Huawei นั้นได้ชื่อว่าเป็นเบอร์ 1 ในหลากหลายด้านเทคโนโลยีของจีน โดนเฉพาะในเมืองเซินเจิ้น ที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ ภายในเมืองเซินเจิ้นก็ใช้ระบบ Smart City ของ Huawei ทั้งหมด ครอบคลุมไปจนถึงสนามบิน และในเมืองนี้ยังมีศูนย์รวมเทคโนโลยีทั้งหมดที่เรียกว่า J5 Hall สำหรับรองรับลูกค้าองค์กรที่สนใจเข้ามาชมเทคโนโลยีตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคต
ซึ่งล่าสุด BiztalkNews ได้มีโอกาสเข้าไปชมเทคโนโลยีภายใน J5 Hall ได้เห็นการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Connectivity, Cloud หรือพวก Device ใหม่ๆ ซึ่งหลายส่วนก็ถูกนำมาปรับใช้ในไทยบ้างแล้ว แต่ยังมีบางส่วนที่กำลังพัฒนาในจีนเท่านั้น เช่น Intelligence Automotive Solution และ Digital Power
หากถามว่าทำไม Huawei ถึงมีเทคโนโลยีมากขนาดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเขาลงทุนกับการทำงานวิจัยและพัฒนามาก (R&D) สำหรับพนักงานในองค์กรทั้งหมดเป็นทีม R&D มากกว่าครึ่งของบริษัทหรือประมาณ 55.4% ซึ่งจะแบ่งเรื่องที่ศึกษาแตกต่างกันออกไป
สำหรับด้านการลงทุน R&D นั้นปี 2022 ที่ผ่านมาใช้งบถึง 25.1% ของรายได้หรือ 161.5 พันล้านหยวน (ประมาณ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) อยู่อันดับที่ 4 ของโลก และเพิ่ม 3 เท่าจากปี 2021
***รายได้ปี 2022 อยู่ที่ 642 พันล้านหยวน หรือประมาณ 92.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ประกาศผลประกอบการ)
และทาง Huawei ยังบอกด้วยว่าหลังจากนี้คาดว่าจะลงทุนด้าน R&D เพิ่มขึ้น เพราะมีความท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น
ส่วนความน่าสนใจของแต่โซนของ J5 Hall ที่ทาง Huawei ได้พาไปชม เช่น
Public Services
เป็นโซนที่จัดแสดงเทคโนโลยี Smart City ที่ใช้จริงในเซินเจิ้น สามารถมอนิเตอร์ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าจุดทิ้งขยะมีขยะเต็มพื้นที่ ระบบจะแจ้งไปถึงผู้รับผิดชอบได้โดยอัตโนมัติ
เมื่อมีเหตุด่วน ยังสามารถส่งต่อเรื่องต่างๆ ไปที่เจ้าหน้าที่ได้ และตอบโต้กันได้แบบเรียบไทม์ ปัจจุบันระบบนี้เชื่อมต่อกับประมาณ 60 หน่วยงานของเซินเจิ้น
เทคโนโลยีหลักที่ใช้กับ Public Services จะเป็นอุปกรณ์ IoT สำหรับตรวจจับ ไม่ว่าจะเป็นกล้อง CCTV หรือเซ็นเซอร์วัดค่าต่างๆ เช่นความหนาแน่น อุณหภูมิ สภาพอากาศ และยังมีมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ที่ช่วยให้หน่วยงานต่างๆ ได้เห็นภาพรวมของเหตุการณ์แบบเรียลไทม์
ทั้งนี้ปัจจุบันมีมากกว่า 200 โปรเจกต์ทั่วโลกที่ใช้โซลูชัน Smart City ของ Huawei อยู่ในขณะที่ รวมถึงประเทศไทยด้วย
Smart Transportation
เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่หัวเว่ยให้ความสำคัญมาก มีทั้งระบบที่ดูแลท่าเรือ สนามบิน ถนน และระบบรางรถไฟ หนึ่งในตัวย่างที่น่าสนใจคือ ในสนามบินเซินเจิ้น จะมีระบบจดจำใบหน้าอยู่ในหลายจุดทั่วสนามบิน ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องความปลอดภัยแล้ว ช่วยให้คนเดินทางผ่านด่านตรวจได้ไวขึ้นโดยไม่ต้องรอสแกนใบหน้าในจุดที่กำหนด
Smart Mining
มีเทคโนโลยี Autonomous Car ที่เมื่อป้อนข้อมูลเข้าไปตัวรถก็จะเรียนรู้เส้นทางการวิ่งภายในเหมืองได้โดยอัตโนมัติ ช่วยป้องกันคนจากอุบัติเหตุในการทำเหมืองเพราะบางครั้งการให้คนขับรถขนส่งภายในเหมืองอาจจะประสบอุบัติเหตุจากเหมืองถล่มได้ ทั้งนี้เทคโนโลยี Smart Mining ยังถูกใช้ในประเทศจีนเป็นหลัก
Digital Power
เป็นยูนิตใหม่ที่เข้ามาตอบโจทย์ด้าน Net Zero ซึ่งโซลูชันที่น่าสนใจ เช่น Low Carbon Home เริ่มต้นจากการพัฒนาโซชาร์รูฟที่เก็บพลังงานเข้าแบตเตอรี่ได้ โยนพลังงานไปชาร์จรถ EV ได้ หรือเก็บไว้ใช้ภายหลังได้ ซึ่งสามารถติดตั้งขนาดของแบตเตอรี่ได้ตามความต้องการ
นอกจากนี้ยังมี AI ที่คอยตรวจจับสิ่งผิดปกติ เช่น แผงโซลาร์รูฟบางตัวอาจจะเลอะหรือโดนอะไรปลิวมาบังทำให้ประสิทธิภาพการรับแสงลดลง แอปพลิเคชันก็จะแจ้งเตือนให้ไปเช็คหรือทำความสะอาด นอกจากนี้ระบบยังสามารถชัตดาวน์ให้โดยอัตโนมัติหากพบสิ่งผิดปกติที่อาจเป็นอันตราย เช่น ไฟรั่ว
ส่วนใครที่ติดโซลาร์รูฟอยู่แล้ว สามารถใช้โซลูชันของหัวเว่ย ทั้ง Inverter ที่เข้ามาจัดการพลังงาน และ แบตเตอรี่เข้าไปเติมเต็มได้
สำหรับตัวชาร์จรถ EV คาดว่าในปีหน้าจะปล่อยออกมาแข่งขันในตลาดหัวชาร์จ และถ้าใครที่ได้ไปเปิดชม Huawei Store ที่เซินเจิ้นก็จะเห็นว่าปัจจุบันมีรถยนต์แบรนด์ AITO ของหัวเว่ยที่ใช้ Harmony OS ขับเคลื่อนวางโชว์อยู่หลายคันทีเดียว