กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เสนอภาครัฐผ่อนคลายมาตรการและกฎหมาย

กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ เสนอภาครัฐผ่อนคลายมาตรการและกฎหมาย

กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ โรงแรม ร้านอาหาร สถานบริการ ผับ บาร์ เข้าพบเพื่อหารือกับ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเสนอให้ภาครัฐพิจารณาดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดอุปสรรคในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ พร้อมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจและตอบสนองความคาดหวังของนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวและบริการวิถีใหม่ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบรรยากาศที่เป็นมิตรต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติและเอื้อต่อการเติบโตของการท่องเที่ยวในทุกมิติ หลังเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบมากยิ่งขึ้น

เปิดรับลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐวันแรดคึกคัก ย้ำลงได้ทั้งออนไลน์-ออฟไลน์

เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันและขับเคลื่อนวิถีใหม่ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย “Amazing New Chapters” ให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน กลุ่มผู้ประกอบการฯ ได้เสนอให้ภาครัฐปรับปรุงมาตรการและกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประการที่หนึ่ง ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับปรุงมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซึ่งมีลักษณะคลุมเครือไม่ชัดเจน ใช้ดุลยพินิจในการบังคับใช้กฎหมาย และเป็นอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สร้างภาระเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจอย่างเกินพอดี ไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศการเป็น “Tourist Friendly Destination” โดยได้เสนอให้มีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการและข้อกฎหมายดังนี้

  • พิจารณาปรับปรุงกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลัง 24.00 น. ให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 2.00 น. เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภคในปัจจุบัน
  • ขอให้ประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวยามค่ำคืน (Special Night Tourism Zone) เพื่อสร้าง “Soft Power” ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบศิลปะการดื่มกินที่มีตัวเลือกหลากหลาย โดยพิจารณาเพิ่มพื้นที่จากที่เคยประกาศเดิม เช่น ถนนพัฒน์พงษ์ ซอยธนิยะ ซอยคาวบอย สุขุมวิทซอย 11 ซอยนานา หาดริ้น เกาะพะงัน หาดใหญ่ และสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นต้น
  • พิจารณายกเลิกการกำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างเวลา 14.00 – 17.00 น.
  • พิจารณากำหนดให้การขายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติสามารถกระทำได้ตลอดเวลา
  • พิจารณายกเลิกการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา หรือหอพักบริเวณใกล้เคียงสถานศึกษา เพราะมาตรการดังกล่าวมีลักษณะเหมารวม ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าผู้ใดควรหรือไม่ควรดื่มสุรา ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สร้างความไม่สะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวและผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มิใช่นักศึกษา โดยชี้ว่า ควรหันมาบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างกฎหมายห้ามบุคคลอายุต่ำกว่า 20 ปีซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดมากกว่า
  • พิจารณาปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความชัดเจน เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการป้องกันไม่ให้มีการบริโภคแอลกอฮอล์มากขึ้น รวมถึงการชักจูงใจเยาวชน กับการประกอบธุรกิจและสิทธิ์ในการรับรู้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค โดยการแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า ภาพ และเครื่องหมาย เป็นข้อมูลพื้นฐานในการตัดสินใจซื้อและเป็นข้อเท็จจริง จึงควรสามารถกระทำได้และผู้ประกอบการพึงต้องกระทำ ณ สถานที่ขาย นอกจากนี้ การปรับปรุงมาตรการจำกัดการโฆษณาให้มีความชัดเจน จะช่วยลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย ลดความเข้าใจผิดและความหวาดกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีของนักท่องเที่ยวและผู้บริโภค ที่มักใช้โซเชียลมีเดียในการแบ่งปันประสบการณ์การท่องเที่ยวและเฉลิมฉลอง ซึ่งจะช่วยประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ประการที่สอง ขอให้มีการยกเลิกการบังคับใช้พระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หลังสิ้นสุดการขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป โดยหันมาใช้กฎหมายปกติอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม

ประการที่สาม ขอให้ภาครัฐเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาศักยภาพและทักษะ (21st Century and job-readiness skills) แก่บุคคลากรด้านการท่องเที่ยว เช่น การสร้างจิตสำนึกการให้บริการอย่างรับผิดชอบ พัฒนาทักษะการบริการและการสื่อสาร ความเข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมและความเชื่อที่แตกต่าง  ความรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาชีพ เพื่อยกระดับมาตรฐานการให้บริการและเพิ่มโอกาสการเติบโตในหน้าที่งาน นอกจากนี้ ควรเปิดโอกาสและร่วมมือกับผู้ประกอบการในการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการดื่มอย่างพอประมาณและการสร้างความตระหนักรู้ต่อผลกระทบจากการดื่มอย่างเป็นอันตราย เพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม ความยั่งยืน และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อันเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนของวิถีใหม่ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ครอบคลุมในทุกมิติ

กลุ่มผู้ประกอบการฯ ยังระบุว่าพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน และขับเคลื่อนวิถีใหม่ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยด้านสาธารณสุขควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

Scroll to Top