เมื่อ “โลก” ก้าวสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและไม่สามารถบ่งบอกถึงจุดสิ้นสุดได้ จากหลายปัจจัยทั้งเรื่องปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพภูมิอากาศ รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจ ล้วนคาดเดาได้ยาก และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้ในปี 2023 ทั่วโลกจะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 มาแล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและความท้าทายที่คาดเดาไม่ได้รออยู่ ทำให้แสงสว่างที่เห็นก็ยังดูมัว ๆ ไม่สดใสนัก
ในโลกธุรกิจปัจจุบัน “การปรับตัว” ขององค์กร เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งหัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กรคือ “Leadership” หรือ “ผู้นำ” ที่เปรียบได้เสมือน “โค้ช” คอยชี้แนะแนวทางการทำงาน และกำหนดกลยุทธ์เพื่อนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมาย
โดยมุมมองและแนวคิดของผู้นำองค์กร 3 ท่าน ที่มาร่วมแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับความท้าทายของผู้นำในโลกธุรกิจปี 2023 ผ่านเวทีเสวนาหัวข้อ “Leadership In 2023 Business World” จัดโดยสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (MAT) ยิ่งตอกย้ำความเชื่อที่ว่า “การมีผู้นำที่ดี จะนำพาองค์กรให้ก้าวผ่านได้ทุกอุปสรรค”
เริ่มจาก เภสัชกร ดร.แสงสุข พิทยานุกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามเฮลท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของแบรนด์ สมูธอี และ เดนทิสเต้ ที่ดังไกลในต่างประเทศ เชื่อมั่นว่า ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตนั้น Leadership มีความสำคัญมาก โดยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมมองว่าเรื่องของการบริหารคนภายในก็เหมือนการทำการตลาด ทั้งสองเรื่องเป็นศาสตร์ของการเข้าใจมนุษย์เหมือนกัน หากอยากให้เกิดความสำเร็จในองค์กร จำเป็นต้องบริหารคนให้มีความสุข เติมเต็มความต้องการและ Self-Actualization ของเขาให้ได้ความสำเร็จก็จะตามมา ในทางธุรกิจหากอยากให้ยอดขายเพิ่ม ต้องเพิ่มที่ความเป็นผู้นำของผู้บริหาร แม้ในองค์กรจะมีความต้องการแตกต่างกันในแต่ละเจเนอเรชันก็ไม่ใช่เรื่องหนักใจ เพียงแต่ต้องมองความต้องการของแต่ละรุ่นแต่ละวัยให้เจอ เพราะพวกเขาจะมีความต้องการไม่เหมือนกัน และผู้นำต้องมีทักษะการสื่อสารด้วยความเข้าใจ (Emphathic Communication) เพื่อทำให้คนเปิดใจและรับรู้ความ สำคัญของการสื่อสารภายในเวลาสั้นๆ และอีกสิ่งที่สำคัญมากคือ มอบหมายงานหรือหน้าที่ให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคน เรียกว่าผู้นำต้อง ดูคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น”
ผู้นำอีกหนึ่งท่านที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการก่อสร้างมายาวนาน ณรงค์เวทย์ วจนพานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า “สามอย่างที่ผู้นำต้องทำให้เป็น คือ ยุติธรรม – คุณธรรม – เที่ยงธรรม แต่เป็นการตีความในอีกแบบ คือ เรื่องแรกต้อง “ยุติ-ทำ” หมายถึงต้องกล้าที่จะไม่ลงมือทำเอง ปล่อยมือให้ลูกน้องทำเพื่อจะได้คิดตัดสินใจเป็น เรื่องที่สอง “คุณ-น่ะ-ทำ” ต้องปั้นคนให้เป็น พร้อมสอนงานและมอบหมายงานให้ทีมงานได้ทำ เป็นการให้โอกาสกับคนในทีม สุดท้ายต้อง “เที่ยง-ทำ” นั่นคือ การใช้เวลาช่วงเที่ยงออกกไปทานอาหารกลางวันเพื่อสร้างเครือข่าย ขยายเน็ตเวิร์ค ที่จะช่วยในการต่อยอดธุรกิจในอนาคต เพราะความท้าทายในโลกธุรกิจวันนี้ เริ่มจากศูนย์ไม่ได้ทุกครั้ง ดังนั้น การปั้นผู้นำหลักสำคัญต้องให้เข้าใจก่อนว่า หน้าที่ของผู้นำไม่ใช่เก่งที่สุดในทีม และต้องทำสามอย่างนี้ให้เป็น”
สำหรับการบริหารทีมงานนั้น ณรงค์เวทย์ กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญคือ การทำให้ทีมเข้าใจในบริบทของธุรกิจตรงกัน ว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพื่อให้ปรับตัวได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ต้องสื่อสารให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และนำไปส่งต่อได้ถูกต้องชัดเจน อย่างเช่นทำให้ทีมเข้าใจในเรื่องอายุและประสบการณ์ให้ถูกต้อง เพราะแก่ไม่ได้แปลว่าเก่ง แต่ประสบการณ์จากการทำงานจริงจะช่วยสร้างคุณค่าได้ในอนาคต โดยสิ่งที่น่าห่วงคือ ทีมขยันแต่ทำผิดเรื่อง ส่วนการบริหารธุรกิจ ผู้นำต้องเข้าไปศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ทำความเข้าใจกับธุรกิจของตัวเองและบริบทต่าง ๆ ที่สำคัญต้องพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา”
มาที่มุมมองสุดท้ายจากผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่ของไทย ธิติพร ธรรมาภิมุขกุล Chief Marketing Officer บริษัท สิงห์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด แชร์มุมมองว่า “ผู้นำในยุคนี้ ต้องรู้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ สิ่งไหนควรสร้างใหม่ และสิ่งไหนควรหยุด ทั้งในมุมการบริหารและการทำงาน ผู้บริหารต้องอย่าทำเองทุกเรื่อง เรื่องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่คิด เพราะเขาสร้างสิ่งใหม่ได้เก่งกว่าเรา และที่สำคัญ ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทีมงานให้มาก ให้คนรุ่นใหม่กล้าออกความคิดเห็น เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนเราก็ต้องหาผู้เล่นมาใหม่ เพื่อจะได้มีหลากหลายมุมมองให้เลือกก่อนตัดสินใจ แล้วใช้คนเก่าเป็นที่ปรึกษา แต่บทบาทของผู้นำต้องเป็นผู้ตัดสินใจในการหยุดสิ่งเก่าหรือเลิกบางอย่างเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ การตัดสินใจนี้ คือหน้าที่ของผู้บริหาร”
จะเห็นได้ว่า ความท้าทายของผู้นำองค์กรยุคใหม่ ไม่ใช่แค่เรื่องการบริหารธุรกิจและสร้างการเติบโตให้กับองค์กรเท่านั้น แต่เรื่องการบริหารคนและทีมงาน ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะทีมงานคือกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่ผลสำเร็จได้ ดังนั้น ด้วยงานที่หลากหลายและทีมที่แตกต่าง “ผู้นำ” ต้องใช้ทั้ง ศาสตร์ และ ศิลป์ ผสมผสานเข้าด้วยกันมากกว่าจะใช้กฏเกณฑ์หรือหลักการแบบตายตัว