บริษัท การบินกรุงเทพ หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) กางแผนติดปีกศักยภาพธุรกิจการบิน หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวไทยพลิกฟื้นพร้อมเดินหน้าเสริมทัพพันธมิตรทางธุรกิจรับอุปสงค์การท่องเที่ยว ตั้งเป้ารายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท และยอดผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน ภายในสิ้นปี 2567 นี้ พร้อมตอกย้ำนโยบายสู่การเป็นสายการบินยั่งยืน
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลกและการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) ได้มีการสรุปรายได้สายการบินทั่วโลกปี 2566 อยู่ที่ 107% ของปี 2562 (ปีก่อนสถานการณ์โควิด) และคาดการณ์ว่าในระดับอุตสาหกรรมการบินโลกและระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นกลับมาในปี 2567 ซึ่งถือเป็นภูมิภาคที่มีการคาดการณ์อัตราการเติบโตสูงสุด โดยจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 2,536 ล้านคนจากปี 2567 – 2583 สำหรับประเทศไทย จากสถิติผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินในประเทศทั้งหมด ในปี 2566 จะอยู่ที่ 74% ของปี 2562 โดยการเดินทางภายใน ประเทศอยู่ที่ 80% และการเดินทางระหว่างประเทศอยู่ที่ 68% ของปี 2562 โดยมีปัจจัยที่สำคัญซึ่งเป็นแรงผลักดันจากภาครัฐบาล อาทิ การยกเว้นวีซ่าให้กับบางสัญชาติ การส่งเสริมการเที่ยวเมืองรอง การท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มในไทย เป็นต้น
พุฒิพงศ์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายการดำเนินงานของสายการบินบางกอกแอร์เวย์สในปี 2567 บริษัทฯ คาดการณ์จำนวนเที่ยวบิน 48,000 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (%Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 85% จำนวนผู้โดยสาร 4.5 ล้านคน และรายได้ผู้โดยสาร (Passenger Revenue) 17,800 ล้านบาท ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยวบินประมาณ 3,900 บาทต่อที่นั่ง ทั้งนี้ มีแนวโน้มการสำรองที่นั่งล่วงหน้าในปี 2567 พบว่าเติบโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 14% โดยมีสัดส่วนตามกลุ่มเส้นทางได้แก่ กลุ่มเส้นทางสมุย 63% กลุ่มเส้นทางภายในประเทศ 28% กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV 8% และเส้นทางต่างประเทศ 1%
โดยปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สให้บริการเที่ยวบินสู่ 20 จุดหมายปลายทาง ประกอบด้วยภายในประเทศ 12 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิและดอนเมือง) เกาะสมุย เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ ตราด ลำปาง แม่ฮ่องสอน สุโขทัย หาดใหญ่ อู่ตะเภา และจุดหมายปลายทางต่างประเทศ 8 แห่ง ได้แก่ มัลดีฟส์ สิงคโปร์ เสียมเรียบ พนมเปญ หลวงพระบาง ฮ่องกง เฉิงตู ฉงชิ่ง โดยเส้นทางบิน “สมุย – ฉงชิ่ง” และ “สมุย – เฉิงตู” เป็นเส้นทางบินที่กลับมาเปิดให้บริการล่าสุด ในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เฉลี่ย 2 – 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน
ทั้งนี้ บางกอกแอร์เวย์ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เครือข่ายความร่วมมือกับกลุ่มพันธมิตรสายการบิน โดยปัจจุบันมีสายการบินพันธมิตร (Codeshare Partners) รวมทั้งสิ้นจำนวน 28 สายการบิน และมีสายการบินข้อตกลงร่วม (Interline Partners) กว่า 70 สายการบิน สำหรับปีนี้ บริษัทมีแผนข้อตกลงความร่วมมือกับสายการบินเพิ่มเติมประมาณ 2 สายการบิน เพื่อส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเส้นทางบิน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสาร รวมทั้งรองรับอุปสงค์การเดินทางระหว่างประเทศ พร้อมกันนี้ ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการฝูงบินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำหรับปี 2567 นี้ บริษัทฯ คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนเครื่องบินรวมทั้งสิ้นรวม 25 ลำในฝูงบิน” นายพุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เพื่อกระตุ้นการเดินทางทั้งเส้นทางในประเทศและระหว่างประเทศ บริษัทยังได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการขายโดยมีไฮไลท์โปรโมชั่นที่น่าสนใจซึ่งสามารถติดตามโปรโมชั่นพิเศษได้ตลอดทั้งปี และมีแผนการปรับโฉมเว็บไซต์การจำหน่ายบัตรโดยสารของบางกอกแอร์เวย์ส เพื่อรองรับการหาข้อมูลและการสำรองที่นั่งผ่านอุปกรณ์มือถือ โดยจะเริ่มเปิดใช้งานช่วงกลางปี 2567
พุฒิพงศ์ กล่าวถึงนโยบายด้านความยั่งยืนของบริษัทฯ ว่า สายการบินบางกอกแอร์เวย์สยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อเป็นสายการบินยั่งยืน โดยยึดหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับความใส่ใจในสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปี 2567 นี้ บริษัทฯ เดินหน้าในนโยบาย ESG ในทุกกระบวนทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น แคมเปญด้านสิ่งแวดล้อม “Low Carbon Skies by Bangkok Airways” ซึ่งมีแผนดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร การจัดการของเสียและเพิ่มมูลค่า (from “Waste” to “Value”) การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และพลังงานทางเลือก สำหรับความยั่งยืนด้านสังคมและธรรมาภิบาล บริษัทฯ ให้ความสำคัญในหลายมิติ เช่น การส่งเสริมวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยทั่วทั้งองค์กร การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน การดำเนินธุรกิจอย่างมี ธรรมาภิบาล การส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ การบริหารประสบการณ์ลูกค้า
ด้าน อนวัช ลีละวัฒน์วัฒนา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายงานการเงินและบัญชี บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำหรับผลการดำเนินการด้านการเงินของปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้ต่อหน่วยจากการผลิตด้านผู้โดยสาร (Revenue per ASK: RASK) ที่ 5.41 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดอยู่ที่ 5.14 บาท จึงมีสัดส่วนกำไร เท่ากับ 0.27 บาท ทั้งนี้ บริษัทฯ มีส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายหลักได้แก่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงเครื่องบิน เงินเดือนพนักงานและผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงค่าบริการผู้โดยสารของบางกอกแอร์เวย์สที่มีการให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส
ภาพรวมผลกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทฯ ในปี 2566 เท่ากับ 4,782 ล้านบาท และ EBITDA Margin เท่ากับ 23% ทั้งนี้ บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 3,108 ล้านบาทบนงบการเงินรวม โดยสำหรับด้านอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัท ในปี 2566 นี้ปรับลดลงที่ 2.4 เท่า
อนวัช กล่าวต่อว่า หนึ่งในโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ สำหรับปี 2567 นี้คือการดำเนินงานของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินที่มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนเที่ยวบินที่เข้ามายังสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด (Bangkok Air Catering: BAC) โดยจากปี 2566 มีจำนวนลูกค้าสายการบิน 23 ราย มีรายได้ในระดับ 81 % ของปี 2562 จากช่วงก่อนโควิด-19 และบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) มีจำนวนลูกค้าสายการบินทั้งหมด 90 ราย และมีรายได้อยู่ในระดับ 93% จากปี 2562 ในขณะที่บริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์ไก้ จำกัด (BFS Cargo) มีลูกค้าสายการบิน รวม 86 สายการบิน
ด้าน อมรรัตน์ คงสวัสดิ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายขายและรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2567 นี้บางกอกแอร์เวย์สวางสัดส่วนของช่องทางการขาย เป็นทางเว็บไซต์ 30 % และช่องทางอื่นๆ 70 % (BSP Agent, Online Travel Agent, Call Center, Etc.) ซึ่งจะมาจากต่างประเทศ 57% โดยวางแผนขยายการขายเชิงรุกสำหรับตลาดต่างประเทศ โดยการขยาย GSA เพื่อครอบคลุมโอกาสการขายไปยังกลุ่มตลาดใหม่ อาทิ เอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ในประเทศซาอุดิอารเบีย ละตินอเมริกา และตุรกี โดยปัจจุบันมี GSA รวมทั้งสิ้น 26 สำนักงานทั่วโลก
อมรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทยังได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการขายผ่านทางเว็บไซต์และช่องทางออมนิชาแนลของบางกอกแอร์เวย์ส อาทิ โปรโมชั่นพิเศษเฉพาะช่วงเทศกาล โปรโมชั่นดับเบิ้ลเดท บัตรโดยสารราคาพิเศษเพื่อขานรับกระแสการท่องเที่ยวในช่วงเวลาต่าง ๆ รวมถึงการดำเนินกลยุทธ์ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เพื่อส่งมอบความคุ้มค่าให้กับผู้โดยสารในทุกการเดินทาง เช่น กลุ่มธนาคาร บัตรเครดิต ธุรกิจโรงแรม ห้างสรรพสินค้าชั้นนำ
อีกทั้งยังได้ดำเนินกลยุทธ์การสื่อสารและแคมเปญการตลาดเพื่อปลุกสีสันการท่องเที่ยวให้คึกคักตลอดปี 2567 ผ่านแนวคิด “Redefine Boutique Experience” เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่มีหลากหลายไลฟ์สไตล์ โดยมุ่งเน้นการสร้างความประทับใจผ่านกิจกรรม และประสบการณ์ใหม่ ๆ พร้อมดึงแบรนด์แอมบาสเดอร์ “ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์” มาร่วมถ่ายทอดการบริการที่สร้างความประทับใจ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 และสายการบินฯ จัดเตรียมกิจกรรมต่างๆตลอดทั้งปี อาทิ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬาแคมเปญ “Bangkok Airways Boutique Series 2024” พร้อมจับมือพันธมิตรในหลากหลายธุรกิจเสริมความแกร่งตอบสนองการให้บริการ รวมถึงมอบความพิเศษและสิทธิประโยชน์แก่ผู้โดยสาร สร้างประสบการณ์ ความแปลกใหม่ตั้งแต่ในบูทีคเลานจ์ จนถึงสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อให้ตรงใจกับผู้เดินทางกับเรา อมรรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม