Grab เดินหน้าพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ลูกค้า GrabFood ผ่านกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ด้านคุณภาพและความหลากหลาย การสร้างฐานสมาชิก และ การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้า พร้อมเดินหน้าพัฒนาฟีเจอร์ ตอบโจทย์ลูกค้าใน 4 มิติ หรือ “4S”
วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เผยว่า “ตลาดฟู้ดเดลิเวอรีมีมูลค่า 8.6 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงทรงตัวจากการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคหลังสถานการณ์โควิด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ทำให้เรายังคงเห็นการแข่งขันที่เข้มข้นของผู้เล่นรายต่างๆ ในตลาด ที่พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นตลาดอย่างต่อเนื่อง สำหรับแกร็บฟู้ด ในปีนี้เราโฟกัสไปที่ 3 กลยุทธ์หลัก คือ 1.Efficiency หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้า ผ่านการลงทุนในนวัตกรรมและการทำการตลาด 2.Quality & Wide Selection ผ่านการ เพิ่มร้านดัง ร้านอร่อยในย่านให้อยู่ในแอปฯ ให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังเน้นเรื่องความหลากหลายของร้านอาหารให้มากขึ้น ที่ผ่านมาเราภูมิใจกับ Grab ThumbsUp เป็นสัญลักษณ์ของร้านอร่อยที่ได้รับการยืนยันจากผู้ทานจริง และ 3.Loyalty สร้างฐานสมาชิกและความภักดีของผู้ใช้บริการ โดยไม่ได้เน้นว่าจะต้องมีโปรโมชั่นมากมาย แต่จะต้องมีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบัน ผู้ใช้ GrabFood ครึ่งหนึ่ง สมัคร Membership GrabUnlimited”
สำหรับการพัฒนาฟีเจอร์เพื่อเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้บริการ GrabFood ที่ผ่านมา วรฉัตร เปิดเผยว่า Grab ได้ใช้จุดแข็งในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาและปรับปรุงการให้บริการให้สอดคล้องกับข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยมุ่งแก้ปัญหาเพื่อจัดการข้อจำกัดต่างๆ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการใน 4 มิติหลัก หรือ 4S คือ SAVE TIME, SAVE EFFORTS, SAVE COST และ SAVE THE ENVIRONMENT
1.SAVE TIME เข้ามาช่วยลูกค้าประหยัดเวลาในการรอ เพื่อให้ลูกค้าวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยที่ผ่านมาได้พัฒนาฟีเจอร์
–Self-Pick up หรือบริการรับเองที่ร้าน จากผลสำรวจพบว่าลูกค้าจำนวนมาถึง 53% มองหาตัวช่วยการคิวเองโดยที่ไม่ต้องไปยืนรอ ซึ่ง Self Pick-Up เข้ามาตอบโจทย์ ช่วยให้ลูกค้าไม่ต้องยืนต่อคิวกับคนมาซื้อหน้าร้าน สามารถเช็คสเตตัสผ่านแอปฯ และไปรับอาหารได้เลยเมื่อร้านทำเสร็จ หากคิดเป็นจำนวนเวลาที่ Grab ประหยัดให้ลูกค้าได้นั้นมากถึง 16 ล้านนาที โดย 5 สถานที่ยอดนิยมที่คนใช้ Self Pick-Up ได้แก่ สามย่าน มิตรทาวน์, เดอะ ปาร์ค, เอ็มควอเทียร์, เซ็นทรัลเวิลด์ และ สีลม เอดจ์
ซึ่ง 2 ร้านที่ใช้ Self Pick-Up แล้วยอดขายโตถึง 22% คือ Starbucks และ Amazon Cafe ลดเวลาคนต่อคิวไปเกือบ 8 แสนนาที และยัง ลดพลาสติกไป 173,000 ชิ้น
“เราจะเดินหน้าจะขยายบริการ Self Pick-Up กับร้านอาหารให้มากขึ้นหลังจากนี้” วรฉัตร กล่าว
-Order for Later หรือการสั่งอาหารล่วงหน้า เข้ามาแก้ปัญหาคนสั่งอาหารในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน (Peak Hour) สามารถสั่งอาหารล่วงหน้าไว้ก่อนได้ ทำให้ลูกค้ารับอาหารในเวลาที่ตัวเองต้องการ ซึ่งฟีเจอร์นี้ยังรองรับการสั่งข้ามวันได้อีกด้วย
2.SAVE EFFORTS ช่วยให้ลูกค้าไม่เพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้า โดยมีฟีเจอร์เด่นๆ คือ
–Dine-in เป็นบริการล่าสุดที่ Grab เพิ่งเปิดตัวไป ฟีเจอร์นี้เข้ามาช่วยลูกค้าค้นหาร้านอาหารที่อยากไปทาน สามารถเช็คเวลาเปิด-ปิดของร้าน มีรีวิวให้อ่าน มีดีลให้ซื้อ และเชื่อมกับบริการเรียกรถไปส่งถึงที่ร้านได้ หากลูกค้าไม่อยากขับไปเอง จากข้อมูลหลังให้บริการมาประมาณ 2 สัปดาห์พบว่าคนใช้บริการ Dine-in ถึง 65% เริ่มต้นเดินทางไปที่ร้านจากการดูรีวิว
“เราเชื่อว่า Dine-in จะเป็นฟีเจอร์ที่เข้ามาสร้างยอดขายให้ร้านค้ามากกว่าเดิม ซึ่งเราจะคัดสรรร้านอาหารดีๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง”
-Group Order หรือการสั่งอาหารแบบกลุ่ม จากผลสำรวจพบว่า 53% ของพนักงานออฟฟิศต้องการฟีเจอร์ที่ช่วยประหยัดค่าสั่งอาหาร ซึ่งฟีเจอร์ที่เข้ามาตอบโจทย์ของ Group Order คือ กลุ่มเพื่อนสามารถสั่งจากมือถือหลายๆ เครื่องได้ หารค่าส่งกันได้ เพียงแค่แชร์ลิงก์ Group Order ไปให้กับเพื่อนในกลุ่ม และจะเห็นว่าออร์เดอร์ของแต่ละคนที่สั่งมีค่าใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งหลังจากนี้ Grab จะเดินหน้าเพิ่มฟีเจอร์ให้แต่ละคนใช้โค้ดส่วนลดของตนเองในการสั่งอาหารแบบกลุ่มได้อีกด้วย
“ที่ผ่านมามีการสั่งแบบ Group Order ไปแล้วมากกว่า 1 ล้านครั้ง ส่วนมากเป็นการหารกันในจำนวน 2-3 คน และส่วนมากเป็นการสั่งน้ำ”
3.SAVE COST ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย นอกเหนือจากการทำระบบ แพ็กเกจสมาชิก “GrabUnlimited” แล้ว ยังมีฟีเจอร์อื่นๆ อีก คือ
–Flash Sale ดีลลดราคาต่างๆ ที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล (Personalized) การแสดงผลของดีลจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภค และโลเคชั่นปัจจุบันที่อยู่ ถึงแม้คน 2 คนจะอยู่ที่เดียวกันแต่หากพฤติกรรมแตกต่างกันเมื่อเปิดดูดีลก็จะเห็นดีลที่ต่างกัน
โดยดีลที่แจกให้นั้นมีทั้งส่วนลดร้านเล็กๆ และร้านขนาดกลาง ซึ่งหลังจากเปิดบริการ Flash Sale พบว่าลูกค้าสั่งอาหารมากขึ้น 20% ขณะที่ร้านที่เข้ามาร่วมยอดขายโต 4.4 เท่า
-Saver Deliver เพิ่มฟีเจอร์การส่งอาหาร เช่น การส่งแบบประหยัด ปัจจุบันทดสอบอยู่ใน 16 จังหวัด เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคจะชื่นชอบ โดยค่าส่งจะถูกกว่าค่าส่งปกติสูงสุดถึง 50% แลกกับเวลารออาหารที่นานขึ้น ซึ่ง Saver Delivery จะถูกเปิดกับอาหารบางอย่าง เพื่อลดความกังวลด้านคุณภาพอาหาร
4.SAVE THE ENVIRONMENT ดูแลสิ่งแวดล้อมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมในการลดผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม
-Carbon Offset เชิญชวนให้ผู้ใช้บริการบริจาค 1 บาท เพื่อนำเงินไปสมทบการปลูกต้นไม้ ปีที่ผ่านมาได้ปลูกไปแล้วกว่า 200,000 ต้นทั่วภูมิภาค
–Plastic Cutlery Opt-Out ฟีเจอร์ที่ช่วยลดขยะพลาสติก โดยการเพิ่มปุ่มทางเลือกการรับช้อนส้อมพลาสติก ปีที่ผ่านมาสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกไปแล้วกว่า 8,100 ตัน จากการงดแจกช้อนส้อมพลาสติกรวมกว่า 898 ล้านชุดในทุกประเทศที่แกร็บให้บริการ
นอกจากนี้ Grab ยังตั้งเป้าเปลี่ยนจักรยานยนต์ส่งอาหารเป็น EV ให้มากขึ้น ปัจจุบันมีวิ่งบนถนนแล้วกว่า 2,000 คัน โดยตั้งเป้าว่าจะมีรถจักรยานยนต์ EV ส่งอาหารบนถนนถึง 10% ในปี 2025