เกรท วอลล์ มอเตอร์ จัดงานเสวนาพิเศษ ‘EV & Beyond by GWM’ ดึงผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงเศรษฐกิจ ยานยนต์ และเทคโนโลยี มาแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้หัวข้อ ‘Challenge and Opportunity of Current Thai EV Society’ สรุปภาพรวมสถานการณ์สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก เผยความท้าทายและโอกาสสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และเตรียมความพร้อมผู้บริโภคชาวไทยในการรับมือกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยานต์ไฟฟ้า ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า (xEV Leader) ที่พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นสังคมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างราบรื่นและยั่งยืน
งานสัมมนา ‘EV & Beyond by GWM’ จัดขึ้น ณ GWM Experience Center ไอคอนสยาม พร้อมถ่ายทอดสดผ่านระบบออนไลน์ทาง Facebook และ YouTube ของ GWM Thailand ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญ สื่อมวลชน และอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่คร่ำหวอดในวงการยานยนต์ไทยมายาวนาน มาร่วมเปิดมุมมองและแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า
ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาที่ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ได้เข้ามาจุดกระแสยานยนต์ไฟฟ้าในในประเทศไทย เราได้เห็นความนิยมรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหมู่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาพเศรษฐกิจ โรคระบาด ภาวะสงคราม ราคาน้ำมัน เงินเฟ้อ ส่งผลให้ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมเต็มไปด้วยความท้าทาย ถึงกระนั้นก็ยังมีโอกาสอีกมากมายที่น่าจับตามอง
–บ้านปูเปิดตัวบอร์ดเกม ‘EV City – ยานยนต์ไฟฟ้ามหานคร’
–Krungthai Compass ชี้ปั๊มน้ำมันมีโอกาสสร้างรายได้ต่อยอดกระแส EV
ในฐานะผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า (xEV Leader) เกรท วอลล์ มอเตอร์ มุ่งมั่นที่จะเปิดเวทีและเป็นสื่อกลางในการรับฟังเสียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายเพื่ออัปเดตองค์ความรู้ สถานการณ์โลกและในประเทศไทย รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ อีกทั้งสะท้อนความต้องการของผู้บริโภคด้านรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละมิติจากหลากหลายมุมมองมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และพัฒนาบริการของเรา รวมไปถึงการเติมเต็มระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเป็นไปอย่างราบรื่นมากที่สุด”
ภายในงานเสวนา ‘EV & Beyond by GWM’ แขกรับเชิญผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่น่าสนใจในมิติต่างๆ เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีใจความสำคัญดังต่อไปนี้
อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ายังคงเดินหน้าอย่างท้าทายท่ามกลางอุปสรรคมากมายหลายรูปแบบ
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งในไทยและนานาประเทศทั่วโลกกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามสถานการณ์ยังคงเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายมากมายที่ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นกำลังการผลิตที่ลดลงเนื่องจากสถานการณ์การขาดแคลนชิปจากแหล่งผลิต ราคาวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ที่เพิ่มขึ้นกว่า 40 – 500 เปอร์เซ็นต์ ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก การขนส่ง ตลอดจนสงครามรัสเซีย-ยูเครน และโรคระบาด ในขณะที่ความนิยมของผู้บริโภคต่อรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันจึงอาจนำไปสู่การผลิตที่ไม่ทันต่อความต้องการ การส่งมอบที่ล่าช้า และการหยุดรับจอง
อุปสงค์พุ่งแรงแซงอุปทาน ผู้เชี่ยวชาญคาดรถยนต์ไฟฟ้ามีโอกาสปรับราคาขึ้นทั่วโลก คนซื้อก่อนมีเฮ
ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มสูงขึ้นท่ามกลางตลาดโดยรวมที่ทวีความคึกคักขึ้นยิ่งกว่าที่เคย เป็นผลมาจากการที่ผู้บริโภคตื่นตัวและให้การยอมรับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในปัจจุบัน ในทางตรงกันข้าม ห่วงโซ่การผลิตกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ความท้าทายมากมายที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าจะมีโอกาสปรับราคาขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคและผลิตภัณฑ์ในกลุ่มรถยนต์สันดาปภายในที่ทยอยปรับราคาขึ้นกันไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ คาดว่าจากการเพิ่มขึ้นของราคาในอนาคตจะทำให้ราคาขายต่อของรถยนต์ไฟฟ้าจะมีราคาสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
โอกาสของทั้งอุตสาหกรรมยังมากมายแม้อุปสรรคและความท้าทายยังมากมี
แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายดังที่กล่าวมา แต่ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายแวดวงมีความคิดเห็นตรงกันว่ายังคงมีโอกาสและปัจจัยบวกอีกมากมายที่ช่วยให้ทั้งอุตสาหกรรมยังสามารถเติบโตต่อไปได้ในระยะยาว อาทิ การประกาศนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจนจากภาครัฐซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับรถยนต์ไฟฟ้าและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ายังต่างเร่งขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า ศูนย์บริการและซ่อมบำรุงให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกันอย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้บริโภคเกิดความสนใจรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกับส่งผลให้ความนิยมของรถยนต์สันดาปค่อยๆ ลดลงตามลำดับ จึงนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการในแวดวงยานยนต์ที่กำลังพิจารณาเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างแบตเตอรี่และอะไหล่ที่คาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก โดยในปี 2565 เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าคาดว่ายอดขายของรถยนต์ไฟฟ้า (ไฮบริด ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า 100%) ในปี 2565 จะอยู่ที่ประมาณ 82,000 คัน หรือ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์โดยรวม และในจำนวนนี้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% สูงถึง 12,300 คัน หรือคิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด
อัตลักษณ์อันโดดเด่นของรถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ได้ตรงจุด
ผู้บริโภคในปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น ทั้งยังให้ความสนใจกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยให้การดำรงชีวิตในแต่ละวันง่ายดายยิ่งขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความน่าสนใจ เพราะไม่เพียงช่วยลดมลภาวะของการปล่อยคาร์บอนขณะเดินทาง แต่ยังมาพร้อมกับนวัตกรรมอันล้ำสมัยซึ่งสอดรับกับความต้องการและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การขับขี่ของผู้บริโภคได้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัย ความบันเทิงและความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร ทั้งหมดนี้เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าได้กลายมาเป็นตัวเลือกหลักสำหรับการเดินทางบนท้องถนนในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นตัวเลือกหลักแทนที่รถยนต์สันดาปในท้ายที่สุด
ถอดรหัสความสำเร็จในประเทศจีน ประยุกต์บทเรียนสู่การเปลี่ยนผ่านในประเทศไทย
หนึ่งในชาติมหาอำนาจของโลกอย่างประเทศจีนประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้ประชาชนเปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก การเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ดังกล่าวเป็นผลสัมฤทธิ์จากความพยายามอย่างจริงจังของภาครัฐที่ได้สร้างแรงกระตุ้นหลากหลายรูปแบบ ทั้งการออกนโยบายการผลักดันเชิงรุกเพื่อลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาป (Push Strategy) เช่น การกำหนดวันคู่ วันคี่ สำหรับรถยนต์ที่วิ่งในเมือง การตรวจสอบการปล่อยไอเสีย และนโยบายที่ดึงดูดคนให้มาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น (Pull Strategy) เช่น การลดหย่อนภาษี การให้สิทธิพิเศษกับผู้ที่ใช้รถไฟฟ้า เป็นต้นตลอดจนเร่งสร้างสาธารณูปโภคอย่างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมเพื่อเติมเต็มความพร้อมให้กับระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน ทั้งหมดนี้สามารถเป็นแนวทางสำหรับประเทศอื่นๆ รวมไปถึงประเทศไทยที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดได้อย่างเป็นรูปธรรม
ฟันธงปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเป็นสังคมแห่งยานยนต์ไฟฟ้าและผลักดันคนไทยให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากปัจจัยด้านความยั่งยืน การประหยัดค่าใช้จ่าย และเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยและความสะดวกสบายขณะขับขี่ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นเนื่องจากราคาที่จับต้องได้ในปัจจุบัน ประกอบกับการที่ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนในเรื่องของเงินอุดหนุนและภาษีสรรพสามิต ยิ่งช่วยผลักดันให้ยอดขายและยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นให้ผู้ผลิตเกิดความสนใจอยากเข้ามาจับตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากตัวเลือกที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย หากในอนาคตระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีความพร้อมยิ่งขึ้นทั้งในด้านการสร้างการรับรู้ของผู้บริโภค นโยบายของภาครัฐที่ชัดเจน การทำงานร่วมกันอย่างจริงจังของทุกภาคส่วน ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุม และศูนย์บริการซ่อมบำรุงที่มีประสิทธิภาพ จะยิ่งทำให้รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวอย่างแน่นอน
เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในฐานะ “บริษัทที่ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะระดับโลก” (Global Intelligent Technology Company) มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ด้วยการรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อนำมาพัฒนาระบบนิเวศของรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยอย่างแท้จริง อันจะนำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้าไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน