วันที่ Content Creator เกิดสายใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย ผู้เชี่ยวชาญหันมาทำคอนเทนต์มากขึ้น ตลาด Affiliate Marketing เติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ยังขาดนัก Live ขายอาชีพ และวันนี้คนทำคอนเทนต์ต้องใส่ใจสังคมมากขึ้น ทำคอนเทนต์ที่สอดคล้องกับความยั่งยืนมากขึ้น
Content Creator เป็นสายอาชีพที่คนไทยทุก Gen หันเข้ามาทำเป็นอาชีพหลัก และอาชีพเสริม ส่วนหนึ่งเพราะคนไทยนั้นตื่นตัวกับการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา มี Use Case และ Case Study มากมายที่เป็นประโยชน์กับวงการ
สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารบริษัท เทลสกอร์ จำกัด คาดว่าปัจจุบัน (ปี 2023) ประเทศไทยมี Creator ประมาณ 9 ล้านกว่าคน มากกว่า 10% ของประชากร (ประชากรไทยประมาณ 70 ล้านคน) ขณะที่ประเทศอื่นๆ จะมี Creator ประมาณ 1% ของประชากร
Creator ก้าวสู่การเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” มากขึ้น
ตลอด 5 ปีที่ สุวิตา จัดงาน Thailand Influencer Awards ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายมิติของการทำคอนเทนต์
“เราดูแล Influencer อยู่ประมาณ 1 แสนคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เม็ดเงินในตลาดตลาดโตขึ้น 30% ทุกปี คนเหล่านี้ถูกดึงไปใช้ใน อีคอมเมิร์ซ ในเกม อีสปอร์ต หรือธุรกิจที่มีเม็ดเงินสนับสนุน นอกเหนือจากการรีวิวสินค้า”
สุวิตา กล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ความหลากหลายทางพันธุกรรม ก่อนหน้านี้จะมีการแบ่งกันระหว่าง Macro กับ Micro Influencer มีนักรีวิวสายช่างภาพ สายท่องเที่ยว สายสุขภาพ แต่ปัจจุบันมีการลงลึกในคอนเทนต์มากขึ้น เช่น Creator ฝรั่งที่มาอยู่ในเมืองไทย รู้จักประเทศไทยมากและทำคอนเทนต์ส่งไปยังต่างประเทศ จะเห็นว่า ททท. ใช้ Creator กลุ่มนี้มาก เพราะคนกลุ่มนี้ทำคอนเทนต์เก่งกว่าฝรั่งที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทย สามารถลงลึกถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของคนไทย มากกว่าแค่รู้จักมวยไทย หรือผัดไทย
กับสายรถยนต์ EV เริ่มมีการทำคอนเทนต์ลงลึกไป เช่น การรีวิวแบตเตอรี่ จะเห็นว่า Creator กำลังจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Expert) มาทำคอนเทนต์
ขณะเดียวกันการเป็น Creator ในยุคนี้นั้นเติบโตได้ยากขึ้นถึงแม้จะมีสายใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ที่ผ่านมาก็มีหลายคนที่ถอดใจและเลิกทำไปในที่สุด ซึ่ง สุวิตา ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมา Creator ที่เข้ามาแล้วออกไปมีเยอะมาก แต่คนไม่ได้พูดถึง ส่วนมากเป็นคนที่เข้ามาแล้วถอดใจไปเพราะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด แต่หากมามองคนที่เป็นตัวจริง ที่ดังในวงการ คนเหล่านี้ไม่ได้ดังข้ามคืน ถึงแม้จะมีคลิปที่ทำออกมาแล้วดังข้ามคืน ทำให้เขาโตอย่างรวดเร็ว แต่จะเห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ได้หยุดทำงาน ไม่หยุดพัฒนา หลายคนทำงานมากกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุด เพราะนอกจากจะทำคลิปแล้ว ยังต้องไปดูแลคอมมูนิตี้ ไปจัดกิจกรรม หรือไปร่วมงานกับแบรนด์
Creator มีมาก แต่สาย Live ขายของยังขาดตลาด
ปัจจุบัน Creator แยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ทำคอนเทนต์เพื่อสร้างตัวผ่านการหารายได้ และอีกกลุ่มหนึ่งคือครีเอเตอร์ที่เข้ามาสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับแบรนด์
กลุ่มที่ทำคอนเทนต์เพื่อสร้างตัวผ่านการหารายได้ นั้นถือว่าเป็นกลุ่มที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะการมาของ TikTok Shop ทำให้หลายคนเบนเข็มมาเป็น Creator Commerce และเติบโตไปทำ Affiliate Marketing ไม่ว่าจะเป็นการติดลิงก์ให้คนมาคลิกเพื่อรับค่าคอมมิชชั่น หรือเป็นคนที่ Live ขายสินค้า
“Creator วิ่งไปหา TikTok Shop มากขึ้น แต่ก็ยังขาดตลาดอยู่ โดยเฉพาะสาย Live ขายของ ซึ่งเป็นสายที่หายาก คนที่เก่งจริงๆ ในตลาดนี้มีอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น เพราะ Creator ส่วนมากยังอยู่ในสายรีวิว แต่ปัญหาคือ สายนี้ช่วยปิดการขายได้ยาก เพราะทุกคนสามารถเป็นนักรีวิวได้แต่ไม่สามารถเป็นนักขายได้ นักขายต้องใช้วิชาอีกขั้น ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ บางคนเปิดกล้องแค่ Live เอาไว้เฉยๆ ก็มีคนมาซื้อของแล้ว ทั้งที่ยังไม่ต้องพูดอะไรเลย แต่กว่าคนเหล่านี้จะอยู่ในจุดนี้ได้ก็ต้องใช้เวลานานมากกว่าคนจะเชื่อใจ”
สุวิตา กล่าวต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งก็เติบโตมากเช่นกัน คือการใช้พนักงานมาเป็น Creator ให้กับบริษัท แบรนด์ที่เติบโตบางแบรนด์ไม่ได้จ้าง Creator เข้ามาสร้างความหวือหวา แต่ใช้พนักงานและลูกค้าเข้ามาช่วยสร้าง Incentive model และให้ลูกค้าเป็นคนซื้อเพิ่มเองโดยการที่ซื้อเพิ่มก็จะได้แต้มเพิ่มกลับไป
ไม่ใช่แค่ชื่อเสียงดัง แต่ต้องสร้างสรรค์สังคม
สำหรับการจัดงาน Thailand Influencer Awards มาตลอด 5 ครั้ง จนถึงครั้งล่าสุดในปี 2023 ของ Tellscore นั้นได้ปรับกฎเกณฑ์ในการเลือกผู้เข้าแข่งขันมาโดยตลอดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนไป ซึ่งในครั้งนี้นั้นได้เน้นไปที่การสร้างสรรค์ และเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนเทียบเท่ากับด้านความคิดสร้างสรรค์
“เงื่อนไขการสมัครเข้า Thailand Influencer Awards 2023 เรามีเกณฑ์การคัดเลือกอยู่ 5 เกณฑ์ เรามุ่งไปถึงกลุ่ม Creator ที่ทำคอนเทนต์น้ำดีมากขึ้น ซึ่งเป็นบริบทที่เปลี่ยนไป อีกส่วนหนึ่งคือการทำ Community ให้ดี มีการจัดกิจกรรมหรือสร้างการมีส่วนร่วมกับ Community มากกว่าการทำช่องตัวเอง
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือก 5 ข้อ คือ
- ความคิดสร้างสรรค์
- การเล่าเรื่อง (Storytelling)
- ด้านผลกระทบ และ ประสิทธิภาพ คือยอดวิวและการมีส่วนร่วมของผู้ชม
- การสร้าง Personal Branding และการสร้าง Community
- จิตพิสัย เรื่องของ Social Conscious จะต้องหวังดีกับผู้ชมและสิ่งแวดล้อม
“ข้อ 5 นั้นมีความสำคัญ เพราะ Creator นั้นถือว่าเป็นแบบอย่างต่อเยาวชน”
สุวิตา กล่าวถึงการเป็น Creator อย่างยั่งยืนในตอนท้ายว่า อาชีพ Creator กับเรื่องความยั่งยืนได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญคือคอนเทนต์ที่ส่งออกไปนั้นมีความปลอดภัยกับคนดู ต่อมาคือทำคอนเทนต์แล้วแบรนด์จะต้องสนใจ ต้องมีรายได้ เพื่อสร้างความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และสุดท้าย คือจะต้องเติบโตไปในภายภาคหน้าได้
“ทั้งนี้มันไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะเราจะต้องจับทางเทรนด์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นให้ได้ หากใครที่จับเทรนด์ได้ก็จะสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพได้”