บ้านโป่งทาปิโอก้า จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทนวัตกรรม

บ้านโป่งทาปิโอก้า จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทนวัตกรรม

บ้านโป่งทาปิโอก้า (Banpong Tapioca) เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจดั้งเดิมที่ทำมา 50 ปี (ก่อตั้งปี 1973) อย่างต่อเนื่อง อัดงบลงทุนกว่า 800 ล้านบาทในปี 2017 เปลี่ยนจากผลิตแป้งมันสำปะหลัง เป็น Texture House Company ให้บริการ Texture Solution ส่งออกสินค้าไปมากกว่า 21 ประเทศ ทำรายได้เติบโตก้าวกระโดด

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นครัวโลก เป็นประเทศที่ส่งออกอาหารจำนวนมาก มีมูลค่าส่งออกรวมถึง 33 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่มันสำปะหลัง เป็น 1 ในสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมา 40 ปี มียอดส่งออกอยู่เกือบ 1 แสนล้านบาท

ไทยยูเนี่ยน รายงานกำไรสุทธิ 1 พันล้านไตรมาสแรกปี 66 หลังเรด ล็อบสเตอร์พลิกฟื้นทำกำไร

แต่ปัจจุบัน ลูกค้าไม่ได้ต้องการเพียงวัตถุดิบจากมันสำปะหลังอย่างเดียว ต้องการสินค้าที่ผ่านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ใช้วัตถุดิบเข้ามาช่วยเรื่องเนื้อสัมผัสมากขึ้น นวัตกรรม Food texture Solution จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

R&D หัวใจหลักการทรานส์ฟอร์ม

บ้านโป่งทาปิโอก้า เห็นโอกาสของธุรกิจ จึงเดินหน้าทุ่มลงทุนกว่า 800 ล้านบาทในปี 2017 เปลี่ยนโรงงานมันสำปะหลังเดิมให้เป็น Food texture Facilities ที่ทำงานแบบ Fully Automate เดินหน้าวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์แป้งนวัตกรรมสำเร็จรูป

“เราจะคิดและทำแบบเดิมเดิม เหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ บริษัทจึงเริ่มต้น Disrupt ธุรกิจตัวเอง โดยตัดสินใจลงทุนด้านเทคโนโลยีและสร้างโรงงานใหม่เพื่อเริ่มต้นผลิตแป้งสำหรับ Food Texture Solution ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนของบริษัท” ประสิทธิ์ สุขสมิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทรานส์ฟอร์มบริษัท

ปัจจุบันบ้านโป่งทาปิโอก้าใช้ทีมวิจัยและพัฒนามากถึง 45 คน คิดค้นและพัฒนาสินค้าใหม่ๆ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับหน่วยงานอย่าง สวทช. เพื่อคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆ โดยใช้งบประมาณ R&D ที่ 2% ของรายได้ต่อปีหมายความว่างบ R&D จะเพิ่มขึ้นหากรายได้ต่อปีเพิ่มขึ้น (ในปี 2023 ใช้งบ R&D 34 ล้านบาท จากรายได้ 1,700 ล้านบาท ในปี 2022)

บ้านโป่งทาปิโอก้า จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทนวัตกรรม

เดินหน้าสู่รายได้ 4,000 ล้านใน 4 ปี

และจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังปรับธุรกิจของบ้านโป่งทาปิโอก้า ทำให้บริษัทตั้งเป้าหมายเติบโตที่ 2,000 ล้านบาทในปีนี้ และ 4,000 ล้านบาท ภายในปี 2027

หากย้อนกลับไปก่อนการทรานส์ฟอร์มธุรกิจ บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้านั้นมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 900 กว่าล้านบาทมาตลอด จนกระทั่งปี 2019 (2 ปีหลังปรับธุรกิจ) เป็นปีแรกที่รายได้ขยับทะลุ 1 พันล้าน และหลังจากนั้นก็เติบโตขึ้นทุกปี จนกระทั่งปี 2022 ที่ผ่านมามีรายได้ถึง 1,763 ล้านบาท

“ในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เราเติบโตอย่างก้าวกระโดด ยอดขายรวมในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาก สูงกว่าการดำเนินธุรกิจในช่วง 30 ปี แรกของบริษัท ซึ่งเป็นผลมาจากมูลค่าของสินค้าที่ขายนั้นเพิ่มขึ้นจากการขายแป้งมันแบบดังเดิมหลายเท่าตัว” นายแพทย์สมิทธิ์ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานนวัตกรรม บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าว

หากดูสัดส่วนรายได้ปัจจุบันจะพบว่า ธุรกิจดั้งเดิมของบ้านโป่งทาปิโอก้านั้นเหลือสัดส่วนเพียงแค่ 17% เท่านั้น ส่วนรายได้อีกประมาณ 80% นั้นมาจากนวัตกรรมทั้งแบบ Basic Modified และ  Texture Solution นอกจากนั้นยังมีธุรกิจใหม่อย่าง Nutrition/Lifestyle ที่เริ่มมีสัดส่วนรายได้มา 1.7%

มีรายได้จากการส่งออกมากถึง 70% มีลูกค้า 200 รายใน 21 ประเทศทั่วโลก โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ที่ ตุรกี และยุโรปมากสุด

AgTech ช่วยชาวไร่สร้างผลผลิต

ไม่เพียงแต่นวัตกรรมด้านการผลิตที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของบ้านโป่งทาปิโอก้า บริษัทยังให้ความสำคัญกับต้นน้ำอย่างการปลูกมันสำปะหลังของชาวไร่ โดยนำเทคโนโลยีการเกษตร หรือ AgTech เข้ามาช่วยให้ชาวไร่ปลูกมันสำปะหลังได้ผลผลิตออกมาดีที่สุด

สร้าง Data ที่วิเคราะห์ผลผลิตได้ โดยให้ชาวไร่ส่งข้อมูลพื้นฐานเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นขนาดพื้นที่ วันที่เพาะปลูก การให้ปุ๋ย และยังใช้ข้อมูลดาวเทียมวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่ ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดทำให้รู้ว่าควรจะขุดมันสำปะหลังวันไหนถึงจะได้ผลผลิตที่ดีที่สุด แต่ละวันจะได้ผลผลิตเท่าไร และยังช่วยปิดจุดอ่อนของมันสำปะหลังที่ต้องการความสด เก็บได้ไม่เกิน 3 วัน อีกด้วย

บ้านโป่งทาปิโอก้า จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง สู่บริษัทนวัตกรรม

สร้าง Value ใหม่ ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์

หลังจากประสบความสำเร็จกับนวัตกรรมแป้งที่นำไปประกอบอาหาร บ้านโป่งทาปิโอก้ายังเล็งเห็นถึงการขยายธุรกิจด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างมูลค่าให้สินค้ามากกว่าการเพิ่มกำลังการผลิต เช่น การนำแป้งมันสำปะหลังมาพัฒนาเป็นทรายแมว อาหารสำหรับเลี้ยงแมลง หรือพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์

ปริญญ์ สุขสมิทธิ์ ผู้จัดการส่วนงานพัฒนาธุรกิจ บริษัทบ้านโบ่งทาปิโอก้า จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 กล่าวว่า “สิ่งที่ทำมาตลอดระยะเวลา 8 ปี คือการเพิ่มองค์ความรู้ให้กับทีม ให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องแป้ง ด้านโครงสร้างของคาร์โบไฮเดรตอย่างลึกซึ้ง สามารถออกแบบโจทย์เพื่อแก้ปัญหากับลูกค้าได้ ซึ่งการเปิดสำนักงานในกรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อรองรับการทำงานร่วมกับลูกค้าทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ โดยสำนักงานในกรุงเทพฯ จะเป็นศูนย์กลางการให้บริการ ที่ตั้งของแลปวิจัย และสถานที่ทำเวิร์กช็อป ระหว่างบริษัทกับลูกค้าทั่วโลก”

BCG หัวใจสำคัญของความยั่งยืนทางธุรกิจ

แน่นอนว่าในยุคนี้จะทำธุรกิจโดยคำนึงถึงผลประกอบการอย่างเดียวไม่ได้ บริษัทบ้านโบ่งทาปิโอก้าจึงให้ความสำคัญกับด้าน BCG เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของการทำธุรกิจ เพื่อให้ทุกฝ่ายที่อยู่ในซัพพลายเชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

“เราให้ความสำคัญกับการผลิตที่คำนึงถึงความยั่งยืนตามหลักของ BCG Model จะเห็นได้ว่าในกระบวนการแปรรูปมันสำปะหลังของบริษัทไม่มีส่วนใดที่เหลือทิ้งเลย ทุกส่วนของมันสำปะหลังนำมาใช้หมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจภายในชุมชนและบางส่วนก็แปลงกลับมาเป็นรายได้ให้กับบริษัท” กิตติ สุขสมิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายซัพพลายเชน บริษัทบ้านโป่งทาปิโอก้า จำกัด กล่าว

ที่ผ่านมา บ้านโบ่งทาปิโอก้า ได้ทำทั้งด้าน Zero-Waste Manufacturing โดยใช้ประโยชน์จากผลและเปลือกของมันสำปะหลังทำให้ไม่เหลือของเสียออกจากภาคการผลิต เช่น ใช้ประโยชน์จากน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ส่วนกากมันสำปะหลังขายเพื่อเป็นอาหารสัตว์ หรือแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรนำไปเพาะเห็ด ทำให้บริษัทมีรายได้จากการนำของเหลือใช้ไปเพิ่มมูลค่าปีละประมาณ 2-3% ของยอดขาย

นอกจากนั้นยังขาย Carbon Credit ปีละกว่า 1 ล้านบาท มานานกว่า 10 ปี

Scroll to Top