คาร์กิลล์ เปิดตัวศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ หรือ Cargill Innovation Center แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งเป้าทำงานร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อวิจัยและพัฒนาสินค้าอาหารและต่อยอดผลผลิตทางการเกษตร ปั้นไอเดียใหม่จากงานวิจัย มาศึกษาต่อยอดและปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนไทยเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก
บทบาทของศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ในประเทศไทย จะมุ่งเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา 3 ส่วนได้แก่ ผลิตภัณฑ์โปรตีน ผลิตภัณฑ์ที่ต่อยอดจากโปรตีน และผลิตภัณฑ์จากเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อสินค้าสำหรับอนาคต เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทั้งปัจจุบันและอนาคต พร้อมวางตำแหน่งเป็น “ศูนย์นวัตกรรมด้านโปรตีนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่มีการวิจัยครบวงจร พัฒนาและผลิตสินค้าได้ทั้งประเภทอาหาร และนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร
ศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความต้องการของลูกค้าและของผู้บริโภค ผสานกับนวัตกรรมที่มีอยู่และคิดค้นขึ้นใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า ควบคู่ไปกับการผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ให้ผู้บริโภคในไทยได้เพลิดเพลินกับสินค้าที่ดีทั้งในแง่ของรสชาติและโภชนาการ ผ่านการทำการตลาดจาก 2 แบรนด์หลัก คือ Sun Valley ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ และ PlantEver ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือก โดยจะมีสินค้าใหม่ๆ มาวางจำหน่ายให้ผู้บริโภคคนไทยได้บริโภคอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังต่างประเทศ ด้วยการทำงานอย่างใกล้ชิดกับคู่ค้า อาทิ ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น
–NIA อัดงบ 200 ล้านบาท หนุนสตาร์ทอัพ/ผู้ประกอบการ 6 สาขาธุรกิจนวัตกรรม
ธิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์กิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยถึงการเปิดศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ หรือ Cargill Innovation Center ในไทยว่า นอกจากจะเป็นการตอบสนองนโยบายหลักของ คาร์กิลล์ในการเป็นผู้นำด้านอาหารและสินค้าเกษตรระดับโลกแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของคาร์กิลล์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร ด้วยการส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีรสชาติดี และมีเนื้อสัมผัสที่ถูกใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนให้ความสำคัญกับการต่อยอดสินค้าเกษตร และการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีเกษตรประยุกต์เพื่ออนาคต ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับไทยในตำแหน่งผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานอาหารระดับโลก
“ผมเชื่อมั่นว่า Cargill Innovation Center จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้กับธุรกิจอาหารและการเกษตร เกิดการคิดค้นนวัตกรรม เพิ่มศักยภาพในการผลิตอาหาร และเอื้อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีต่ออุตสาหกรรมอาหารของไทย นำไปสู่การเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกอาหารมากเป็นลำดับต้นของโลก นอกจากนี้ เราจะใช้ความชำนาญและเครือข่ายศูนย์นวัตกรรมทั่วโลกของคาร์กิลล์มาทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การอาหารในแต่ละประเทศมาพัฒนาผลิตภัณฑตอบโจทย์ผู้บริโภคให้มากที่สุด”
สำหรับศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ประเทศไทย เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่มีการร่วมมือกับทั้งภาครัฐ และเอกชน มีการทำงานวิจัยซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาว มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้านนวัตกรรม พร้อมมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมอาหารด้วยการยึดหลักBCG Economy Model อย่างครอบคลุม ทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว โดยศูนย์แห่งนี้จะทำงานใกล้ชิดกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัด สวทช. ซึ่งจะเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นำเอางานวิจัยมาศึกษาต่อยอดและปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดเพื่อค้นคว้าวิจัยและขับเคลื่อนไอเดียนวัตกรรมให้ใช้งานได้จริง จนได้เป็นไอเดียนวัตกรรมสำหรับพัฒนาสินค้า เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายของผู้บริโภค
ปัจจุบัน คาร์กิลล์ มุ่งเน้นการนำความรู้และความเชี่ยวชาญจากทั่วโลกมาพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ในด้านอาหารและการเกษตร ภายใต้การวิจัยและพัฒนาที่มีศักยภาพ โดยในภูมิภาคเอเชีย มีการจัดตั้ง Cargill Innovation Centerแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์ เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง คุรุคราม (Gurugram) และล่าสุดกับการเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมในประเทศไทย ซึ่งนับเป็นศูนย์นวัตกรรมแห่งที่ 5 ของเอเชีย เพื่อสานต่อเป้าหมายหลักในการเป็นผู้ผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค พร้อมส่งมอบไอเดียนวัตกรรมผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีความปลอดภัย มีความรับผิดชอบในทุกกระบวนการผลิต และสร้างความยั่งยืนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ศูนย์นวัตกรรมคาร์กิลล์ ตั้งอยู่ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี มีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร โดยภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วย ห้อง Sensory & Kitchen Studio ที่นำข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคมาวิเคราะห์และพัฒนาสูตรอาหารโดยนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยเน้นถึงความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ห้อง Kitchen Lab ที่ใช้พัฒนาสูตรผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีรสชาติที่หลากหลาย และถูกปากผู้บริโภคมากขึ้น และห้อง Pilot line ที่นำขั้นตอนการผลิตมาย่อส่วนลงเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีทีมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่จะคิดค้นไอเดียใหม่เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์โปรตีนและเทคโนโลยีการเกษตร