ธุรกิจให้บริการยานยนต์ไร้คนขับ หรือ “Autonomous Car” หรืออาจจะเรียกว่า “Self-Driving” สำหรับประเทศไทยอาจจะยังอยู่ในจุดที่เรียกว่า “ยังห่างไกล” แต่กับจีน ประเทศที่เทคโนโลยีก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ยานยนต์ไร้คนขับไม่ใช่เรื่องความฝัน หรือแค่ทดสอบอยู่ในวงแคบ เพราะวันนี้เขาได้เปิดให้บริการ แท็กซี่ไร้คนขับ หรือ “Robotaxi” ไปแล้วถึง 20 เมือง ขณะที่ผู้ให้บริการที่เป็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็ทยอยเข้ามาเปิดการให้บริการกันรวมแล้วหลายพันคัน ซึ่งการขยายตัวของเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับนี้ ปัจจัยหลักของการทำงานคือ Network หรือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่ไม่ใช่แค่ใช้ได้ แต่ต้องเร็ว เสถียร และความหน่วงต่ำ ซึ่งเราจะเริ่มเห็นชัดมากขึ้นในโลกยุค 5.5G
หากยังจำกันได้ ยานยนต์ไร้คนขับ เป็นเรื่องที่พูดกันมาตั้งแต่ในช่วงเริ่มต้นเทคโนโลยี 5G ซึ่งที่ผ่านมาผู้ให้บริการโครงข่ายในไทยอย่าง AIS หรือ True เองก็ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับโดยใช้รีโมทควบคุมทั้งจากในพื้นที่เดียวกัน และต่างพื้นที่กัน
จนมาถึงปัจจุบันเราเริ่มเห็นยานยนต์ไร้คนขับตามโรงงานอุตสาหกรรม ใช้ในการขนส่งสินค้าภายในท่าเรือ เช่น ในนิคมฯแหลมฉบัง ที่มีการใช้รถบรรทุกไร้คนขับในการขนสินค้าในตู้คอนเทนต์จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกใช้งานอยู่ในพื้นที่ปิด แต่กับพื้นที่เปิด หรือบนถนนที่มีรถสัญจรทั่วไปนั้นยังไม่มีการทดลองใช้อย่างเป็นทางการ
แต่สำหรับจีน ยานยนต์ไร้คนขับได้ผ่านช่วงทดสอบไปแล้ว ณ วันนี้คือการให้บริการ ซึ่งในปีนี้เริ่มมี แท็กซี่ไร้คนขับ หรือ “Robotaxi” ออกมาให้บริการเต็มรูปแบบ และมีผู้ให้บริการหลายรายเข้ามาให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น Baidu, Tencent หรือ Alibaba โดยมี Huawei อยู่เบื้องหลังการพัฒนาโครงข่าย 5.5G
สำหรับเมืองที่ให้บริการไปแล้วมีมากถึง 20 เมือง ไม่ว่าจะเป็น อู่ฮั่น ปักกิ่ง กว่างโจว เซินเจิ้น เป็นชื่อเมืองที่คนไทยรู้จักและคุ้นเคยกัน และยังมีอีกหลายๆ เมือง ที่เราอาจจะไม่คุ้นชื่อ
แล้ว Robotaxi ทำงานอย่างไร
ถึงแม้ในตัวรถจะไร้คนขับ แต่ก็ยังมีคนควบคุมอยู่ โดยบริษัทผู้ให้บริการจะมีห้องที่เป็นศูนย์ควบคุม หรือเรียกว่า Taxi Center และมี Controller ที่มีพวงมาลัยรถ มีหน้าจอสำหรับตรวจเช็คความเรียบร้อย วางเรียงกันเป็นจำนวนมาก เพื่อควบคุมรถแท็กซี่ทั้งระบบของบริษัท
ซึ่งในปัจจุบันคนขับ 1 คน จะคอยมอนิเตอร์แท็กซี่ 5 คัน พร้อมกัน และหากคันใดคันหนึ่งตรวจพบสิ่งผิดปกติ เช่น ถอยจอดในจุดที่ไม่ใช่ที่จอดรถ ระบบอัตโนมัติทำงานไม่ได้ หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุ คนควบคุมจะเข้าไป Takeover หรือ เข้ามาควบคุมด้วยมือจากระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้โดยสาร และในอนาคตเขายังมองว่าจะพัฒนาให้คนขับ 1 คน มอนิเตอร์ได้มากถึง 10 คันพร้อมกัน
ทำให้ในอนาคตเราจะได้เห็น Robotaxi ในพื้นที่ที่รองรับยานยนต์ไร้คนขับเป็นหมื่นคัน ซึ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้น คือ ราคาถูกลงเมื่อเทียบกับการเรียกแบบปกติ ใช้คนขับน้อยลง และประหยัดพลังงานเพราะไม่ต้องคอยขับวนหาลูกค้า ซึ่งปัจจุบันผู้ใช้งานสามารถเรียกผ่านแอปฯ แบบเรียลไทม์ได้ หรือจะนัดรับผ่านแอปฯ ก็ยังทำได้เช่นกัน
ทำไมต้อง 5.5G
ยานยนต์ไร้คนขับนั้นจำเป็นต้องมีการเชื่อมต่อ “Connectivity” ที่ดี ซึ่ง 5G ที่เรารู้กันมาว่า Speed หรือ Latency ดีกว่า 4G หลายเท่าตัว แต่เชื่อไหมว่า มันยังไม่เพียงพอต่อการใช้กับระบบยานยนต์ไร้คนขับ จนวันนี้ เทคโนโลยีได้เข้าสู่ยุค 5.5G เป็นที่เรียบร้อย ที่มี Speed และ Latency ดีมากขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกันโครงข่ายก็ถูกพัฒนาเป็น Stand Alone (SA) ไม่ได้นำโครงข่ายจาก 4G เข้ามาผสมผสานอีกต่อไป และสามารถทำ Network Slicing หรือ Private Network ได้เต็มรูปแบบ
ซึ่งหากยานยนต์ไร้คนขับจะเข้ามาให้บริการในไทยเต็มรูปแบบ ก็คงจะต้องรอให้ผู้ให้บริการโครงข่ายพัฒนาจาก 5G ไปสู่ 5.5G เต็มระบบเสียก่อน
กฎหมาย และ ปัจจัยเสี่ยง
แน่นอนว่าหากเข้ามาในไทย คงจะมีการถกเถียงเรื่องกฎหมายต่างๆ สำหรับการใช้ยานยนต์ไร้คนขับ และคงจะต้องปรับแก้กฎหมายกันยกใหญ่ ขณะที่ด้านการทดสอบ แน่นอนว่าในช่วงแรกคงจะต้องทดสอบกันในพื้นที่ที่ไม่พลุกพล่าน และมีถนนที่เหมาะสมกับการทดสอบ ก่อนจะปล่อยให้ผู้ประกอบการเข้ามาทำธุรกิจกันได้
สำหรับปัจจัยเสี่ยง โดยหลักจะเป็นเรื่องการทำงานของระบบดิจิทัล ที่ถึงแม้เพิ่มความะดวกสบาย แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างที่โลกได้มีประสบการณ์ล่าสุดจาก Clowdstrike ที่ทำให้ระบบล่มไปถึงครึ่งโลก ซึ่งหากเกิดความขัดข้องรถที่ไร้คนขับ ก็จะกลายเป้นรถที่ไม่มีใครขับไปเลย ถึงแแม้ในจีนเองจะเคลมว่าปลอดภัยกว่าให้คนขับเองก็ตาม ทั้งนี้ยังไม่นับรวมถึงภัยจากอาญชากรต่างๆ ที่อาจเลือกก่อเหตุกับผู้โดยสารที่อยู่ในรถไร้คนขับอีกด้วย
–ความจำเป็นของการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ กับ “Responsible AI”