บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส (BA) ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2566 ชี้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินโลกและการท่องเที่ยวในประเทศไทย หนุนรายได้รวมเท่ากับ 4,964.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 97 กำไรสุทธิสำหรับงวด 666.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 178 พร้อมเผยรายได้รวมบริษัทครึ่งปีแรกปี 2566 เท่ากับ 10,704.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 156 มีผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,546.2 ล้านบาท ให้บริการผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 2 ล้านคน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 81.4
พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินโลก ในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 ยังคงเป็นไปในทิศทางบวก สายการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราของปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเติบโตมากที่สุด โดยมีตัวแปรสำคัญจากการเปิดประเทศของจีน และภาคการท่องเที่ยวในประเทศไทย ในช่วงครึ่งปีแรก ปี 2566 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก ปี 2565
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ บริษัทฯ มีกำไรจากการดำเนินงานเท่ากับ 791.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 280 เมื่อเทียบกับปี 2565 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจการบิน และรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบินเป็นหลัก และมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 995.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 31 ส่วนใหญ่มาจากต้นทุนจากการขายและบริการที่เพิ่มสูงขึ้นอาทิ น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าบริการผู้โดยสาร
โดยผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2566 บริษัทฯ มีกำไรจากการผลการดำเนินงาน 2,022.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 259 และผลกำไรสุทธิสำหรับงวด 1,546.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกำไรส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 1,544.8 ล้านบาท และมีผลกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 0.74 บาท
พุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 บริษัทฯ ได้ให้บริการผู้โดยสารรวมแล้วกว่า 2 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 123 เทียบกับปี 2565 โดยผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากจุดขายบัตรโดยสาร (Point-of-Sale) ผ่านเว็บไซต์และระบบเชื่อมต่อตรงกับบริษัทฯ คิดเป็นร้อยละ 47.7 และ มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 81.4
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 2 บริษัทฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินที่ให้บริการให้เหมาะสมกับความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยว โดยเน้นให้บริการเส้นทางบินที่รองรับผู้โดยสารต่างประเทศที่เดินทางมาจากสายการบินพันธมิตรเป็นหลัก เช่น กรุงเทพฯ -สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ต กรุงเทพ-เชียงใหม่ สมุย-สิงคโปร์ และกรุงเทพ-พนมเปญ ซึ่งในภาพรวมของไตรมาสนี้ บริษัทฯ ได้ขนส่งผู้โดยสารจำนวน 0.9 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 75.2
ด้านโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญจากรายงานการเปลี่ยนแปลงช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ที่ผ่านมาพบว่ามีแนวโน้มการเติบโตของบริษัทภายใต้การบริหารในเครือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้แก่ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟลท์เซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) ซึ่งมีจำนวนสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น 10 สายการบินเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ส่งผลให้มีจำนวนสายการบินลูกค้าที่ให้บริการด้านอุปกรณ์ภาคพื้นดิน รวม จำนวน 84 สายการบิน และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG Cargo) มีจำนวนสายการบินลูกค้าเพิ่มขึ้น 6 สายการบิน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 คิดเป็นสายการบินลูกค้าที่ให้บริการด้านคลังสินค้าระหว่างประเทศ ณ ปัจจุบัน จำนวน 77 สายการบิน
สายการบินฯ ยังคงเน้นย้ำมาตรฐานการให้บริการที่ใส่ใจถึงทุกรายละเอียด และปฏิบัติตามมาตรฐานการบินสากล โดยเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ได้รับการโหวตจากผู้โดยสารทั่วโลกให้เป็น “สายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในโลก ” และ “สายการบินระดับภูมิภาคที่ดีที่สุดในเอเชีย” ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 ปี และได้รับการจัดอันดับให้เป็นสายการบินที่ดีที่สุดในโลกอันดับที่ 29 ประจำปี 2566 (Top 100 Airlines 2023) นอกจากนี้ สายการบินฯ ยังมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเป้าหมายสู่พันธกิจ
“Fly Net Zero Carbon by 2050” หรือคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในอีก 27 ปีข้างหน้า ในการรักษาระดับปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิของภาคการบินโลก ภายใต้นโยบายด้านความยั่งยืน ไปจนถึงแผนการใช้น้ำมันอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพของสายการบินฯ” พุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม