จ๊อบส์ดีบี เปิดผลสำรวจ “แนวโน้มสถานการณ์การจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566” พร้อมเผยข้อมูลเจาะลึกล่าสุดเกี่ยวกับตลาดงานในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการ 48% ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 160 คน รายงานว่าแผนการจ้างงานของบริษัทได้กลับไปสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากโรคระบาด รวมถึงเทคโนโลยีการทำงานระยะไกลที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อประเภทงานที่ว่าจ้างเช่นกัน
–แรงงานไทย Gen Y และ Gen Z คิดอย่างไร เมื่อเทียบกับคนส่วนใหญ่ในโลก
ล่าสุด จ๊อบส์ดีบี ได้สำรวจความคิดเห็นกับบริษัทขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ไปจนถึงขนาดเล็กในประเทศไทย จำนวน 429 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจเป็นบริษัทขนาดเล็ก
จากผลสำรวจ พบว่า ในประเทศไทย บริษัทส่วนใหญ่ที่ร่วมทำแบบสำรวจจะจ้างงานพนักงานแบบเต็มเวลา และมีเพียง 1 ใน 5 บริษัทเท่านั้นที่เลิกจ้างพนักงานอย่างน้อยหนึ่งคน ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา สายงานที่ต้องเผชิญกับการถูกเลิกจ้างในช่วงก่อนหน้านี้ และกำลังกลับมาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง ซึ่งล้วนเป็นสายงานที่ผู้ประกอบการมักนิยมจ้างงานแบบเต็มเวลาอีกด้วย เช่น สายงานบัญชี การบริหารผลิตภัณฑ์ ธุรการและทรัพยากรบุคคล เทคโนโลยีสารสนเทศ และการบริการลูกค้า
ผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่างานที่เกี่ยวข้องกับการบริการลูกค้าเป็นสายงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเทคโนโลยีการทำงานระยะไกลและวัฒนธรรมการทำงานที่ยืดหยุ่น โดยภายหลังจากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลาย ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ในสายงานนี้จะได้รับการว่าจ้างแบบพนักงานชั่วคราว
นอกจากนี้ จ๊อบส์ดีบียังพบว่า บริษัทขนาดเล็กมีแนวโน้มที่จะจ้างงานพนักงานประจำแบบเต็มเวลาเพิ่มในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะสายงานการขาย/การพัฒนาธุรกิจ การบริหารผลิตภัณฑ์ และไอที อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเล็งเห็นถึงแนวโน้มที่น่าสนใจ คือ บริษัทอย่างน้อย 3 ใน 5 บริษัท วางแผนเพิ่มแรงงานด้วยการคงจำนวนพนักงานชั่วคราว และปรับเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานของพนักงานเหล่านี้แทน โดยแนวโน้มดังกล่าวส่งสัญญาณว่าบริษัทขนาดเล็กส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ายอดขายและอุปสงค์จะเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีบริษัทเพียง 4% เท่านั้นที่วางแผนลดจำนวนพนักงานชั่วคราว โดยพนักงานชั่วคราวส่วนใหญ่ถูกจ้างงานในสายงานการผลิต การบริการลูกค้า และฝ่ายธุรการและทรัพยากรบุคคล เป็น 3 อันดับสูงสุด
แม้ว่าการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะการจ้างงานพนักงานชั่วคราวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การแข่งขันเพื่อดึงดูดคนที่มีความสามารถยังคงสูง จ๊อบส์ดีบีพบว่า องค์กรที่ทำแบบสำรวจเชื่อว่านอกเหนือจากเงินเดือนแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ค่าตอบแทน สวัสดิการ และวันหยุดพิเศษก็มีส่วนสำคัญในการดึงดูดคนที่มีความสามารถ อาทิ
8 ใน 10 บริษัทให้โบนัสตามผลงาน โบนัสการันตี หรือโบนัสตามสัญญา โดยบริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะให้โบนัสอย่างน้อยหนึ่งประเภท นอกจากโบนัสและการปรับขึ้นเงินเดือนแล้ว การเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการดึงดูดพนักงาน ในปัจจุบันมีพนักงานไทยที่ได้รับวันหยุดเพื่อฉลองวันเกิดเพียง 16% เท่านั้น และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีก 25% บริษัทที่ทำแบบสำรวจยังระบุด้วยว่าสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย ซึ่งรวมค่าที่พักและเงินกู้ จะปรับเพิ่มขึ้น 2-3% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า
“ในขณะที่เรากลับไปสู่สภาวะก่อนเกิดโรคระบาด การแข่งขันเพื่อช่วงชิงคนที่มีความสามารถก็จะเข้มข้นขึ้นตามสภาวะโลกในปัจจุบัน บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องวางกลยุทธ์ในการดึงดูดและการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเพื่อที่ตัวบริษัทเองจะยังสามารถครองใจพนักงานไว้ได้ กลยุทธ์เหล่านี้รวมถึงการให้ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ และโปรแกรมอื่น ๆ ที่จะเสริมสร้างประสบการณ์การทำงาน” ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
“นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย เราคาดการณ์ว่าการปรับการทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเข้าสู่ระบบดิจิทัลจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการด้านทรัพยากรบุคคล และจะทำให้บริษัทต่าง ๆ มีความสามารถในการแข่งขัน ทางด้านบริษัทเองควรพิจารณาถึงสิ่งที่จำเป็นสำหรับพนักงาน และสิ่งที่พนักงานต้องการ พร้อมปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังที่เปลี่ยนไป นี่คือสิ่งสำคัญในการดึงดูดคนที่มีความสามารถท่ามกลางตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูง”
ดาวน์โหลดรายงานแนวโน้มสถานการณ์การจ้างงาน ผลตอบแทน และสวัสดิการ ปี 2565-2566 ที่นี่