Trade in with Benefit กลยุทธ์ชิงเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Samsung ที่ยังไร้คู่แข่ง

Trade in with Benefit กลยุทธ์ชิงเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนรุ่นเรือธงของ Samsung ที่ยังไร้คู่แข่ง

วันนี้ Biztalk จะมาชวนวิเคราะห์กลยุทธ์การ Trade in ของ Samsung ที่เพิ่งจบไป ซึ่งปีนี้ดูเหมือนจะร้อนแรงกว่าปีที่ผ่านมา ยอดขายพุ่งถึง 200% เลยทีเดียว และเราคงต้องมาดูกันว่าการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายรูปแบบนี้ จะมีค่ายสมาร์ทโฟนไหนอีกบ้าง ที่จะเข้ามาใช้วิธีเดียวกันเพื่อสร้างยอดขายในช่วงเปิดตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากๆ เรามาวิเคราะห์กันเลยครับ

หลังจากที่ Samsung เปิดให้จอง Galaxy S24 ทั้ง 3 รุ่น และทาง Opeator ทั้ง 2 ค่ายใหญ่ก็มีการเปิดให้ Trade in แบบมีส่วนลดเพิ่มอีก 13,000 บาท กรณีซื้อเครื่องพร้อมโปรโมชั่นที่กำหนด หรือ ลด 8,000 บาท กรณีซื้อเครื่องเปล่า ซึ่งเท่าที่ทราบคือแคมเปญนี้ เป็นการอุดหนุนจากทั้งฝั่งโอเปอเรเตอร์และทางซัมซุง เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงต้นปี ถ้าว่ากันง่ายๆ

ซึ่งเอาจริงๆ การ Trade in เนี่ยมันไม่ได้เพิ่งมาเกิดกับ S24 ตอนนี้นะครับ แต่มันเคยมีกับ S23 S22 ก่อนหน้านี้แล้ว คนในวงการสมาร์ทโฟนจะรู้กันดี ซึ่งมันคือการเอาเครื่องเก่าไปแลกเครื่องใหม่และได้ส่วนลดเพิ่มมาอีก ทำให้เราซื้อเครื่องรุ่นใหม่ได้ถูกลงมากๆ

และไม่ใช่แค่สมาร์ทโฟนที่ทำแคมเปญแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาก็มีสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ทำแคมเปญลักษณะนี้เหมือนกัน เช่น ปีที่แล้วมีแคมเปญของบริษัทที่ขายอุปกรณ์กีฬา ให้เอารองเท้าเก่าไปบริจาค และจะได้ Voucher กลับมาให้ไปซื้อคู่ใหม่ได้

แต่ที่มันไม่เป็นกระแสเปรี้ยงปร้าง เพราะสินค้าลักษณะนี้มันมีปัจจัยหลายอย่างครับ ไม่ว่าจะเป็น ยี่ห้อ สี ลาย ไปจนถึงไซส์ หรือบางทีรุ่นที่อยากได้ไม่ร่วมแคมเปญ ส่วนรุ่นที่ร่วมรายการดันไม่สวย หรือเป็นรุ่นเก่าที่ตกรุ่นไปแล้ว คนที่ได้ของไปก็เลยมีจำนวนจำกัด

แต่กับสมาร์ทโฟนมันเป็นกระแสมากเพราะ มันคือรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ลดราคาตั้งแต่เปิดตัว แถมมีจุดขายใหม่เป็น AI รวมถึงจะเอาสีไหน ความจุเท่าไหร่ก็มี แค่อาจจะต้องรอนิดนึง

และด้วยความที่มีเวลาจองจำกัด หลายคนต้องรีบตัดสินใจเพราะไม่อย่างนั้นตกรถแน่นอน

ถ้าไม่มีส่วนลดมาเสริมล่ะ จะเป็นยังไง

ผมก็ลองคิดนะว่า ถ้าไม่มีส่วนลดเพิ่ม สมาร์ทโฟนราคาระดับเริ่มต้นที่ 3 หมื่นต้นๆ ในรุ่น S24 ธรรมดา ไปจนถึงเกือบ 5 หมื่นบาทในรุ่น Ultra ถึงแม้จะมี AI ใส่เข้ามาจนว้าว แต่หลายคนก็คงต้องคิดเยอะ หากจะต้องควักกระเป๋ามากมายเพื่อเปลี่ยนอีกครั้ง ซึ่งปีที่ผ่านมาหลายคนก็อาจจะเพิ่งเปลี่ยนไปหมาดๆ ทั้งมือถือในระดับ หมื่นกลางๆ ไปจนถึงแฟล็กชิประดับ 30,000 บาทขึ้นไป

แล้วถ้าจะให้มาซื้ออีกครั้งในต้นปี ก็อาจจะไม่ไหวครับ

แต่พอมี Trade in คนที่เพิ่งซื้อสมาร์ทโฟนไปเมื่อปีก่อนก็อาจจะลองคำนวณกันว่า ถ้าเอาไปเทรดแล้วราคาเครื่องรวมกับส่วนลดจะได้เท่าไร ซึ่งบางคนแทบจะไม่ต้องจ่ายเพิ่มเลยครับ

หรืออย่างผมเองที่ใช้เครื่องมา 3 ปีกว่าแล้ว ถ้าเอาไปขายทิ้งก็คงได้ราคาไม่ถึง 5,000 บาท และถ้าไม่มีส่วนลดเพิ่มก็คงจะทนใช้ต่อไปจนพัง เพราะว่าเสียดาย

แต่พอนั่งเช็ครายละเอียดการ Trade in นั่งคิดคำนวณเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม กลายเป็นว่า มือถือที่เกือบจะไร้ค่าถ้าเอาไปขายต่อ พอรวมส่วนลดทั้งหมดแล้ว สามารถซื้อ S24 ตัวเริ่มต้นได้ในราคาหมื่นกลาง จาก 3 หมื่นต้นๆ ถ้าจะไปสุดทางที่ Ultra ก็จ่ายเพิ่มแค่ 2 หมื่นปลายๆ จาก 4 หมื่นปลาย

แล้วทำไมจะไม่เทรดล่ะ ใช่มั้ยครับ เพราะส่วนตัวก็กำลังเล็งๆ ว่าจะเปลี่ยนอยู่พอดี นี่ยังไม่นับคนที่ทนกับกิเลสไม่ได้นะ ต้องเอาเครื่องใหม่ๆ ของตัวเองไปเทรดเพื่อให้ได้ของใหม่กว่า และยิ่งกว่านั้น มีคนกลุ่มนึงไปไล่หาของมือ 2 ที่เข้าเกณฑ์เทรดได้ เพื่อเอามาซื้อ S24 รอบนี้อีก เพราะถึงราคาเครื่องที่ซื้อมาจะแพงกว่าราคาเทรด แต่การได้ส่วนลดเพิ่ม มันกลายเป็นคุ้มทันที

ซึ่งกลยุทธ์นี้ มันไม่เพียงแค่ทำให้คนหันมาซื้อมือถือเครื่องใหม่เพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นการตัดกำลังคู่แข่งที่ทำตลาดในไทยอีกด้วย

อย่างถ้าวันนี้คุณกำลังคิดจะซื้อมือถือเครื่องใหม่ แล้วคุณมีงบประมาณ 15,000 บาท ก็คงจะได้มือถือสเปคกลางๆ กลับมา แต่ถ้าเครื่องของคุณสามารถเอาไปเทรดได้ ถึงแม้จะได้แค่ 1,000 บาท ถ้าเอาไปเทรด S24 ตัวเริ่มต้น ก็จ่ายมากกว่างบที่ตัวเองมีเพียงเล็กน้อย แต่ได้สเปคของแฟล็กชิปกลับมาเลยครับ

เช่นเดียวกัน ถ้ามีงบสัก 30,000 บาท ก็ยังขาดอีกนิดนึงถ้าจะซื้อแฟล็กชิปแบรนด์จีน แต่ถ้าเอาเครื่องไปเทรด ก็อาจจะได้ S24 Ultra กลับมาแถมเงินยังเหลือ ยกตัวอย่างเครื่องผม เทรดได้ 3,500 บาท จะได้ทบอีก 13,000 บาท และใช้โปรของโอเปอเรเตอร์อยู่แล้วก็ยังได้ลดอีกแน่ๆ อย่างน้อยประมาณ 2 พันกว่าบาท เท่ากับว่าผมได้ส่วนลดไปประมาณ 18,000-19,000 บาท เลยทีเดียว

กลายเป็นว่าได้แฟล็กชิปที่เปิดตัวใหม่ราคา 4 หมื่นปลาย มาในราคาไม่ถึง 30,000 บาท

สรุปก็คือ กลยุทธ์การตลาดครั้งนี้ ตีทั้งตลาดระดับกลางไปจนถึงระดับบนเลย

ค่ายจีนทำไมดูเหมือนไม่ค่อยสนใจ ทั้งๆ ที่ Samsung ก็ทำแบบนี้มาหลายปีแล้ว

เป็นอีกประเด็นที่ผมก็สงสัย ว่าทำไมค่ายจีนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น vivo Oppo Xiaomi realme หรือแบรนด์อื่นๆ เขาไม่เข้ามาชิงตลาดแฟล็กชิปแรงๆ กันเลย

อย่างล่าสุด vivo เปิดตัว X100 ในราคาเริ่มต้นที่ 26,999 บาท ส่วนตัว Pro อยู่ที่ 37,999 บาท ซึ่งโปรโมชั่นที่เขาให้กับการ Trade in คือลดเพิ่ม 2,000 บาท ซึ่งมันไม่น่าดึงดูดใจให้คนเข้าไปเทรดสักเท่าไร

อีกส่วนหนึ่งคือ อาจจะเป็นไปได้ว่าตลาดประเทศไทยไม่ได้ใหญ่มากพอกับการลงทุนงบการตลาดก้อนใหญ่เพื่อมาชิงส่วนแบ่งกลับไป เพราะลำพังขายในจีนก็ผลิตขายกันไม่ทันอยู่แล้ว ขณะที่ Samsung ยังต้องเน้นขายนอกประเทศมากกว่า และยังต้องแข่งกับ iPhone ที่ถือว่าแข็งแกร่งมากในไทย

ทั้งนี้ก็คงจะต้องมาดูว่า การตลาดลักษณะนี้จะกลายเป็นเรื่องธรรมดาของการขายสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ของ Samsung ไปเลยในรุ่นถัดๆ ไปหรือไม่ ด้าน iPhone เรารู้กันอยู่ว่าเขาไม่ต้องทำอะไรมาก ก็มีสาวกแห่กันไปซื้อทุกปี ส่วนคู่แข่งแบรนด์จีนในตลาดจะปล่อยให้ Samsung เล่นเกมนี้ไปคนเดียวเรื่อยๆ หรือจะมีเทคนิคการขายรูปแบบไหนมาแข่งเพื่อดึงผู้ใช้กลับไปมั้ย ก็คงต้องมาดูกันต่อไปครับ

สมาร์ทโฟน พัฒนาซอฟต์แวร์ให้ป้องกันภัยไซเบอร์ได้แล้ว

Scroll to Top