ประเทศไทย โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส ร่วมกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 13 หรือ 13th APPU Congress เพื่อยกระดับการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศสมาชิก 32 ประเทศให้สอดรับกับเศรษฐกิจ สังคม และการคลี่คลายของโรคระบาดโควิด – 19 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ การพัฒนาบริการไปรษณีย์ เพื่อรองรับ อีคอมเมิร์ซ การเปิดให้บริการไปรษณีย์ขาออกระหว่างประเทศไทย – ลาว การปรับปรุงการนำจ่ายบริการติดตามสถานะสิ่งของ หรือ Tracked Service โดยจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2565
ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพิ่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า เพื่อให้การสื่อสารในช่องทางไปรษณีย์มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น ล่าสุดกระทรวงฯ และ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ร่วมกับสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ “สหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 13 หรือ 13th APPU Congress” ในช่วงวันที่ 29 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน 2565 ซึ่งนับเป็นการประชุมองค์กรสูงสุดของสหภาพไปรษณีย์แห่งเอเชีย และแปซิฟิก (Asian-Pacific Postal Union – APPU) ที่จัดขึ้นทุก ๆ 4 ปี เพื่อพิจารณา – แก้ไขบทบัญญัติของสหภาพฯ ให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของสหภาพสากลไปรษณีย์ หรือ Universal Postal Union – UPU และยกระดับการให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศสมาชิกสอดรับกับบริบททางเศรษฐกิจและสังคม
–ไปรษณีย์ไทย x ROBINHOOD สั่งอาหารง่าย พี่ไปรฯ ส่งให้ทันที
“สำหรับการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ในการทำหน้าที่ประธาน สภาบริหาร ต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งสภาฯ จะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดหลักเกณฑ์การให้บริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ รวมถึงวางระเบียบการบริหารงานของสหภาพฯ อีกทั้งยังทำให้ประเทศไทย มีบทบาทในการแสดงความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันแผนงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนากิจการไปรษณีย์ของไทยและของ 32 ประเทศสมาชิก
ด้าน ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า ในช่วงหลังการคลี่คลายของโรคระบาดโควิด – 19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และวิถีสังคมที่เปลี่ยนแปลง มีความจำเป็นอย่างมากที่ประเทศสมาชิกต้องมีการทบทวนแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมสร้างแนวปฏิบัติให้สามารถเอื้อประโยชน์ระหว่างกันได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ จึงมีวาระที่สำคัญของไปรษณีย์ไทย และระหว่างประเทศสมาชิก ดังนี้
-การหารือทวิภาคีกับการไปรษณีย์อิหร่าน และการแลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นในการพัฒนาบริการไปรษณีย์เพื่อรองรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศ การออกตราไปรษณียากรร่วมกัน รวมทั้งการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องต่างๆ ที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้มีการแลกเปลี่ยนบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศระหว่างกันเพิ่มขึ้น
-การหารือทวิภาคี และการลงนามในเอกสาร Side Letter กับการไปรษณีย์ลาวเพื่อเปิดให้บริการไปรษณีย์ขาออกระหว่างประเทศ หรือ ePacket ระหว่างไทยและ สปป.ลาว ซึ่งเป็นบริการที่รองรับการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามแดน สำหรับการส่งสิ่งของที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีการหารือในการนำผลิตภัณฑ์ของ สปป.ลาว ที่เป็นที่นิยมมาจำหน่ายบนเว็บไซต์ www.thailandpostmart.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และขนส่งผ่านบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศระหว่างกันด้วย
-การลงนามความร่วมมือสำหรับการไปรษณีย์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่เข้าร่วมโครงการนำร่องในการปรับปรุงการนำจ่ายบริการติดตามสถานะสิ่งของ หรือTracked Service ซึ่งประเทศที่ลงนามประกอบด้วยการไปรษณีย์ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ ภูฏาน ฟิจิ อินเดีย มัลดีฟท์ นาอูรู มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะโซโลมอน และศรีลังกา