กรมการค้าภายใน อนุมัติ “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” ปรับขึ้นราคาไม่เกิน 1 บาท

กรมการค้าภายใน อนุมัติ “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” ปรับขึ้นราคาไม่เกิน 1 บาท

กรมการค้าภายในยึดนโยบาย วิน-วิน โมเดล อนุมัติ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” ปรับขึ้นราคาไม่เกิน 1 บาท 3 ยี่ห้อ “มาม่า-ไวไว-ยำยำ” เริ่ม 25 ส.ค.นี้ พร้อมกำหนดเงื่อนไขเข้ม ต้องแจ้งข้อมูลการรับซื้อวัตถุดิบ และหากต้นทุนวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตลดลง จะมีหนังสือแจ้งให้ปรับลดราคาลงด้วย

วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ประชุมร่วมกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 3 ราย ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเด้นท์ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ตรามาม่า บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ตราไวไว และบริษัท วันไทย อุตสาหกรรม อาหาร จำกัด ตรายำยำ เพื่อพิจารณากรณีที่ผู้ผลิตยื่นขอปรับขึ้นราคาแบบซองจาก 6 บาทเป็น 8 บาท โดยหลังจากพิจารณาต้นทุนและข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างละเอียดแล้ว พบว่าทั้งต้นทุนวัตถุดิบ เช่น ข้าวสาลี น้ำมันปาล์ม แพกเกจจิ้ง รวมถึงต้นทุนพลังงาน และแรงงาน ปรับเพิ่มขึ้นจริง จึงได้อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาทั้ง 3 ราย ไม่เกิน 1 บาทต่อซองสำหรับขนาดปกติ ส่วนรายการอื่นยังมิได้อนุมัติให้ปรับขึ้น มีผลตั้งแต่วันที่ 25 ส.ค.2565 เป็นต้นไป

“ราคาที่ผู้ผลิตที่ยื่นขอมา 8 บาท แต่กรมฯ อนุมัติให้ขึ้นได้ไม่เกิน 1 บาทต่อซอง หรือสูงสุดไม่เกินซองละ 7 บาท เพราะต้องคำนึงถึงพี่น้องประชาชนภายใต้นโยบาย วิน-วิน โมเดล ที่ผู้ผลิตอยู่ได้ ผลิตต่อได้ และประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบมากจนเกินไป”

รฟม. เปิดซองข้อเสนอซองที่ 2 (ด้านเทคนิค) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ทั้งนี้ กรมฯ ยังได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ผลิตปฏิบัติ คือ ถ้าต้นทุนสินค้า อาทิ ต้นทุนวัตถุดิบ และต้นทุนพลังงาน ลดลง ก็ต้องปรับลดราคาลงมา โดยกรมฯ จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และจะมีหนังสือแจ้งให้ผู้ผลิตปรับลดราคาต่อไป หากกรมฯ ได้แจ้งผู้ผลิตไปแล้ว แต่ผู้ผลิตไม่ปรับลดราคาลง อาจเป็นการเข้าข่ายขายสินค้าในราคาสูงงกว่าที่ได้รับอนุญาต หรือขายแพงเกินสมควร มีโทษตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ม.26 และ 29 สำหรับผู้ผลิตรายอื่นที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตปรับราคา จะพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกันนี้

พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า กล่าวว่า หากมองในจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคาไป 8 บาทต่อซอง ได้ปรับไม่เกิน 1 บาท หรือไม่เกิน 7 บาทต่อซอง ก็ถือว่าแย่ แต่ถ้ามองจากจุดที่ผู้ผลิตขอปรับขึ้นราคามา 18 เดือน ก็ถือว่าดี และเข้าใจว่าภาครัฐ ต้องดูแลพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากภาระค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น ถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ ซึ่งผู้ผลิต ก็ยอมรับได้และพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมฯ กำหนด เพราะยังดีกว่าไม่ได้ปรับขึ้นราคาเลย เพราะที่ผ่านมา มาม่าขายเกือบขาดทุน บางรายต้องขาดทุนไปแล้ว

Scroll to Top