AIS เดินหน้าสู่การวิวัฒน์ครั้งใหม่ของโลกดิจิทัล THE NEXT EVOLUTION ยกระดับขีดความสามารถโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและ AI ส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทยและองค์กรธุรกิจในทุกภาคส่วน สอดรับการเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ภายใต้แนวคิด Sustainable Nation ที่มุ่งสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทยบน ECOSYSTEM ECONOMY ทั้ง ผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ในโลกดิจิทัล
–AIS เปิดรายได้ 9 เดือนแรก 137,555 ล้านบาท โต 0.6%
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “เราเดินหน้าทำงานอย่างมุ่งมั่นตั้งใจด้วยแนวคิด ECOSYSTEM ECONOMY หรือ เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน จากภารกิจทั้ง 3 ส่วน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะ (Intelligence Infrastructure) การเชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม (Cross Industry Collaboration) และการดำเนินงานอย่างยั่งยืน (Sustainable) พร้อมกับการพัฒนาความสามารถของบุคลากร เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ อันจะนำไปเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศไทย หรือ Sustainable Nation”
สำหรับ THE NEXT EVOLUTION หรือการวิวัฒน์ทั้ง 3 ด้านของ AIS ที่คุณสมชัย ได้เปิดเผยภายในงานมีตั้งแต่
1.การวิวัฒน์ของ Intelligence Infrastructure
เดินหน้าสู่โครงข่ายเน็ตเวิร์คและนวัตกรรมอัจฉริยะมากขึ้นไปอีกขึ้น ครอบคลุมเทคโนโลยีตั้งแต่
-5G Living Network ที่ล้ำหน้ามากขึ้น โดยลูกค้าสามารถเป็นผู้ควบคุม เลือก และออกแบบการใช้งานบน Data ได้เองตามไลฟ์สไตล์ ซึ่งจะพร้อมให้บริการในเดือนธันวาคม 2566
-ร่วมมือกับ NT บนคลื่น 700 MHz ที่จะทำให้ลูกค้าของ NT และ AIS ได้รับประสบการณ์ดิจิทัลที่ดีมากยิ่งขึ้น
-โครงข่าย Fibre ที่จะร่วมกับ 3BB ทำให้เกิดประโยชน์กับการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ถึงกว่า 13 ล้านครัวเรือน
-พร้อมเปิดตัวเทคโนโลยี WiFi 7 เป็นรายแรกในไทย ร่วมกับ TP-Link ที่มาพร้อมเราน์เตอร์มาตรฐาน WiFi 7 ในการรองรับอุปกรณ์ ให้เชื่อมต่อได้ ลดปัญหาเกี่ยวกับช่องสัญญาณที่แออัด ทำให้ใช้งานได้ไหลลื่น รองรับการสตรีมแบบวีดีโอแบบ 8K การใช้งาน VR ที่ตอบโจทย์ทุกคนในบ้านได้อย่างครบถ้วน
-Enterprise Platform – CPaaS (Communication Platform as a Service) และแพลตฟอร์ม AIS Paragon ที่เชื่อมต่อเครือข่าย 5G, Fibre, Edge Computing, Cloud, และ Software Application เพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศ
2.การวิวัฒน์ของ Cross Industry Collaboration
นำโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ช่วยให้คู่ค้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
-ยกระดับ Software และ Hardware ด้วยการนำ Generative AI เข้ามาช่วยอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น ผ่านการร่วมมือกับไมโครซอฟต์ ครั้งแรกใน South East Asia ให้บริการ Microsoft Teams Phone ที่ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการระบบสื่อสารได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ประหยัดต้นทุน เพราะพนักงานสามารถโทรออกไปยังเบอร์ภายนอกและรับสายได้ผ่าน Microsoft Teams ที่คุ้นเคย รวมไปถึงการนำนวัตกรรม GenAI ที่จะมาช่วยยกระดับการทำงานของโลกยุคใหม่อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นกับ Microsoft 365 Copilot for Enterprise และยังทำงานร่วมกับ ZTE เพื่อเตรียมเปิดตัวบริการ Cloud PC for Enterprise ให้องค์กรสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในรูปแบบ Desktop as a Service (DaaS) บนระบบคลาวด์ที่จัดสรรได้ตามความเหมาะสมบนความปลอดภัยสูงสุดในการเก็บข้อมูล
-ร่วมมือกับธนาคาร และ ร้านค้าปลีก ผ่าน Point Platform เชื่อมผู้ประกอบการรายย่อยร้านค้าถุงเงิน 1.8 ล้านร้านค้า และห้างสรรพสินค้าชั้นนำ รวมถึงร้านค้าพาร์ทเนอร์ทั่วประเทศกว่า 30,000 แห่ง
3.การวิวัฒน์ของ Sustainable
สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการขยายความร่วมมือสร้าง Green Partnership และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยให้เข้าถึงความรู้ สร้างภูมิคุ้มกันดิจิทัล และทักษะเพื่ออนาคต ผ่าน Academy for Thais
สมชัย อธิบายต่อถึงความตั้งใจในการสร้างการวิวัฒน์เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของประเทศว่า “เพราะโลกในยุคปัจจุบันธุรกิจไม่สามารถใช้ตัวชี้วัดด้านผลกำไรมาบอกถึงความสำเร็จได้แต่เพียงด้านเดียว แต่องค์กรต้องมีส่วนร่วมในการดูแล เศรษฐกิจ ผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กัน ตามหลักของ SDGs ดังนั้นนอกเหนือจากการนำดิจิทัลเข้ามาสร้างการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมแล้ว เรายังส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยให้มีทักษะและเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพผ่านภารกิจ AIS อุ่นใจ CYBER นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบจากภัยไซเบอร์ที่เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบในปัจจุบัน ผ่านหลักสูตรการเรียนรู้อุ่นใจไซเบอร์ 4P ที่มีผู้เรียนแล้วกว่า 300,000 ราย”
“สำหรับด้านสิ่งแวดล้อม เรามุ่งสร้าง Green Network ผ่านการบริหารจัดการด้วยนวัตกรรม อย่างการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในสถานีฐานเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งานของลูกค้า หรือแม้แต่การเพิ่มสัดส่วนของการใช้พลังงานหมุนเวียนจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และในอีกด้านที่ดำเนินการควบคู่กันอย่างเข้มข้นคือ ชวนให้คนไทยมีส่วนร่วมในภารกิจนี้ด้วยการปลูกจิตสำนึกและการตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ตามเป้าหมายในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแบบปราศจากการฝังกลบหรือ Zero e-waste to landfill โดยเราพร้อมเป็น HUB of e-waste ที่จะเป็นแกนกลางรวมทุกภาคส่วนมาร่วมกัน ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืน”
สมชัย กล่าวย้ำในช่วงท้ายว่า “เราตระหนักดีว่า บทบาทหลักของ AIS นอกจากสร้างมาตรฐานทั้งมิติของสินค้า บริการ นวัตกรรม และการดูแลลูกค้าอย่างเป็นเลิศแล้ว เรายังมีภารกิจในการสนับสนุนการเดินหน้าของประเทศ สู่การเป็น Sustainable Nation ซึ่งพนักงาน AIS ทุกคน พร้อมอย่างยิ่งที่จะทุ่มเทและทำให้ภารกิจนี้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”