ซีพีแรม (CPRAM) เปิดตัวโรงงานผลิตขนมปังแผ่นแห่งใหม่ ใน จ.ชลบุรี ดึงโรบอทเข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพขนมปังให้ได้มาตรฐานทุกแผ่น พร้อมเดินหน้าขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 2.4 ล้านแผ่น ชี้ความต้องการขนมปังในไทยยังมีอีกมาก ย้ำไม่มีนโยบายขึ้นราคาในช่วงนี้
หนึ่งในโรงงานผลิตขนมปังที่ไฮเทคที่สุด
วิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด กล่าวว่า โรงงานผลิตขนมปังแห่งใหม่ใน จ.ชลบุรี ใช้งบการลงทุนทั้งหมดประมาณ 2,000 ล้านบาท ถือเป็นสายการผลิตขนมปังที่ที่ใหญ่และมีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของซีพีแรม ดึงโรโบทเข้ามาทำงานในสายการผลิต ลดการทำงานที่ต้องทำซ้ำๆ งานที่ต้องการความแม่นยำ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและความรวดเร็วในการผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟ ขนาดรวม 2 เมกะวัตต์ เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยก๊าชเรือนกระจก
สำหรับกำลังการผลิตในโรงงานใหม่แห่งนี้ มีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 2.4 ล้านแผ่นต่อวัน ซึ่งหากรวมกับโรงงานในกรุงเทพฯ ที่ลาดกระบังอีก 2 ล้านแผ่นต่อวัน ก็จะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 4.4 ล้านแผ่นต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการส่งไปขายทั่วประเทศ
มองตลาดอาหารกระทบน้อยจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว พร้อมชี้ไม่มีนโยบายขึ้นราคา
จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงนี้ ส่งผลกับกำลังซื้อในประเทศ ในมุมของซีรีแรม คุณวิเศษ มองว่า ถึงแม้เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี อาหารยังเป็นสิ่งที่คนต้องบริโภคอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่แน่นอนว่าผู้บริโภคจะต้องเซฟเงินในกระเป๋ามากขึ้น เลือกทานให้อิ่มในราคาที่ไม่แพง สิ่งสำคัญคือซีพีแรมจะทำอย่างไรให้สินค้าตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าในสภาวะแบบนี้
ซึ่งนอกเหนือจากการทำราคาให้คนกลุ่มใหญ่เข้าถึงได้ เพราะการขายสินค้าให้กับมวลชนการตั้งราคาจะต้องสมเหตุสมผล นอกจากนี้ยังต้องมองเรื่องคุณภาพ และความปลอดภัยในด้านอาหาร (Food Safety) ลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปจะต้องได้รับโภชนาการที่ดีควบคู่ไปกับความอร่อย
สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาดขนมปัง ซีพีแรมมองว่าจะชิงส่วนแบ่งให้ได้ 1 ใน 5 จากตลาดรวม 40,000 ล้านบาท หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท โดยการเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงงานใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการส่งสินค้าไปสู่ผู้บริโภคทั่วประเทศ ส่วนช่องทางการจัดจำหน่ายยังอยู่ใน 7-Eleven เป็นหลัก ถึงแม้ Lotus’s และ Makro จะเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือเดียวกันก็ตาม
ด้านราคาสินค้าที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยผู้บริโภคส่วนมากเป็นกังวลกันในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คุณวิเศษ ตอบในประเด็นนี้ว่า การขึ้นหรือลงของราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเป็นเรื่องปกติ ซึ่งการผลิตขนมปังวัตถุดิบหลักคือแป้งสาลีซึ่งต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาในช่วงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนก็เกิดการขาดแคลนแป้งสาลีไประยะหนึ่ง แต่พอผู้ผลิตเริ่มปรับตัวได้ หาแหล่งวัตถุดิบเข้ามาทดแทนได้ ราคาก็กลับมาสู่ภาวะปกติ สำหรับซีพีแรมมีการบริหารซัพพลายเชนโดยการซื้อขายล่วงหน้าเพื่อการันตีราคาวัตถุดิบ เพื่อไม่ให้กระทบกับต้นทุนบริษัท และสุดท้ายปลายทางคือลูกค้าที่ซื้อขนมปัง
แต่หากวันข้างหน้าวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและหลายๆ เจ้าต้องปรับขึ้นราคาขาย เราจะต้องเป็นคนสุดท้ายที่ปรับราคาขึ้น เพราะก่อนจะเลือกปรับราคาบริษัทจะหาวิธีการลดต้นทุนในรูปแบบอื่น เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ซึ่งการที่บริษัทลดต้นทุนได้ดีก็จะส่งผลไปยังผู้บริโภค
อาหารสุขภาพมาแรง เล็งศึกษาเพิ่ม
สำหรับการขยายตลาดขนมปังไปยังกลุ่มอื่นๆ คุณวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้อาหารการกินเป็นแฟชั่น การผลิตขนมปังแผ่น เป็นเพียงต้นทางในการนำไปเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป เช่น แซนด์วิชกระเป๋า (Pocket Sandwich) ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม โดยหลังจากนี้ซีพีแรมยังจะเดินหน้าคิดค้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบหลักจากขนมปังแผ่นเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจคือ ตลาดสุขภาพ ซึ่งเป็นตลาดในอนาคต เพราะวันนี้คนมีความรู้มากขึ้น ต้องการอาหารที่เข้ามาเสริมสุขภาพมากขึ้น เพราะฉะนั้นบริษัทจะต้องออกแบบสินค้ามาเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มนักกีฬา รวมถึงกลุ่มคนสูงวัยที่เริ่มมีมากขึ้น จะทำอย่างไรให้สินค้ามีสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของคนในแต่ละกลุ่ม