ท่องเที่ยวสายมู ตัวช่วยฉุด GDP ไทยโตหลังโควิด?

ท่องเที่ยวสายมู ตัวช่วยฉุด GDP ไทยโตหลังโควิด?

ความเชื่อ ความศรัทธา ของคนทั่วโลก โดยเฉพาะชาวจีนและฮ่องกง จะทำให้ไทยใช้ ท่องเที่ยวสายมู เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ผลักดัน GDP ให้โตได้จริง?

ปี 2566 นับว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยเสี่ยงมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความกังวลจากการระบาดของโควิด-19 อีกระลอก การแบ่งขั้วอำนาจของมหาอำนาจโลก ซึ่งอาจจะลุกลามไปถึงการกีดกันการค้า รวมไปถึงภัยธรรมชาติที่เกิดจากการแปรปรวนของอากาศ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นมากขึ้น

AIS จับมือ ขายหัวเราะ ส่งการ์ตูนชุด “เมื่อผมตกหลุมรักขึ้นไม่ไหว” เล่าเรื่องด้วยความรู้ และ เสียงหัวเราะผ่าน 8 ทักษะดิจิทัล

สำหรับประเทศไทย ที่เคยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว สภาพย่ำแย่มาตลอด 3 ปี จนเพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในปีนี้ ล่าสุดในปี 65 มีนักท่องเที่ยวกลับมาได้ 12 ล้านคน(ไม่รวมจีน) โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาถึง 25 ล้านคน และในปี 67 คาดว่าจะมี 40 ล้านคน เท่ากันจำนวนก่อนเกิดโควิด-19

การท่องเที่ยว โอกาสสร้างรายได้ประเทศที่ดีที่สุด?

กว่า 3 ปีที่ผ่านมา หลายคนเก็บกดจากการทำได้เพียงท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งหลังจากหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มผ่อนคลาย ทำให้คนแห่เดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น

ขณะที่ วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ก่อตั้ง officemate กูรูด้าน SME และอดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ไทยติดท็อป 5 ประเทศน่าเที่ยวมาโดยตลอด คนไทยมีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสทองในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะที่ทุกประเทศต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร็วและทันที ซึ่งการท่องเที่ยวทำให้เห็นผลได้เร็วที่สุด การจับจ่ายของนักท่องเที่ยวมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังช่วยให้เม็ดเงินกระจายตัวไปทั่วภูมิภาคของประเทศ เงินจะลงไปที่ชุมชนรากหญ้ามากขึ้น

“การจัดระบบที่ดีจากรัฐและเอกชน จะช่วยให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวเข้ามามาก”

หากมองลึกไปถึงด้าน GDP รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเปรียบเสมือนการส่งออก คือ ได้เงินตราต่างประเทศเข้ามาทันที แต่ที่มากกว่านั้น คือ ช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ด้านเอกชนเกิดการลงทุนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ภาครัฐต้องขยายโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มากขึ้น

“เพราะฉะนั้นการท่องเที่ยวจะช่วยผลักดัน GDP ไทยได้มากกว่า 20%”

วรวุฒิ กล่าวต่อว่า หนึ่งในภาวะที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ คือ Bangkok Blue เพราะหลังเปิดประเทศนักท่องเที่ยวโหยหาและคิดถึงประเทศไทย หลายคนโพสต์ลงโซเชียลจนกลายเป็นไวรัล ทำให้คนอื่นอยากมาเที่ยวไทยบ้าง เพราะฉะนั้นรัฐและเอกชนไทย ต้องขับเคลื่อนโมเมนตัมให้ดีเพื่อให้เกิดการเที่ยวซ้ำ

ประเทศไทยมีจุดแข็งด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ด้านศิลปวัฒนธรรม หรืออาหาร ไทยก็มีจุดเด่น แต่สิ่งที่ไทยยังไม่เก่งคือ การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง จึงทำได้แค่รายได้ต่อวัน ต่อคน ประมาณ 2200 บาท ขณะที่เกาหลีใต้ทำได้ประมาณ 10,000 บาท ต่อวัน ต่อคน

นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยยังซื้อสินค้าที่ราคาไม่แพง เช่น ยาหม่อง สาหร่าย ขณะที่สินค้าแบรนด์เนม ไทยเก็บภาษีสูงเกินไป ทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาซื้อที่ไทย แต่บินต่อไปซื้อที่สิงคโปร์ ทำให้ไทยเสียโอกาสไปมากมาย

“การปรับปรุงโครงสร้างภาษี จะทำให้ไทยได้โอกาสของการจับจ่ายใช้สอยอีกมาก ไทยจะต้องมีสินค้าที่หลากหลาย มีบริการด้าน Vat Refund ที่ง่ายขึ้น”

อีกส่วนที่ต้องปรับคือ ต้องกำจัดด้านการเอาเปรียบ รีดไถ หรือ มาเฟีย ที่คุกคามนักท่องเที่ยว ทำให้คนเหล่านี้ไม่อยากกลับมาอีก ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้

ท่องเที่ยวสายมู ช่วยดันการท่องเที่ยว

นอกเหนือจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และชมศิลปวัฒนธรรม อีกหนึ่งบทบาทที่ประเทศไทยทำได้คือการสร้างจุดหมายปลายทางให้นักท่องเที่ยวอยากเดินทางเข้ามา (Man-Made Destination) เช่น การจัดอีเวนต์แข่งรถ คอนเสิร์ต นิทรรศการ หรือแข่งกีฬา ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้คนส่วนมากเห็นว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้เป็นกิจกรรมมั่วสุม

อีกหนึ่ง Man-Made Destination ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย คือ “ท่องเที่ยวสายมู” เช่น พระพรหมเอราวัณ เพียงจุดเดียวเกิดการใช้จ่ายมากถึง 3-4 พันล้านบาทต่อปี เพราะเป็นจุดที่คนฮ่องกงต้องมา และมาได้บ่อยๆ

ขณะที่การสร้างแหล่งท่องเที่ยวสายมู จะต้องประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ทั้ง ความเชื่อ สถานที่ท่องเที่ยวดี อาหารอร่อย และของดีจากท้องถิ่น

การดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาจากสายมู จะทำให้พื้นที่ข้างเคียงได้ประโยชน์ไปด้วย รวมถึงต่างจังหวัด เช่น จ.ฉะเชิงเทรา โดยปกติจะมีนักท่องเที่ยวไปวัดโสธร 6 ล้านคนต่อปี แต่คนกลับไม่เที่ยวในจังหวัดฉะเชิงเทรา

จนมีการสร้างพระพิฆเนศ ที่วัดสมาน ทำให้เกิดตลาดนัดขนาดใหญ่กว่า 600 ร้านค้า สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท เพราะคนที่ไปจะซื้อของต่อ เงินจะเข้าไปถึงรายย่อยมากขึ้น หลังจากนั้นยังมี พระพิฆเนศองค์ยืน ที่ฉะเชิงเทราอีกจุดหนึ่ง ทำให้คนต้องเดินทางไปไหวครบทั้ง 3 จุด

“ทั้งหมดนี้เอกชน จ.ฉะเชิงเทรา ใช้เวลาสร้างกว่า 10 ปี จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสายมูที่นักท่องเที่ยวนิยมไป ซึ่งยังไม่รวมถึงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ถ้าทำให้ดีก็จะต่อยอดได้มหาศาล”

วรวุฒิ กล่าวในตอนท้ายว่า โมเดลนี้ หากจังหวัดอื่นนำไปใช้ก็จะกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างเศรษฐกิจในจังหวัดได้ เพราะสายมูอยู่คู่กับคนไทยมานานแล้ว หลายคนไม่มีเงินไปหาจิตแพทย์ ก็อาศัยการไหว้พระไหว้เจ้าช่วยลดความเครียด การพัฒนาสายมูจะเกิดการท่องเที่ยวในจังหวัดมากขึ้น เกิด Connect the dots คนจะเดินทางไปจังหวัดข้างเคียงต่อไปเรื่อยๆ หากมีการสร้างแผนเดินทางโดยดึงสายมูเข้ามานำ และผูกไปพร้อมกับการท่องเที่ยว อาหาร ช้อปปิ้ง ก็จะช่วยให้ชุมชนแข็งแรง

หากทำได้ดี จะสร้างโอกาสทำให้ไทยดึงนักท่องเที่ยวได้ 80 ล้านคน ภายใน 3 ปีข้างหน้า และไทยสามารถก้าวเป็นประเทศเบอร์ 2 ที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่ยาก

(*ปี 2019 ไทยอยู่อันดับ 4 มีรายได้จากการท่องเที่ยว 1.91 ล้านล้านบาท ตามหลัง สเปน อันดับ 2 ที่ 2.23 ล้านล้านบาท)

Scroll to Top