สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดตัว รถโดยสารพลังงานไฟฟ้า UNICON รุ่นที่ 1 วิจัยและพัฒนาโดย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางภายใน สจล. ด้วยพลังสะอาด ต้นแบบในการคิดค้นนวัตกรรม ลดมลพิษทางอากาศ และมีจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงาน สอดคล้องกับนโยบาย KMITL for SDGs มุ่งสร้าง สจล. ให้เป็นสถานศึกษาที่สร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน
ทั้งยังเป็นการเพิ่มทักษะให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตั้งแต่ขณะเรียน รวมถึงการนำงานวิจัยมาสร้างนวัตกรรมเพื่อใช้งานจริง เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่จะกลายเป็นยานพาหนะหลักในอนาคต
–ETRAN จับมือ Bosch นำเทคโนโลยีมอเตอร์จากเยอรมัน ยกระดับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทย
–ไทยพาณิชย์ ยกเครื่องแพลตฟอร์ม SCB Business Anywhere อัพเกรดประสบการณ์ธนาคารดิจิทัล เพื่อลูกค้าธุรกิจ
ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. มุ่งมั่นในการเป็นสถาบันการศึกษาที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมและชุมชนที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ จึงได้ดำเนินนโยบาย KMITL for SDGs ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาดในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อาทิ โครงการ Innovated in KMITL ที่ส่งเสริมให้นักวิจัยบูรณาการองค์ความรู้ในหลากหลายสาขาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่เพื่อใช้จริงภายในสถาบัน
โดยนักวิจัย นักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้พัฒนาโครงการวิจัยรถต้นแบบ UNICON ซึ่งเป็นรถโดยสารเคลื่อนที่ด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% สำหรับใช้ภายในสถาบันฯ มุ่งลดมลพิษจากเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันอันเป็นต้นเหตุของฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสุขภาพของประชาชน ทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้มากกว่าการใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันซึ่งมีราคาผันผวนตลอดเวลา อีกทั้งยังเป็นยานยนต์แห่งอนาคต
แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากรถรางที่ใช้ในเมืองซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเมืองที่มีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์อย่างลงตัว เมื่อนำมาใช้ภายในพื้นของสถาบันฯ จะกลายเป็นสัญลักษณ์ของ สจล. ยุคใหม่ที่มุ่งมั่นในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์เช่นกัน
โดยชื่อรถ UNICON มาจากคำว่า University และ Connection ที่นอกจากจะสื่อความหมายถึงรถโดยสารที่เชื่อมต่อการเดินทางภายในพื้นที่สถาบันฯ แล้ว ยังสื่อถึงการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอน การทำวิจัย และการสร้างนวัตกรรมของสถาบันฯ เข้าด้วยกัน ยิ่งไปกว่านั้นนวัตกรรมรถ UNICON ถูกพัฒนาขึ้นโดยทีมวิศวกรคนไทยทั้งหมด ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ประกอบ ตลอดจนบำรุงรักษา โดยความร่วมมือระหว่างนักวิจัย ศิษย์เก่าและนักศึกษา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาเป็นยานพาหนะกระแสหลักในอนาคต
ทั้งนี้ในเวอร์ชันต่อไปจะมีการใส่เทคโนโลยีเข้าไปเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่จะช่วยให้รถบัสฉลาดมากขึ้น รวมถึงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา ประมาณ 300 วัตต์ เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนการใช้พัดลม และตัวระบายความร้อน
ผศ.ดร.ธีรพล โพธิ์พงศ์วิวัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า ได้นำความรู้จากการวิจัยด้านยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้คำแนะนำตั้งแต่การออกแบบ กำกับดูแลในขั้นตอนการผลิต รวมถึงควบคุมคุณภาพก่อนนำออกมาใช้งานจริง โดยรถโดยสารพลังงานไฟฟ้า UNICON รุ่นที่ 1 มีจุดเด่นในด้านประหยัดพลังงานและช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
ใช้ Motor ชนิด PMSM ขนาด 20kW และใช้ Battery Li-On 96 V ที่มีความจุ 400 Ah (แอมแปร์-ชั่วโมง) ในการชาร์จ 1 ครั้ง สามารถวิ่งได้ในระยะทางไม่ต่ำว่า 100 กิโลเมตร ด้วยความเร็วสูงสุด 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 20 คน แต่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ในขณะที่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันมีการปล่อยมลพิษทุกครั้งที่ใช้งาน
เอกชัย ปูชนียกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีชาถาวรอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวเสริมว่า จากมุมผู้ประกอบการในวงการยานยนต์ เล็งเห็นว่าจะมีการใช้งาน EV สูงถึงกว่าหนึ่งแสนคัน ภายในระยะเวลา 5 ปี เนื่องมาจากการส่งเสริมการใช้ EV ของภาครัฐ
ดังนั้นโครงการวิจัยรถต้นแบบ UNICON จึงเป็นการเตรียมพร้อมที่ดีให้กับนักศึกษาได้มีทักษะในการร่วมพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทักษะเหล่านี้จะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ช่วยเตรียมความพร้อมแก่วิศวกรไทยรุ่นใหม่ให้พร้อมกับการทำงานจริงในโรงงานอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มจะตั้งขึ้นอีกจำนวนมากทั้งในประเทศและทั่วโลก