดที่สอดคล้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จาก 54 ตัวชี้วัดทั้งหมด ที่่ IMD นำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาสถานภาพของไทย ดังนั้น ETDA จึงได้ร่วมกับ TMA ในการทำ “โครงการยกระดับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัล (WDCR – World Digital Competitiveness Ranking)” เพื่อวิเคราะห์ตัวชี้วัดและเสนอแนะกลยุทธ์เพื่อผลักดันการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน
โดยผลการศึกษาที่สำคัญ พบว่า ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับ 10 ตัวชี้วัด จาก 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) ด้านความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital/Technological Skills), การจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค (Scientific and Technical Employment) 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ได้แก่ การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ (Starting a Business), การพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Development & Application of Tech) 3) ด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) ได้แก่ การค้าปลีกทางอินเทอร์เน็ต (Internet Retailing), รัฐบาลดิจิทัล (e-Government), ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล (Government Cyber Security Capacity), การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามกฎหมาย (Privacy Protection by Law Content)
“ETDA ดำเนินงานโดยคำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะส่งผลต่อการขยับตัวชี้วัดของประเทศ โดยกำหนดอยู่ในเป้าหมายขององค์กร และเชื่อมโยงกับแผนในระดับชาติ เช่น มีการดำเนินงานเพื่อผลักดันการใช้งาน Digital ID (การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล) สำหรับบริการภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยี AI อย่างมีธรรมาภิบาล รวมถึง Digital Transformation ตลอดจนร่วมพัฒนา Ecosystem ที่เอื้อต่อการเพิ่มมูลค่าการทำธุรกรรมทางออนไลน์ เพื่อให้ไทยบรรลุเป้าหมายของการอยู่ใน 30 อันดับแรกได้จริง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศในเวทีระดับโลกต่อไป”
วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร TMA และหัวหน้าที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า ผลการศึกษา สะท้อนว่า ตัวชี้วัด IMD-WDCR ที่เชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ETDA รวมไปถึง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ตลอดจนหน่วยงานภายนอกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ปัจจุบัน สดช. เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบการขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (Digital Competitiveness) ของประเทศ และเสนอให้หน่วยงานอื่นในประเทศที่เกี่ยวข้องกับตัวชี้วัดมีการกำหนดเป้าหมายของโครงการหรือกิจกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ทั้งนี้ แนวทางการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบที่สามารถนำไปใช้ปฏิบัติเพื่อสร้างให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงได้จริง (Real Impact) ต้องมีกลไกการจัดเก็บข้อมูลเชิงสถิติภายในประเทศ และมีผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของประเทศ (Country CIO) เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม ให้คำแนะนำ การดำเนินงานต่างๆ
จากตัวชี้วัดที่มาจากผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยทำได้ดีในด้าน Starting a Business ที่ประเมินจากการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลระหว่างรัฐกับฐานข้อมูลกลางของประเทศ ทำให้เห็นว่าการนำ Digital ID มาผนวกกับการให้บริการทางออนไลน์ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในด้านข้อมูลส่วนบุคคล ที่ควรเป็นเรื่องพื้นฐานของคนไทยสำหรับการทำธุรกรรมทางออนไลน์
ในส่วนที่ต้องผลักดันเพิ่มมากขึ้น จะมีในด้าน Internet Retailing และ e-Government ที่เป็นตัวชี้วัดที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศที่มีตัวเลข Internet Retailing ที่สูง เพราะจะมีผลคะแนนเรื่องเหล่านี้ดีตามไปด้วย เพราะการขยับ 1 อันดับ (Ranking) ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของ e-Retailing ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในองค์กร
ในด้าน e-Government ต้องเร่งพัฒนาการให้บริการภาครัฐ (Service Provision) กับการผนวก การให้บริการด้วย Digital ID ให้มีความปลอดภัยและเข้าถึงได้สะดวก รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสนับสนุนการให้บริการ ซึ่งต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่ IMD ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก
นอกจากนั้น ภายในงาน ETDA ยังได้เปิดเวทีเสวนาระหว่างผู้บริหารชั้นนำจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ช่วยขับเคลื่อนด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของประเทศ เพื่อสะท้อนมุมมองสถานการณ์ของไทย ประสบการณ์การผลักดันในระดับปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนการยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลของไทย รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้สะท้อนความต้องการการสนับสนุนของภาครัฐในด้าน e-Transaction อีกด้วย
สำหรับรายงานบทสรุปผู้บริหาร (Executive Summary) ผลการศึกษาที่สำคัญของโครงการยกระดับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านดิจิทัล (WDCR – World Digital Competitiveness Ranking) สามารถติดตามรายละเอียดการดาวน์โหลดได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก ETDA Thailand หรือ ที่เว็บไซต์ ETDA.or.th