inDrive (อินไดร์ฟ) เล็งขยายให้บริการในไทยเพิ่ม เดินหน้าศึกษาโมเดลบริการรับส่งคนระหว่างเมือง ส่งพัสดุ และบริการด้านการเงิน เชื่อไทยเป็นตลาดที่แข็งแรงและน่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังเปิดให้บริการเรียกรถโดยสารและรถรับจ้างแบบเรียลไทม์ (ride-hailing) ในไทยมาแล้วกว่า 10 เดือน (ให้บริการครั้งแรก ตุลาคม ปี 2023) วันนี้ inDrive กำลังมองการเติบโตด้านธุรกิจบริการในไทยเพิ่มเติม
ณ วันนี้ อินไดร์ฟ ให้บริการทั้งรถยนต์ 4 ล้อ และ 2 ล้อ ใน 4 จังหวัดหัวเมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา และ ภูเก็ต มีพาร์ทเนอร์คนขับรวมมากกว่า 1,000 คน และมีการใช้งานเรียกรถกว่า 10,000 เที่ยวในแต่ละวัน
เปิดแผนทำตลาดในไทย
Andries Smit รองประธานฝ่ายพัฒนาธุรกิจใหม่ (VP New Ventures) บริษัท อินไดร์ฟ กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือเป็นตลาดใหม่สำหรับอินไดร์ฟ โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นตลาดที่มีความแข็งแรงและน่าสนใจ คนไทยใช้ดิจิทัลกันมาก โดยเฉพาะแอปพลิเคชันเรียกรถที่มีอัตราการเติบโตสูง จึงเป็นโอกาสที่จะเข้ามาขยายธุรกิจ
“การที่เดินทางเข้ามาในไทยครั้งนี้ด้วยตัวเอง เพราะเราต้องการมองหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตเรามองว่าจะเข้ามาให้บริการด้านอื่นๆ ในประเทศไทย นอกเหนือจากบริการเรียกรถ อาจจะเป็นไปได้ทั้ง B2C และ B2B”
Andries ยังยกตัวอย่างบริการด้านอื่นๆ ที่เปิดตัวในหลายๆ ภูมิภาค เช่น ในเอเชียกลาง และลาตินอเมริกา อินไดร์ฟ มี บริการส่งพัสดุ การรับส่งคนข้ามจังหวัด รวมถึงบริการรูปแบบ Cargo ด้วย
ส่วนในเม็กซิโก มีบริการด้านการเงิน ให้ไรเดอร์กู้เงิน เพราะในเม็กซิโก คนขับมักจะมีปัญหาด้านการเงินเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ หลายคนเลิกขับเพราะไม่มีเงินมาซ่อมแซม ซึ่ง Andries ยังสนใจขยายบริการด้านการเงินเข้ามาในไทย แต่ต้องเข้าไปศึกษากฎหมาย ศึกษาตลาด ก่อนนำเข้ามาให้บริการ
“สำหรับประเทศไทย ยังบอกยากว่าจะเอาบริการไหนมาก่อน แต่จะลองหลายๆ บริการ หากตัวไหนสำเร็จก็จะขยายการเติบโต เพราะแต่ละที่ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน”
ซึ่งความพร้อมในการขยายบริการต่างๆ นั้นมีความเป็นได้เพราะปัจจุบันได้ตั้งทีม Business Development ไว้ที่ประเทศไทยแล้ว โดยทีมนี้ปัจจุบันทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากพาร์ทเนอร์คนขับ และออกรอยัลตี้โปรแกรมให้กับพาร์ทเนอร์ ที่ให้บริการครบเวลาที่กำหนดไว้
ชูความโปร่งใสแข่งขันในตลาด
สำหรับ inDrive ในประเทศไทย ผลสำรวจจากการสอบถามปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 5 ของการที่คนจะเลือกใช้จาก 7 ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสาร
แต่ในระดับโลก ถือว่าเป็นอันดับ 2 (ไม่รวมจีน) เป็นแพลตฟอร์มที่เติบโตมากในเอเชียกลาง และลาตินอเมริกา
Andries มองว่า ตลาดเรียกรถในไทยภาพรวมยังคงเติบโตขึ้น คาดว่าจะโตถึงปี 2030 ขณะที่คู่แข่งยังคงเพิ่มมากขึ้นทั้งแบบรถเก๋งและจักรยานยนต์
คนไทย 10 ล้านคนเคยใช้บริการเรียกรถ ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 1-2 พันล้านบาท
Andries กล่าวว่า การแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งจุดยืนของ อินไดร์ฟ ในการทำธุรกิจคือการสร้างความโปร่งใส เพื่อให้ลูกค้าได้ตัวเลือกที่ดีที่สุด ลูกค้าจะต้องได้รับความโปร่งใสในการรับบริการ ต้องเลือกคนขับได้ เลือกรถได้ และราคาที่เป็นธรรมที่สุด
“เราเช็คประวัติคนขับอย่างละเอียด ก่อนจะให้มาเป็นคนขับได้ และแชร์ข้อมูลให้กับผู้โดยสารอย่างโปร่งใส ทั้งข้อมูลคนขับ เรตติ้ง และจำนวนเที่ยวที่ขับไปแล้ว”
ด้านประเด็นสงครามราคา Andries มองว่า หลายครั้งที่ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา และอัดงบการตลาดไปกับการลดราคา เรามองว่าการแข่งขันไม่ได้แข่งกันด้วยราคา เพราะสุดท้ายราคาจะกลับมาอยู่ที่เดิม เราจึงไม่โฟกัสไปที่การออกแคมเปญลดราคา แต่เน้นไปที่ความโปร่งใสที่ลูกค้าจะได้รับ ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา โดยมีเป้าหมายคือ ให้คนขับมีรายได้ และ ผู้ใช้ได้รับความสบายใจการใช้บริการ
สำหรับค่า GP (Gross Profit) หรือค่าคอมมิชชันที่คนขับจ่ายให้แก่แอปพลิเคชัน จะยังคงคิดแค่ 10% ของการใช้บริการ เช่น ค่าบริการ 100 บาท คนขับจะได้ไป 90 บาท และหักเข้าแอปฯ 10 บาท
“เราไม่มีแผนจะปรับเพิ่มค่า GP จะใช้ 10% ต่อไป เราเชื่อว่าเพียงพอกับการนำไปพัฒนาแพลตฟอร์มให้มีฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ดีมากขึ้น และในอนาคตจะไปถึง Super App”
Andries กล่าวในตอนท้ายว่า การมาร่วมงาน Techsauce Global Summit 2024 ในครั้งนี้เพราะเรากำลังมองหา AI เข้ามาช่วยธุรกิจ ทั้งการเพิ่มความสะดวกสบายและปลอดภัยกับคนขับ ลูกค้า รวมไปถึงการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับ inDrive ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 ที่เมือง Yakutsk, Russia เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรถยากในช่วงอากาศหนาว ปัจจุบันสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Mountain View, California ให้บริการอยู่ใน 46 ประเทศทั่วโลก โดย 3 ประเทศที่เติบโตมากที่สุด คือ คาซัคสถาน เม็กซิโก และ อียิปต์ มีผู้ใช้ดาวน์โหลดแอปฯ รวม 250 ล้านครั้ง
–“Too Fast Infinity” สามย่าน ปรับโฉมรุกลูกค้ากลุ่มอีเวนต์ ตั้งเป้ารายได้รวมทุกธุรกิจ 30 ล้านต่อปี