บริษัท เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ จัดงานสัมมนาผู้ประกอบการ “K 2022 Presentation” ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท พร้อมเปิดตัวงานนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมพลาสติกและยางครั้งยิ่งใหญ่ระดับโลกในงานมหกรรม “K 2022” ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ชู 3 ไฮไลต์เมกะเทรนด์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต ประกอบด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจยุคดิจิทัล (Digitalisation) และการบริหารจัดการ และป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Protection) พร้อมปูทางประเทศไทยสู่ผู้นำฐานการผลิตพลาสติกและยางระดับอาเซียน
เกอร์นอท ริงลิ่ง กรรมการผู้จัดการ เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย กล่าวว่า เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาตร์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกและยางของคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ และกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ล่าสุด เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ เอเชีย จึงได้เตรียมจัดงานมหกรรมนิทรรศการแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมพลาสติกและยางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในงาน “K 2022” ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทุก ๆ 3 ปี โดยจะฉลองครบรอบวาระ 70 ปีแห่งความสำเร็จและกำหนดการจัดงานช่วงปลายปี 2565 นี้ ระหว่างวันที่ 19 – 26 ตุลาคม 2565 ณ เมืองดุสเซลดอร์ฟ ประเทศเยอรมนี ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่บรรดาผู้ประกอบการจะได้เปิดโลกทัศน์ใหม่สำหรับตลาดการลงทุน รวมถึงได้เรียนรู้และนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลกลับมาใช้ในประเทศไทย
–รู้จัก NDTP แพลตฟอร์มการค้าดิจิทัลระหว่างประเทศ
เกอร์นอท กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมเปิดตัวงานมหกรรม “K 2022” เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ได้จัดงานสัมมนาผู้ประกอบการ “K 2022 Presentation” ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์ธุรกิจของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้ได้ร่วมอัปเดตเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมพลาสติกและยาง ซึ่งไม่เพียงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพียงเท่านั้นแต่ยังคำนึงถึงทิศทางความต้องการที่สอดรับกับพฤติกรรม และปัจจัยทางชีวภาพที่ส่งผลกระทบต่อสังคมโลก
ซึ่งสอดคล้องต่อการยกระดับความก้าวหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG ECONOMY ของประเทศไทยอีกเช่นกัน โดยนำเสนอเมกะเทรนด์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต 3 ประการ ประกอบด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หรือกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดแสดงเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการแปรรูปและการรีไซเคิล พื้นที่สำหรับการนำเสนอภายใต้แนวคิด“Plastics shape the Future” ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของรูปแบบพลาสติกที่หลากหลายที่สามารถตอบโจทย์อุตสาหกรรมในอนาคต
รวมถึงยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อการรีไซเคิลพลาสติก พลาสติกชีวภาพ และวัสดุทางเลือก เศรษฐกิจยุคดิจิทัล (Digitalisation) อาทิ การจัดแสดงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (AR) แอปพลิเคชันแนะนำเกี่ยวกับดิจิทัลโซลูชันเพื่อการดำเนินธุรกิจ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงยังมีการจัดแสดงสินค้าเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่นำเสนอกระบวนการผลิตที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการ และ ป้องกันวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (Climate Protection)
ทั้งนี้ คาดการณ์ผู้เข้าชมไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย จาก 100 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง รวมถึงนักพัฒนา นักออกแบบ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตจากอุตสาหกรรมผู้ใช้งาน อาทิ ยานยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือแพทย์ ตลอดจนถึงยานอวกาศและภาคการก่อสร้าง เป็นต้น โอกาสนี้ได้รับเกียรติจาก นายเจอร์เก้น เรย์คอฟ วิทยากรกิตติมศักดิ์ และกรรมการผู้จัดการบริษัท ไรเฟนเฮ้าเซอร์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ร่วมให้ข้อมูลในประเด็นอุตสาหกรรมพลาสติกกับความยั่งยืน ภายในงานสัมมนา
ด้าน ถนัดกิจ เตชานุกูลชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่าจากทิศทางของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกโลกในปัจจุบันที่ยังคงมีอุปสงค์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมูลค่าของตลาดการส่งออกในปี 2564 ที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3.14 ในมูลค่า 128,016.51 ล้านบาท ทำให้เห็นถึงสัญญานเชิงบวกของกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งการที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในงาน K 2022 ในครั้งนี้ นับว่าเป็นการสร้างโอกาสในการขยายตลาดระดับภูมิภาค และเป็นเวทีที่สำคัญที่ภาคธุรกิจจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องจักร รวมถึงกระบวนการออกแบบการผลิตและผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง จากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายจากนานาประเทศทั่วโลกเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งประเทศไทยมีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งยังมีบทบาทในการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก
พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหาร วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และพลาสติกชีวภาพ ให้เป็นโปรดักส์แชมเปียน โดยตั้งเป้ายอดการส่งออกเติบโตเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 40 ภายในปี 2566 ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยเฉพาะพลาสติกชีวภาพ หรือไบโอพลาสติก (Bioplastic) ที่ปราศจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกควบคู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสีเขียวที่จะสามารถนำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับงาน K 2022 ในปีนี้ จะมีการจัดแสดงสินค้าของบริษัทในกลุ่มอุตสาหกรรมชั้นนำที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 3,000 ราย จาก 61 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศเยอรมนี อิตาลี สหรัฐอเมริกา อินเดีย เกาหลีใต้ จีน และประเทศไทยที่นำสินค้าจัดแสดงจำนวน 8 ราย ได้แก่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC บริษัท เอ.เจ.พลาสท์ จำกัด บริษัท เอ.เอฟ.ซุปเปอร์เซลล์ จำกัด บริษัท ซี เอส รับเบอร์ อินดัสทรี่ จำกัด บริษัท แล็บ เทค เอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท มหาธานีอุตสาหกรรม จำกัด และบริษัท เอสเอ็มซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.k-online.com หรือลงทะเบียนสำรองบัตรเพื่อเข้าร่วมนิทรรศการได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่านทาง Shop Messe Düsseldorf