BPP ครึ่งแรกปี 2567 กำไรสุทธิ 1,659 ล้าน รุกคืบธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ และจีน

BPP ครึ่งแรกปี 2567 กำไรสุทธิ 1,659 ล้าน รุกคืบธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ และจีน

บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เผยผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก ปี 2567 เป็นที่น่าพอใจ โดยบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวม 4,030 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 995 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน* พร้อมเริ่มต้นธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในสหรัฐฯ ด้วยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar มีกำหนดเริ่มดำเนินการเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งยังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Gemeng International Energy เพื่อขยายการเติบโตของพลังงานสะอาดในจีน

อิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า“โรงไฟฟ้าของ BPP สามารถรักษาเสถียรภาพการผลิตและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างมั่นคง ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตพลังงานที่ยั่งยืน ผ่านการขยายพอร์ตให้ครอบคลุมมากไปกว่าการเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ตามแนวทาง ‘Beyond Megawatts Portfolio’ ทั้งการขยายกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) และการพัฒนาธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System: BESS)”

ภาพรวมครึ่งปีแรก BPP มีผลการดำเนินงานที่ดี ส่วนสำคัญเกิดจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นของโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา รวมถึงการรับรู้รายได้จากการเดินเครื่องที่มีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องของโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย อีกทั้งโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนยังรายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากการบริหารต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ

*หมายเหตุ: เทียบกับ EBITDA ที่ไม่รวมกำไรจากการวัดมูลค่าเงินลงทุนใหม่ในปี 2566

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนสิงหาคม 2567 นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการขยายธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของ BPP ในสหรัฐฯ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ BPP ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน

ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานซึ่ง BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์ 

“BPP จะยังคงเดินหน้าขยายกำลังผลิตไฟฟ้าคุณภาพจากโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพสูงในการผลิตและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่มั่นคง และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต สะท้อนให้เห็นว่า เราคือพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจโดยยึดหลัก ESG ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ที่มุ่งส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม” อิศรา กล่าวปิดท้าย

เปิดตัว “EnergyLIB” ปฏิวัติอุตฯโซลาร์เซลล์ ด้วยรูปแบบออลอินวัน พร้อมช่วยลดค่าไฟสูงสุด 70% ใช้ไฟได้ทั้งกลางวันและกลางคืน

Scroll to Top