ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในงานด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น ในฐานะกระทรวงพาณิชย์ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลในด้านเศรษฐกิจ มุ่งหวังให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในยุคดิจิทัลให้เข้มแข็ง ในระยะยาว โดยใช้ประโยชน์จากการใช้ Big Data ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ยกระดับการบริการประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการใช้ประโยชน์ จาก Big Data เพื่อขับเคลื่อนการค้ายุคใหม่ และการให้บริการข้อมูลด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยเชิงลึก กับผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการตัดสินใจทางด้านธุรกิจงานศิลปหัตถกรรมไทยให้ทันต่อสถานการณ์การค้าในปัจจุบัน และตรงกับความต้องการตลาดมากยิ่งขึ้น
–PUDU Robotics นำทัพหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ ออกแสดงบูธที่ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
–กทท. ชะลอปรับขึ้นอัตราค่าเช่าอาคารพาณิชย์ เซ่นพิษ โควิด-19
รสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับสินค้าประเภทงานทำมือหรืองานศิลปหัตถกรรมไทยนั้น กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จัดเก็บและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เฉพาะทางด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยเป็น Big Data ไปแล้วมากกว่า 50 จังหวัด ทั่วประเทศ ซึ่งครอบคลุมงานศิลปหัตถกรรมไทยกว่า 3,000 รายการ ในกลุ่มเครื่องทอ เครื่องจักสาน เครื่องไม้ เครื่องดิน เครื่องโลหะ เครื่องกระดาษ เครื่องหนัง เครื่องรัก รวมถึงเครื่องอื่นๆ อาทิ งานเทริดมโนราห์ งานกระจกเกรียบ เป็นต้น
สำหรับการจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้เฉพาะทางด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยนั้น เพื่อเป็นการรองรับความต้องการของผู้ประกอบการ ผู้ผลิต นักออกแบบ นักเรียน นักศึกษา ที่ต้องการใช้ประโยชน์ จาก Big Data เช่น นักเรียนนักศึกษาเห็นคุณค่างานศิลปหัตถกรรมไทย เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าและวิจัยเกิดการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ และนำมาต่อยอดผสมผสานเกิดเป็นงานใหม่ๆ
ด้านผู้ผลิตทั้งชาวบ้านและชุมชนสามารถนำข้อมูลองค์ความรู้ไปใช้พัฒนาตนเองและผลิตภัณฑ์ช่วยสร้างโอกาส สร้างเครือข่าย สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้เกิดความอยู่ดีกินดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ด้านผู้บริโภค และประชาชนสามารถเข้าถึงช่องทางงานศิลปหัตถกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน และยังได้ ร่วมสนับสนุนใช้ผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์ไทยเกิดการกระจายรายได้แก่เศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และด้านหน่วยงานภาครัฐเกิดการบูรณาการข้อมูล Big Data ร่วมกันเพื่อการพัฒนาประเทศแบบคู่ขนานให้การสนับสนุนภาคประชาชนได้อย่างตรงจุด ให้ความช่วยเหลือได้อย่างสอดคล้องกับวิถีแห่งชุมชนนั้นๆ
นักลงทุนและผู้ประกอบการมองหาโอกาสทางธุรกิจด้านศิลปหัตถกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างตลาดงานหัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่าย งานศิลปหัตถกรรม (Craft Social Network) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจงานศิลปหัตถกรรมไทยของอาเซียนในอนาคตต่อไป รมช.พาณิชย์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พรพล เอกอรรถพร รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน sacit ได้ดำเนินการจัดเก็บรวบรวมองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมไทยแบบเชิงลึก ในหลากหลายมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงศิลปหัตถกรรมอย่างรอบด้าน สามารถนำไปต่อยอดในด้านต่างๆ มากขึ้น สำหรับในปี 2565 นี้ sacit ได้เร่งพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้และเผยแพร่องค์ความรู้ศิลปหัตถกรรมไทย โดยให้ความสำคัญต่อการจัดเก็บข้อมูลและปรับปรุงข้อมูลงานศิลปหัตถกรรมไทย ให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ ให้ความสะดวกและรวดเร็วบนแพลตฟอร์มการให้บริการต่างๆ มากขึ้น อาทิ ข้อมูลองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวชิ้นงานศิลปหัตถกรรมไทยสะท้อนวีถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ศิลปะ ภูมิปัญญา รวมถึงศาสนาและปรัชญาที่หล่อหลอมเป็นเรื่องราวในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย
รวมถึงกระบวนการสร้างสรรค์ที่มีความละเอียดและลึกซึ้งและยังเป็นทักษะเชิงช่างที่เกิดจากการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น , การส่งเสริมและสืบสานงานศิลปหัตถกรรมไทยให้เกิดการถ่ายทอดและการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเฉพาะในชุมชนหรือในกลุ่มผู้สร้างสรรค์ แต่ยังขยายไปสู่สถาบันการศึกษาในวงกว้าง ตลอดจนการปรับตัวเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ (New Normal) ในสถานการณ์ต่างๆ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการให้บริการและเผยแพร่องค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการตอกย้ำ การเป็น Arts and Crafts Knowledge Center ของประเทศไทยต่อไป