ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี 5G จะเพิ่งเริ่มต้นมาได้เพียง 2 ปี กว่าๆ แต่ปัจจุบันนักพัฒนาต่างกำลังศึกษาค้นคว้าถึงก้าวต่อไปของโลกเครือข่ายที่ฉลาดมากกว่าเดิม รวดเร็วกว่าเดิม ข้ามขีดจำกัดได้มากกว่าเดิม ล่าสุดในการประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) ครั้งที่ 13 ของหัวเว่ย ได้มีการพูดถึงการพัฒนาสู่ยุค 5.5G ใน 2 ปีหลังจากนี้ เป็นการพัฒนาโครงข่ายที่รวดเร็วและนำไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แต่ไม่เพียง 5.5G เท่านั้นที่ถูกพูดถึงในโลกปัจจุบัน เมื่อ NTT Docomo ผู้ให้บริการโครงข่ายยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้พูดถึงการเดินหน้าสู่ 6G และได้เปิดเผยข้อมูลบางส่วนออกมาแล้วว่าจะมีการพัฒนาด้านอะไรบ้าง
สำหรับประสิทธิภาพของโครงข่ายในยุค 6G ที่ทาง NTT Docomo คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปนั้นได้แก่
1.ความเร็วที่สูงกว่าในยุค 5G อีกหลายเท่าตัว หากใครเคยได้ลองอินเทอร์เน็ต 5G SA(Stand Alone) หรือโครงข่ายที่ไม่ได้ใช้ 4G เข้ามาผสม ในไทย จะพบว่าสามารถทำความเร็วได้ในระดับ 2-3 Gbps/Sec และในยุค 5G นั้นยังคาดการณ์ว่าจะทำความเร็วได้ถึง 20 Gbps/Sec นั่นหมายความว่า 6G จะต้องเร็วกว่านี้อีกหลายเท่าตัว (อาจจะมากกว่า 100 Gbps/Sec ก็ได้)
2.การครอบคลุมพื้นที่มากกว่าเดิม ที่ไม่ใช่แค่บนพื้นดินอีกต่อไป แต่จะหมายถึงการส่งสัญญาณลงมาจากอวกาศมากขึ้น หรือในพื้นที่อื่นๆ ที่ในยุค 5G ไม่สามารถทำได้
3.การใช้ต้นทุนพลังงานต่ำลง หมายความว่าอุปกรณ์ที่ถูกนำมาใช้ในยุค 6G จะกินไฟต่ำกว่ามาก หรืออาจจะสามารถชาร์จพลังงานกลับไปได้จาก Green Energy ต่างๆ นั่นหมายความว่าจะช่วยลดต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายด้วย
4.ความหน่วงน้อยกว่าเดิม ในยุค 5G จะเห็นว่าทุกฝ่ายออกมาเคลมเรื่องความหน่วงต่ำกันแล้ว แต่ในยุค 6G นั้นยังมองว่าการลดระยะเวลาความหน่วงนั้นมีความจำเป็นกับการทำงานอีกหลายอย่างที่ 5G ไม่สามารถทำได้
5.เพิ่มความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัยไปอีกระดับ ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตนั้นเราต้องอยู่ในโลกไร้สาย เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อถือของการใช้งานจำเป็นจะต้องมีมากขึ้นไปด้วย
6.เชื่อมต่อข้อมูลได้แม้กระทั่ง ความรู้สึก ข้อสุดท้ายนี้เรียกว่าเป็นคีย์หลักของการพัฒนา 6G เลยก็ว่าได้ เพราะว่าในยุค 5G นั้นจะเป็นการชูประเด็นเรื่องการเชื่อมต่อที่เร็ว ความหน่วงต่ำ เชื่อมต่อได้หลายอุปกรณ์พร้อมกัน แต่ในยุค 6G นั้น นอกจากจะเชื่อมต่อได้หลายอุปกรณ์พร้อมกันมากกว่าเดิม ยังชูประเด็นเรื่องการส่งต่อความรู้สึกจาก “คนสู่หุ่นยนต์” หรือ “คนสู่คน” ได้อีกด้วย
แล้ว 6G จะเชื่อมคนสู่คนอย่างไร
หากพูดถึงการส่งต่อความรู้สึกในยุค 6G เราไม่ได้กำลังพูดถึงเรื่องจิตใจ แต่กำลังพูดถึงด้านการส่งต่อความรู้สึกด้านประสาทสัมผัส หากจะให้ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น คนที่เล่นเปียโนเก่ง สามารถทำให้คนที่เล่นเปียโนไม่เป็น เล่นเป็นได้ทันที ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน โดยทั้งคู่จะต้องใส่อุปกรณ์เพื่อให้เครือข่ายส่งข้อมูลเชื่อมประสาทสัมผัสแบบไร้สายไปหากันได้
หรือเราสามารถเก็บข้อมูลของคนที่มีความสามารถด้านใดด้านหนึ่งไว้ในระบบ และให้ผู้ที่มาเรียนสวมใส่อุปกรณ์ก่อนจะถูกยังคับให้ทำตามท่าทางดังกล่าวได้ นั่นหมายความว่า เราสามารถเก็บข้อมูลของคนที่เก่งด้านทักษะการใช้มือ เท้า หรือส่วนอื่นๆ ของร่างกายจากทั่วโลก มาสอนคนให้เก่งได้อย่างง่ายดายขึ้น แต่อีกนัยหนึ่งนั้นหมายความว่า มนุษย์สามารถถูกควบคุมการกระทำได้ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
–depa นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชม เทคโนโลยี 6G ณ NTT docomo ผู้ให้บริการโครงข่ายไร้สายของญี่ปุ่น
สำหรับหลักการทำงานนั้น ทาง NTT Docomo ได้ทดสอบในเบื้องต้นแต่เป็นการส่งต่อความรู้สึกแบบใช้สาย เพื่อให้ข้อมูลเดินทางไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ก่อนจะนำโมเดลนี้มาทดลองในรูปแบบไร้สายในอนาคต ซึ่งจากการสอบถามผู้ทดสอบ พบว่า ผู้ที่ถูกควบคุม (ปัจจุบันทำได้แค่บังคับให้หงายมือกับคว่ำมือ) จะได้รับคลื่นผ่านอุปกรณ์เพื่อกระตุ้นให้ทำท่าทางตามผู้บังคับ หากไม่ทำตามก็จะได้รับกระแสกระตุ้นเข้ามาที่แขนคล้ายๆ ถูกช็อตเบาๆ
หากโครงการพัฒนาต่อไปได้มากกว่านี้ ความเป็นไปได้ที่เห็น นอกจากจะนำไปใช้เรื่องการเรียนรู้ทักษะต่างๆ แล้ว ยังสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์เพื่อรักษาผู้ที่ต้องการบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ ได้อีกด้วย
มีเทคโนโลยีใหม่ ภัยร้ายใหม่ก็ตามมา
แน่นอนว่า เรายังไม่ได้พูดถึงการนำไปใช้ในทางไม่ดี (ซึ่งเป็นการคาดการณ์) เพราะจากอดีตที่ผ่านมาจะพบว่าความสะดวกสบายที่มากขึ้น ก็มักจะแลกมาด้วยความเสี่ยงใหม่ๆ ที่มากขึ้นเช่นกัน เช่นในยุคนี้เราไม่จำเป็นต้องกระเป๋าตังหาย หรือมือถือหาย ก็ถูกขโมยเงินได้
เพราะฉะนั้นการที่มนุษย์สามารถควบคุมกันได้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต นั่นหมายความว่า เราอาจจะสั่งให้คนไปทำเรื่องไม่ดีได้โดยคนที่ถูกสั่งให้ทำตามนั้นไม่สามารถขัดขืนได้ เพราะถูกติดตั้งอุปกรณ์ไว้ที่ตัว หรืออาจจะสั่งให้ทำร้ายตัวเองก็ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จากบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ยังพอเชื่อได้ว่า หากไม่พร้อมรับกับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น หรือตอบคำถามด้านความเสี่ยงไม่ได้อย่างครอบคลุม บริษัทก็คงไม่กล้าผลักดันเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ออกมาใช้ในวงกว้างเช่นกัน เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนมากจะเป็นตัวกำหนดว่าควรนำมาใช้หรือไม่…