บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ประกาศเข้าลงทุนใน บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด (GMVPI) บริษัทที่ปรึกษาด้านระบบ SAP ผ่านการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 จากผู้ถือหุ้นเดิม ซึ่งการลงทุนครั้งนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพและขยายขอบเขตการให้บริการที่ปรึกษาระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP ไปยังกลุ่มลูกค้าที่ใช้ SAP ในการบริหารจัดการองค์กร หวังเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันสู่การเป็นที่ปรึกษาชั้นนำระดับภูมิภาค
พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเข้าลงทุนในบริษัท จีเอ็มวีพาย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญระดับสูงในระบบ SAP จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับบลูบิคสู่การเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation อย่างครบวงจร ช่วยขยายฐานลูกค้าของ บลูบิคไปยังกลุ่มองค์กรที่ใช้ระบบ SAP ในการบริหารจัดการภายใน ซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่พร้อมลงทุนในด้านนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงต่อยอดสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ บนระบบ SAP
–ตลาดยาปี 65 ยังโต 3-5% แม้สัญญาณโควิดดีขึ้น
–แสนสิริ ประกาศพันธกิจ “Zero Dropout” ออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท สนับสนุนกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
“ท่ามกลางกระแส Digital Transformation หลายองค์กรต่างให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาขับเคลื่อนกระบวนการทางธุรกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งระบบ SAP เองก็ถือว่าเป็นระบบที่มีเสถียรภาพสูงและได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำมากมายในการนำมาใช้บริหารจัดการองค์กร บริษัทจึงตัดสินใจเข้าลงทุนใน จีเอ็มวีพาย และเชื่อว่าความเชี่ยวชาญของ จีเอ็มวีพาย จะสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับทางบลูบิค” พชร กล่าว
การเข้าซื้อหุ้นของจีเอ็มวีพายในสัดส่วนร้อยละ 80 คิดเป็นมูลค่า 20 ล้านบาทในครั้งนี้ บลูบิคเชื่อว่านอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ ยังเป็นการเสริมศักยภาพการเติบโตให้กับจีเอ็มวีพายในระยะยาว อีกทั้งจีเอ็มวีพายและบลูบิคยังมีแผนในการนำจุดแข็งของทั้งสององค์กรมาร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชันใหม่ๆ บนระบบ SAP เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุค Digital Transformation ให้มากขึ้นอีกด้วย
บลูบิคเชื่อมั่นว่าแนวโน้มตลาด SAP ในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิกยังคงมีการเติบโตอีกมาก เนื่องจากการทำ Digital Transformation เป็นสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญ จึงมองหาระบบ ERP เพื่อนำมาบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะระบบ SAP ถือเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ที่องค์กรให้ความสนใจ อีกทั้งกลุ่มองค์กรที่ปัจจุบันใช้งานระบบ SAP อยู่แล้วต่างเร่งอัปเกรดระบบให้มีความทันสมัยมากขึ้น จึงเชื่อว่าในอนาคตจะมีลูกค้าที่ต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับระบบ SAP เข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ด้าน วรัทย์ ไล้ทอง กรรมการผู้จัดการ และ ผู้ก่อตั้ง บริษัท จีเอ็มวีพาย จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ดำเนินกิจการ บริษัทได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่จำนวนมากในการออกแบบและพัฒนาโซลูชันเพื่อการทำงานบนระบบ SAP และวันนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของบริษัท ที่มีโอกาสเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบลูบิค ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านการให้บริการของจีเอ็มวีพาย รวมถึงช่วยขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ในหลากหลายภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ บริษัท จีเอ็มวีพาย ก่อตั้งในปี 2560 ให้บริการที่ปรึกษาด้านระบบ SAP อย่างครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบกระบวนการทำงานบนระบบ SAP (SAP Business Process Flow Design) การติดตั้งระบบ SAP (SAP Implementation) การออกแบบและพัฒนาโปรแกรมบนระบบ SAP ( SAP Customization and Enhancement) การให้ความช่วยเหลือและดูแลรักษาระบบ SAP (SAP Support and Maintenance) ตลอดจนการจัดฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบ SAP (SAP Training) โดยจุดแข็งของจีเอ็มวีพายที่มีความแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่น คือการออกแบบและพัฒนาระบบ SAP โดยเน้นการทำ Customization และ Enhancement เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและอำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด
จีเอ็มวีพาย ยังถือเป็นบริษัทแรกที่สามารถพัฒนาโซลูชันการเชื่อมต่อระบบ SAP เข้ากับแพลตฟอร์มของ LINE ได้สำเร็จ ซึ่งโซลูชันดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถทำงานบนระบบ SAP ผ่านแอปพลิเคชัน LINE ได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัย จึงทำให้ จีเอ็มวีพาย กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญระบบ SAP ที่ได้รับเลือกให้เป็น Developer Partner จาก LINE ประเทศไทย และยังคงร่วมงานกันอย่างต่อเนื่องจวบจนปัจจุบัน
กระแส Digital Transformation เป็นปัจจัยหนุนให้บลูบิคมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลประกอบการตลอด 9 เดือนแรกของปี 2564 บลูบิคมีรายได้รวม 197.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.32% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 45.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40.32% ส่วนในปี 2565 บริษัทฯ มีการวางเป้าหมายทำรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้บริการไม่ต่ำกว่า 30% ผ่านการขยายตัวของบริการหลักเกือบทุกกลุ่ม ได้แก่
บริการที่ปรึกษาด้านการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงด้วยปัญญาประดิษฐ์ (Big Data & Advanced Analytics) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลแก่องค์กร บริการพัฒนาระบบดิจิทัลและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี (Digital Excellence and Delivery) บริการให้คำปรึกษาด้านกลยุทธ์และการจัดการ (Management Consulting) รวมถึงมุ่งสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากบริการที่ปรึกษาการบริหารจัดการโครงการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic PMO) และบริการใหม่ คือ ที่ปรึกษาด้านการปรับกระบวนการทำการตลาดด้วยเทคโนโลยีและการวางกลยุทธ์การตลาดครบวงจร (Marketing Transformation & Marketing Strategy)