พูดคุยกับ HR รุ่นใหม่ เรื่องการก้าวข้ามอคติ ยอมรับตัวตนที่เป็น และสนับสนุนให้ผู้ที่มีความหลากหลายในองค์กรเข้าใจสิทธิ์ของตัวเอง

พูดคุยกับ HR รุ่นใหม่ เรื่องการก้าวข้ามอคติ ยอมรับตัวตนที่เป็น และสนับสนุนให้ผู้ที่มีความหลากหลายในองค์กรเข้าใจสิทธิ์ของตัวเอง

ผลสำรวจของ Deloitte ระบุว่า การยอมรับความแตกต่างหลากหลายในที่ทำงานเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z และมิลเลนเนียล โดยกลุ่ม LGBT+ ในการสำรวจครั้งนี้ถึง 75% เชื่อว่าการเปิดเผยตัวตนเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศมีความสำคัญ แต่เหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่เปิดเผยตัวตนคือความกังวลว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม

กิตติ พีรธนารัตน์ จากสายงานทรัพยากรบุคคลของทรู คอร์ปอเรชั่น คือหนึ่งในตัวแทนที่เล่าเรื่องราวความหลากหลายในเดือนแห่งความภาคภูมิใจ เขาคือคนรุ่นใหม่ที่กล้าเปิดเผยความเป็นตัวเองอย่างแท้จริง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการสร้าง Business Inclusion Toolkit กับทาง UNDP และองค์กรชั้นนำในประเทศไทย ที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ มีกลยุทธ์สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการทำงานได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้เขายังเป็นกระบอกเสียงบอกต่อให้พนักงานที่มีความแตกต่างหลากหลายตระหนักรู้ถึงสิทธิ์ต่างๆ ของตัวเอง

ความมั่นใจและภูมิใจในความเป็นตัวเองเช่นวันนี้ของกิตติ เกิดจากการยอมรับและเคารพตัวเอง รวมไปถึงการก้าวผ่านความท้าทาย ที่อยากแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและมุมมองต่างๆ ให้ทุกคน

ความคาดหวังของครอบครัวที่มีต่อลูกชาย

“เราเติบโตมาในยุคที่ยังไม่เปิดรับความหลากหลายทางเพศมากนัก ยิ่งเราเป็นลูกชายที่เกิดมาในครอบครัวคนจีน ยิ่งมีความคาดหวังมากขึ้น แม้พ่อแม่แยกทางกันตั้งแต่เราเด็กและเติบโตมากับฝั่งแม่ที่เป็นคนไทย แต่เขาก็เลี่ยงที่จะยอมรับกับตัวตนที่เราแสดงออก โดยมองว่าเราเป็นเด็กผู้ชายเรียบร้อย ตอนที่ไปเจอญาติก็ต้องเก็บความเป็นตัวเองไว้ ไม่แสดงออกให้ใครเห็น”

เมื่อรับผิดชอบตัวเองได้ ก็มีความมั่นใจที่แสดงความเป็นตัวเอง

“พอเรียนมัธยมปลาย แม่ไปทำงานที่ต่างประเทศ ทำให้เราต้องรับผิดชอบและตัดสินใจทุกเรื่องในชีวิตด้วยตัวเอง พร้อมกับดูแลความรู้สึกตัวเองด้วย ซึ่งจุดนี้ก็ทำให้เรามีความมั่นใจว่าเรารับผิดชอบตัวเองได้ทุกเรื่องแล้ว เมื่อเข้าสู่สังคมมหาวิทยาลัยเราก็แสดงความเป็นตัวของตัวเองแบบที่สุด เปิดตัวแบบไม่ปิดเลย เพราะเราเคารพตัวตนของตัวเองมาก และเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ฉันก็จะเป็นแบบนี้ อยากแรงแบบนี้ และไม่เคยเสียความมั่นใจเลยสักครั้ง เวลานั้นทำกิจกรรมเยอะมาก ทำทุกอย่างที่ทำให้เราโดดเด่น เรียกว่ามั่นหน้ามากๆ ซึ่งต่อมาก็รู้ว่าสังคมนั้นเล็กมาก ไม่ใช่โลกกว้างอย่างที่เราต้องเจอ”

โลกกว้างที่ต้องเรียนรู้และปรับตัว

“การเรียนด้านภาษาทำให้เราเก่งในด้านการสื่อสาร แต่เมื่อออกมาทำงานก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับผู้คนที่หลากหลายและเลือกวางตัวให้เหมาะสม โดยที่ยังมีความเป็นตัวเองเสมอ เราไม่เคยปิดบัง เพราะเคยมีประสบการณ์ตอนสัมภาษณ์งานที่ทั้งท่องบท เก็บไม้เก็บมือ ไม่เป็นธรรมชาติไปทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่ผ่านอยู่ดี จากนั้นก็คิดว่าไม่เอาแบบนี้แล้วนะ เป็นตัวเองไปเลยดีกว่า ให้คนรับได้ในตัวตนที่เราเป็น ซึ่งก็โชคดีที่ได้เจอที่ทำงานที่รับได้ แต่ก็มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ติดในใจมานาน”

“ตอนที่ย้ายมาทำงานในองค์กรที่ค่อนข้าง Conservative มีวันหนึ่งที่ต้องไปประชุมกับผู้บริหาร หัวหน้างานบอกเราว่า ‘เวลาเจอผู้ใหญ่ พยายามอย่าแสดงออกเยอะนะ’ ก็คือให้เราทำตัวแมนๆ นั่นแหละ ตอนนั้นเกิดคำถามทันทีเลยว่า ‘ทำไมเราเป็นตัวเองไม่ได้ล่ะ’ แต่ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรออกไป ได้แต่นิ่ง จากนั้นก็คิดว่านี่เป็นหนึ่งบทเรียนเล็กๆ ที่ว่า ไม่ใช่ว่าทุกที่หรือทุกคนจะถูกใจหรือยอมรับการเปิดเผยตัวตนของเราได้ทั้งหมด แต่ถ้ามองกลับไปจากวัยที่เติบโตขึ้นก็คิดว่าหัวหน้าหวังดี เพราะเขาทำงานในองค์กรนั้นมานาน เขาย่อมรู้ว่าแบบไหนที่จะทำงานได้ง่ายกว่า”

การทำงาน Advocacy ที่เป็นหนึ่งกระบอกเสียงบอกต่อเรื่องความหลากหลาย

“เราชอบทำงานที่ได้สื่อสารกับผู้คนมาโดยตลอด สุดท้ายก็ได้มาทำงานในสายของ HR ที่ dtac ซึ่งการแสดงตัวตนชัดเจนแบบนี้ทำให้เรามีโอกาสเป็นตัวแทนขององค์กรเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้าง Business Inclusion Toolkit ที่ทาง UNDP ร่วมกับองค์กรต่างๆ ในประเทศไทย โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ มีกลยุทธ์ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ ตอนนั้นเราได้คุยกับผู้นำองค์กรที่ทำในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แล้วก็ตกผลึกว่า นี่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย เมื่อเราตระหนักรู้และเข้าใจแล้วก็ต้องเป็นหนึ่งเสียงที่พูดเรื่องนี้ออกไป ให้คนเห็นความสำคัญ ให้ผู้คนเชื่อเราให้ได้”

“พอกลับมาจากงานนั้นเราก็ทำงานรณรงค์และสนับสนุนเรื่องการโอบรับความแตกต่างหลากหลายมาตลอด ยิ่งในฐานะ HR เราพยายามบอกให้พนักงานทุกคนได้รู้ว่าพวกเขามีสวัสดิการอะไรบ้าง ไม่เฉพาะแค่กลุ่ม LGBTQ เท่านั้น แต่เป็นสวัสดิการสำหรับทุกคน ซึ่งตอนนี้ทรูมีสวัสดิการและสิทธิ์ของพนักงานที่ค่อนข้างครอบคลุมกับความหลากหลาย”

“ถ้าพูดถึงสวัสดิการสำหรับพนักงาน LGBTQ และคู่สมรสเพศเดียวกัน พนักงานสามารถลาผ่าตัดแปลงเพศได้ 30 วัน ลาเพื่อเข้าพิธีสมรสได้ 6 วัน (รวมวันหยุด) หรือสามารถเบิกสวัสดิการเงินช่วยเหลืองานแต่งงานของพนักงานได้ 5,000 บาท นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการที่ครอบคลุมความหลากหลาย เช่น คุณแม่สามารถลาคลอดได้สูงสุด 180 วัน (เมื่ออายุงานเกิน 2 ปี) ฝั่งคุณพ่อก็สามารถลาเมื่อภรรยาคลอดบุตรได้ 7 วัน (รวมวันหยุด) ต่อครั้ง เราพยายามบอกให้เขารับรู้ในสิทธิที่ตัวเองมี”

การส่งเสริมความหลากหลายต้องสร้างความรู้สึกปลอดภัย

“นอกจากนี้ในมุมมองของคนทำงาน HRBP (Human Resources Business Partner) การส่งเสริมความหลากหลายให้ดีขึ้นคือต้องฟังเสียงพนักงานให้มาก ต้องถามตัวเองตลอดว่า เราฟังลูกค้าคนสำคัญของเรามากพอหรือยัง ได้นำความคิดเห็นหรือฟีดแบ็กของเขามาปรับปรุงพัฒนาให้เขาเกิดประสบการณ์ที่ดีในการทำงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงานมากแค่ไหน สำหรับระดับองค์กรก็ต้องไม่หยุดนิ่งในการส่งเสริมและโอบรับความหลากหลาย ต้องทำให้พนักงานเกิดความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน รวมไปถึงความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งก็คือตัว B (Belonging) ตามหลัก DEI&B”

ทุกคนมีความท้าทายไม่ต่างกัน

“สังคมมักจะตีตราว่าถ้าเราเป็น LGBTQ ต้องเป็นคนตลกหรือทำตัวเด่น ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลย อย่างการที่เราชอบเต้นก็เป็น Passion อย่างหนึ่งรวมถึงได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองอย่างชัดเจน จากแกะท่าเต้นตาม YouTube ก็เริ่มไปเรียนและกลายเป็นงานอดิเรกแบบจริงจังที่เราตั้งใจที่พัฒนาตัวเองให้มากขึ้นเรื่อยๆ หรือแม้แต่ด้วยการทำงานทำให้เราอาจต้องมีภาพบนสื่อภายในองค์กร หรือร่วมกิจกรรมต่างๆ เป็นพิธีกรบ้าง เต้นบ้าง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหน้าที่การทำงาน อีกส่วนก็เป็นความชอบ เป็นตัวตนของคน Extrovert ที่ชอบอยู่ท่ามกลางผู้คน”

“ความโดดเด่นในแบบนี้ทำให้ที่ผ่านมาเราเคยได้ยินเสียงว่ากล่าวบ้าง แต่เชื่อไหมว่า ไม่มีสักครั้งเลยที่เราจะเอาคำพูดไม่ดีเหล่านั้นมาบั่นทอนจิตใจตัวเอง เราก็แค่ไม่สนใจ และคิดว่าพวกเขาคงไม่ได้รับรู้แง่มุมอื่นๆ หรือเรื่องที่เราต้องฝ่าฟัน เขาไม่ได้มาอยู่ในหน้าที่ของเรา ไม่รู้ว่าเราเจองานที่ท้าทายอย่างไรบ้าง จริงๆ ชีวิตเราก็เหมือนกับทุกคนที่ไม่ได้มีแค่เรื่องสนุกอย่างเดียว ถ้าเป็นคำติแบบสร้างสรรค์ก็ยินดีรับไว้ปรับปรุงพัฒนาตัวเอง แต่ถ้าเป็นการตัดสินเราจากอคติ เราก็ไม่สนใจคำพูดเหล่านั้นเลย”

ทุกคนจะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด

“การใช้ชีวิตตั้งแต่ช่วงเวลาที่คนไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ จนมาถึงวันนี้ ทำให้ได้คิดว่า การเป็นตัวของตัวเองดีที่สุดแล้ว เพราะเราเชื่อว่า ทุกคนจะทำอะไรก็ได้ จะเป็นอะไรก็ได้ ขอให้เป็นตัวเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องแสดงออกหรือบอกให้ทุกคนได้รู้ว่าฉันเป็น LGBTQ หรือฉันเป็นอะไรแบบไหน ทุกอย่างขอให้ไปตามความสบายใจ ใช้ชีวิตให้เป็นปกติ ทำเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องง่าย ให้ชีวิตไปยากกับเรื่องอื่น คิดแค่ว่า ฉันเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้ได้เป็นตัวเอง”

Lesson Learned การเปิดเผยความเป็นตัวตนในที่ทำงาน

  • Self-Acceptance and Respect: เริ่มต้นด้วยการยอมรับและเคารพในตัวเอง ช่วยให้แสดงตัวตนได้อย่างมั่นใจ
  • Being a Role Model: การแบ่งปันประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและสนับสนุนให้ผู้อื่นกล้าเป็นตัวของตัวเองเช่นกัน
  • Be an Advocate: การสนับสนุนซึ่งกันและกันทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งอย่างแท้จริง

เปิดใจนักสื่อสารด้านความยั่งยืนกับเรื่องความหลากหลายในทุกมิติของชีวิต จากเด็กที่เติบโตในสองวัฒนธรรม สู่ผู้ริเริ่มส่งเสียงให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร

Scroll to Top