บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2567 ด้วยกำไรที่ต่อเนื่อง โดยมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีและหลังปรับปรุงรายการพิเศษ 2.4 พันล้านบาท EBITDA เติบโตเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน เป็นผลจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจออนไลน์ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงจากการให้ความสำคัญกับผลการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพ บริษัทยังคงย้ำถึงการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีชั้นนำ โดยมุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ AI และการทำให้กระบวนการทำงานเป็นระบบอัตโนมัติตามเป้าหมายภายในปี 2570
มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “นับตั้งแต่การควบรวมกิจการเมื่อปีที่แล้ว ทรู คอร์ปอเรชั่นมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดยั้งในการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างยั่งยืน เราให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า ผลประกอบการไตรมาส 2 ของเราสอดคล้องกับแผนการควบรวมกิจการ โดยมีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและ EBITDA แสดงการเติบโตเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน
ทรู คอร์ปอเรชั่นได้วางแผนการเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการสร้างกำไรและคุณค่าอย่างยั่งยืนผ่านประสบการณ์ การเติบโต และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวมภายในปี 2568 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการทำกำไรในปี 2567 เรามั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเติบโตที่มีกำไร ในขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการทำกำไรอย่างยั่งยืนและการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า อุตสาหกรรม ตลาด และประเทศโดยรวม”
ชารัด เมห์โรทรา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยแผนการยกระดับประสบการณ์ลูกค้าและการเตรียมพร้อมสู่อนาคตว่า “เรากำลังเร่งการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย โดยได้ดำเนินการพัฒนาไปแล้วกว่า 7,100 สถานี จากทั้งหมด 17,000 สถานี ส่งผลให้คะแนนความพึงพอใจของลูกค้า (NPS) ดีขึ้น เราได้จัดตั้งกลุ่มงานลูกค้าและ AI เพื่อยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย”
ชารัด กล่าวต่อว่า “การพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยยังคงเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญสูงสุด เรากำลังใช้กลยุทธ์แบบ 360 องศาในระดับละเอียดเพื่อยกระดับประสบการณ์ลูกค้า โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มความเร็วสูงสุดของ 5G เป็นสองเท่าผ่านโครงข่ายที่เหนือกว่าและครอบคลุมกว้างที่สุด ทรู คอร์ปอเรชั่นมีเจตนารมณ์ในการลงทุนสำหรับการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยรวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถของระบบหลังบ้านแบบอัตโนมัติ (Back-end systems) เพื่อขับเคลื่อนการเป็นดิจิทัลทั่วทั้งองค์กร ทำให้ทรูก้าวล้ำในการเป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยี จากเสาสัญญาณทั้งหมด 59,000 สถานี เราจะพัฒนา 17,000 สถานีโดยมีแผนพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป 10,000 สถานีภายในปี 2567 และส่วนที่เหลือจะแล้วเสร็จในปี 2568 ยิ่งเราพัฒนามากเท่าไร ประสบการณ์ของลูกค้าก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น”
ในไตรมาส 2 ปี 2567 การให้ความสำคัญเชิงคุณภาพในการได้มาซึ่งลูกค้าใหม่ทำให้มีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลง 0.6 ล้านเลขหมาย หรือ 1.2% จากไตรมาสก่อน โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 50.5 ล้านเลขหมาย จำนวนผู้ใช้บริการระบบรายเดือนคงที่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนที่ 15.3 ล้าน ผู้ใช้บริการออนไลน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน อยู่ที่ 3.7 ล้าน
นกุล เซห์กัล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยความยินดีว่า “EBITDA ของทรู คอร์ปอเรชั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน ส่งผลให้มีกำไรภายหลังการปรับปรุง 2.4 พันล้านบาทในไตรมาส 2 ปี 2567 รายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย หรือ IC เติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้แรงหนุนจากการบริหารผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ รายได้รวมอยู่ที่ 51.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการ
รายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้น 5.2% (YoY) เนื่องจาก ARPU เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3.9% (YoY) รายได้จากบริการออนไลน์เพิ่มขึ้น 5.5% (YoY) โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของ ARPU อย่างต่อเนื่องที่ 9.6% (YoY) รายได้จากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (PayTV) เพิ่มขึ้น 7.0% (YoY) จากรายได้ที่สูงขึ้นจากธุรกิจดนตรีและบันเทิง อย่างไรก็ตาม รายได้จากค่าสมาชิกยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง
ในไตรมาส 2 ปี 2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย หรือ D&A) ลดลง 3.9% เมื่อเทียบกับปีก่อน หลังการปรับปรุงผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2 ปี 2566 โดยปัจจัยหลักมาจากประโยชน์ที่ได้รับจากการควบรวมกิจการ ต้นทุนเครือข่ายลดลง 7.6% (YoY) อันเป็นผลจากการประหยัดต้นทุนผ่านการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการลดอัตราราคาพลังงาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยได้รับประโยชน์จากการควบรวมกิจการในโครงการปรับปรุงด้านการค้าและการพัฒนาองค์กรให้ทันสมัย ทั้งนี้ บริษัทได้ผสานแนวคิดการมุ่งเน้นผลการดำเนินงานเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงโครงสร้าง ส่งผลให้ ทรู คอร์ปอเรชั่น สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกการเพิ่มขึ้นของ EBITDA 4,883 ล้านบาทนับตั้งแต่การควบรวมกิจการ ซึ่งนับเป็นการเติบโตของ EBITDA เป็นไตรมาสที่ 6 ติดต่อกัน สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 EBITDA ปรับตัวดีขึ้น 733 ล้านบาท จากไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งหากปรับปรุงด้วยผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในไตรมาส 2 ปี 2566 EBITDA จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 15.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน อันเนื่องมาจากการเติบโตของรายได้และการรับรู้ผลประโยชน์จากการควบรวม อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้จากการให้บริการปรับตัวดีขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่ 58.6% สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567
ในไตรมาส 2 ปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่นบันทึกผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย จำนวน 4,277 ล้านบาท ส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิหลังหักภาษี 1,879 ล้านบาท เมื่อปรับปรุงรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว กำไรสุทธิหลังหักภาษีอยู่ที่ 2,398 ล้านบาท ปรับตัวดีขึ้น 1,596 ล้านบาทจากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการปรับตัวดีขึ้นของ EBITDA และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ลดลง ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) สำหรับไตรมาส 2 ปี 2567 อยู่ที่ 6,112 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นการลงทุนในการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัยและการยกระดับประสบการณ์ลูกค้า
คณะผู้บริหารของทรู คอร์ปอเรชั่นได้ปรับปรุงแนวโน้มสำหรับปี 2567 โดยคาดว่าสำหรับทั้งปี 2567 บริษัทจะมีรายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) เติบโต 4-5% เมื่อเทียบกับปีก่อน EBITDA จะเติบโต 12-14% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในขณะที่แนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการลงทุน (CAPEX) รวมถึงการลงทุนเพื่อการควบรวมกิจการยังคงอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ทั้งปี 2567 จะยังคงมีกำไรหากไม่รวมผลกระทบจากการด้อยค่าสินทรัพย์ที่มีความซ้ำซ้อนที่เกี่ยวข้องการพัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย
ตัวเลขทางการเงินที่สำคัญในไตรมาส 2 ปี 2567
คำชี้แจงที่สำคัญ (Disclaimer)
บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ควบรวมกิจการเป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ข้อมูลทางการเงินที่สะท้อนถึงระยะเวลาก่อนในเอกสารฉบับนี้ ได้อ้างอิงจากงบการเงินเสมือนของ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
โค้ก โดยกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย สร้างความฮือฮาให้กับตลาดเครื่องดื่มอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว "โค้ก" ซีโร่ กลิ่นวานิลลา ความอร่อยใหม่ที่ผสานความซ่าส์อันเป็นเอกลักษณ์ของ "โค้ก" เข้ากับความหอมหวานละมุนละไมของวานิลลาได้อย่างลงตัว ที่สำคัญคือมาในสูตรไม่มีน้ำตาล ตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen…
บริษัท ไซโก้ เอปสัน คอร์ปอเรชั่น (Epson) ประกาศแต่งตั้ง โยชิดะ จุนคิชิ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและตัวแทนผู้อำนวยการ (President and Representative Director) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ (Chief…
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย กองสิ่งแวดล้อม ฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า ลงพื้นที่ตรวจติดตามการดำเนินงานลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการก่อสร้าง ช่วงเวลากลางคืน การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน - ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตลอดแนวเส้นทางโครงการฯ โดยเริ่มตั้งแต่จุดก่อสร้าง Cut…
LINE MAN ประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญกับ Lotus’s และ Lotus’s go fresh ขยายฐานบริการ LINE MAN MART ให้ครอบคลุมกว่า 1,400 สาขาทั่วประเทศ…
พฤกษา ผนึกกำลัง โรงพยาบาลวิมุต มอบสิทธิพิเศษสุดเอ็กซ์คลูซีฟ และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพครบวงจรให้ลูกบ้านตลอดปี 2568 ภายใต้แนวคิด "สุขภาพดีเริ่มต้นที่บ้าน" จิตชญา ตู้จินดา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดองค์กรกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง…
ออเนอร์ (HONOR) ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญของสมาร์ทโฟนระดับแฟลกชิป HONOR Magic7 Pro 5G ที่สร้างยอดขายเติบโตสูงถึง 2.4 เท่า นับตั้งแต่เปิดให้พรีออเดอร์เมื่อวันที่ 11-21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568…