เจแอลแอล (JLL) คาดว่ายอดการลงทุนซื้อขายอสังหาฯ ประเภทห้องเย็นจะมีมูลค่าสะสมสูงกว่า 2 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี พ.ศ. 2573 เนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและนักลงทุนในธุรกิจห้องเย็นเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินจากการลงทุนในเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในสินทรัพย์ประเภทนี้
ห้องเย็นหรือห้องแช่แข็ง (cold storage) ให้เช่า ยังคงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีศักยภาพสูงสำหรับการลงทุนระยะยาวในเอเชียแปซิฟิก จากความสามารถในการให้ผลตอบแทนที่มั่นคง และระดับอัตราค่าเช่าที่สูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น จากข้อมูลของ ของ เจแอลแอล (NYSE: JLL) การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ห้องเย็นในเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะทะลุ 2 พันล้านดอลลาร์ ก่อนปี พ.ศ. 2573 จากสถิติการลงทุนสูงสุดของสินทรัพย์ประเภทนี้เมื่อปี พ.ศ. 2564 ที่ 948 ล้านดอลลาร์ การเติบโตของการลงทุนในห้องเย็นมีปัจจัยสนับสนุนจากนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น และความต้องการของผู้เช่าที่มีความเฉพาะเจาะจงในการเช่าทรัพย์สินประเภทนี้มากขึ้น
จากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 เจแอลแอลเชื่อว่าจะมีปัจจัยหลายประการที่จะผลักดันการฟื้นตัวของการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องเย็น หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากห้องเย็นนับเป็นอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความผันผวนต่ำกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ สนับสนุนโดยความต้องการสำหรับห้องเย็นที่มีอยู่ต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดเก็บสินค้าที่เสื่อมสภาพได้ง่าย เช่น อาหารและยา นอกจากนี้ ค่าเช่าที่สูงกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทโกดัง คลังสินค้า และโรงงานให้เช่าทั่วไป ประกอบกับอายุสัญญาเช่าที่ค่อนข้างยาวกว่า จะเป็นปัจจัยหนุนที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนที่มองเห็นศักยภาพของสินทรัพย์ประเภทนี้
ผลการศึกษาของ เจแอลแอล เผยให้เห็นว่า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ธุรกรรมการลงทุนซื้อขายห้องเย็นให้เช่าได้ชะลอตัวลง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทอื่น ๆ อันมีสาเหตุมาจากปัจจัยเศรษฐศาสตร์มหภาค อาทิ ดอกเบี้ยและต้นทุนการเงินที่พุ่งสูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2564 มูลค่าการลงทุนซื้อขายห้องเย็นในเอเชียแปซิฟิกพุ่งสูงขึ้น ทั้งประเภทที่ใช้เพื่อการกระจายและการจัดเก็บสินค้า มีมูลค่าเฉลี่ย 29.6 ล้านดอลลาร์ต่อรายการ เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีซึ่งมีระดับอยู่ที่ 19.1 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ พบว่าในปี พ.ศ. 2564 มีการลงทุนซื้อขายรายการใหญ่เกิดขึ้นมากถึง 32 รายการ สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมาที่การลงทุนซื้อขายรายการใหญ่เฉลี่ยอยู่ที่ 15 รายการต่อปี ส่วนในปีนี้ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมานี้ ราคาซื้อขายมีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 16.3 ล้านดอลลาร์ต่อรายการ
เบน ฮอร์เนอร์ ผู้อำนวยการอาวุโสภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก หน่วยธุรกิจบริการอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (JLL) กล่าวว่า “ตลาดการลงทุนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องเย็นให้เช่าได้ชะลอตัวลงจากปี 2564 เป็นต้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถกลับไปทำสถิติใหม่ได้อีก หลากหลายปัจจัยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างของรูปแบบการบริโภค ไปจนถึงการซื้อขายออนไลน์ และหลากหลายตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค จะกระตุ้นให้ตลาดการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะมาจากกลุ่มนักลงทุนที่มีความเฉพาะเจาะจงในการลงทุนมากกว่ากลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ทั่วไป”
อุปสรรคในการเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทห้องเย็นสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็สามารถดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้หันมาให้ความสนใจมากขึ้น เจแอลแอลวิเคราะห์ว่า นักลงทุนโดยทั่วไปเข้าใจมากขึ้นว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ประเภทห้องเย็น ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการทำห้องเย็นที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ งานด้านโลจิสติกส์ และการปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นนักลงทุนที่มีความรู้เกี่ยวกับธุรกิจห้องเย็นจึงมีความได้เปรียบ ในขณะที่นักลงทุนอื่น ๆ ทั่วไปจะถูกกันออกไปโดยปริยาย
นอกจากนี้ การลงทุนด้านเทคโนโลยีกำลังกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อทำให้ธุรกิจห้องเย็นสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เช่า ในแง่ของประสิทธิภาพ และวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทั่วโลกที่นำไปสู่การความท้าทายและอุปสรรคด้านการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ดังนั้นการลงทุนในเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่นักลงทุนที่สนใจเข้ามาในธุรกิจห้องเย็นให้เช่าต้องคำนึงถึง วิทยาการสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นระบบอัตโนมัติ การใช้หุ่นยนต์ และการควบคุมประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ล้วนมีบทบาทสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพการปฏิบัติการของห้องเย็น และช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการและผู้เช่า ซึ่งทั้งหมดนี้ จะทำให้ธุรกิจห้องเย็นสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดียิ่งขึ้น และเอื้อประโยชน์ต่อนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง
อิทธิพลด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคจะมีส่วนในการกำหนดเงื่อนไขความต้องการสำหรับการลงทุนในธุรกิจห้องเย็นในเอเชียแปซิฟิกเช่นกัน การที่ภูมิภาคนี้มีจำนวนประชากรชนชั้นกลางเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้มีระดับการบริโภคขยายตัว โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง พ.ศ. 2565 การบริโภคภาคเอกชนในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นสูงถึง 4.1% และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4.7% ในระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2568
นอกจากนี้ รายได้จากการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคให้ลูกค้าในเอเชียระหว่างปี พ.ศ. 2562 ถึง พ.ศ. 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จาก 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2562 เป็น 2.69 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.53 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี พ.ศ. 2568 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ระดับ 19.1% ในขณะเดียวกัน ตลาด 3PL (บริษัทที่เป็นบุคคลที่ 3 ที่เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการด้านการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ให้กับบริษัทผู้ขายและผู้ซื้อ) ทั่วโลก ประเมินว่ามีมูลค่ารวมทั้งสิ้นกว่า 5.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี พ.ศ. 2565 โดยตลาดเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าคิดเป็น 1 ใน 3 ของมูลค่าตลาดโลก และคาดว่าระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึง พ.ศ. 2570 จะมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ระดับ 4.9% สูงกว่าสหรัฐฯ (2.1%) และยุโรป (2.2%)
ในประเทศไทย ความต้องการห้องเย็นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยแรงหนุนหลักจากการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและการแปรรูปทางการเกษตรที่ขยายตัวของประเทศ ซึ่งการเติบโตนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลกที่ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน
ไมเคิล แกลนซี่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าวว่า “ตลาดห้องเย็นในเอเชียแปซิฟิกกำลังอยู่ในขาขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากแรงสนับสนุนจากสถิติประชากรและเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่ง ความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทห้องเย็นเพิ่มสูงขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงทางรายได้ สินทรัพย์ประเภทห้องเย็นไม่เพียงแต่ให้ผลตอบแทนทางการเงินที่ดีเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างให้พอร์ตการลงทุนมีเสถียรภาพและเพิ่มความสามารถในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้มากยิ่งขึ้น” นายไมเคิล แกลนซี่ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “อนาคตของประเภทสินทรัพย์ประเภทห้องเย็นนี้ขึ้นอยู่กับการดึงดูดนักลงทุนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เข้ามาฟื้นคืนการลงทุนและสร้างเสริมอนาคตระยะยาวให้กับอสังริมทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทนี้ต่อไป และในขณะที่ภาคการส่งออกของประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ห้องเย็นที่สามารถให้บริการครบวงจรที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าในหลากหลายด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีความสำคัญต่อการรักษาคุณภาพของการส่งออกสินค้าที่เสื่อมสภาพง่ายและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศไทยในตลาดโลก”
ปัจจุบันตลาดธุรกิจห้องเย็นในประเทศส่วนใหญ่ถูกดำเนินการโดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จากข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) ระบุว่า บริษัทห้องเย็นที่จดทะเบียนในปี พ.ศ. 2565 จากทั้งหมด 193 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น SMEs โดยมีเพียง 12 แห่งเท่านั้นที่เป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ซึ่งภาพรวมนี้บ่งชี้ถึงโอกาสที่เพียงพอสำหรับการเติบโตในภาคส่วนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหน่วยงานที่สามารถนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ และแนวทางด้านธุรกิจที่สร้างสรรค์มาใช้ อีกทั้งความแข็งแกร่งทางการเงินของภาคธุรกิจนี้ยังสามารถเห็นได้จากรายได้ต่อปีซึ่งสูงถึง 1.83 หมื่น ล้านบาทในปี พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ พื้นที่ห้องเย็นที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 850,000 ตารางเมตรในปี พ.ศ. 2565 ยังเน้นย้ำถึงกำลังการผลิตในปัจจุบันและศักยภาพในการขยายเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น
กฤช ปิ่มหทัยวุฒิ หัวหน้าแผนกตลาดทุนประจำประเทศไทย บริษัท โจนส์ แลง ลาซาลล์ (ประเทศไทย) จํากัด (JLL) กล่าวว่า “การพัฒนาอย่างรวดเร็วของธุรกิจห้องเย็นของประเทศไทยสะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของตลาดส่งออกของประเทศไทย และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก นอกเหนือจากการขยายพื้นที่ห้องเย็นโดยทั่วไป การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพของห้องเย็นเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับตลาดห้องเย็นของประเทศไทย และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในแนวหน้าของอุตสาหกรรมที่สำคัญนี้อีกด้วย สำหรับตลาดห้องเย็นของประเทศไทยนั้นยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนที่พร้อมจะสร้างสรรค์นวัตกรรมและปรับตัว”
–BANPU ปั้นทีม Digital and Innovation ทรานส์ฟอร์ม “บุคลากร-องค์กร” รับโลกธุรกิจยุคดิจิทัล
91% ของธุรกิจขนาดเล็กกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจ ผลสำรวจจาก Goldman Sachs ระบุว่า ธุรกิจขนาดเล็กกว่า 91% กำลังประสบปัญหาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ และกว่าครึ่งยืนยันว่าสถานการณ์เลวร้ายลงตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่ปี 2025 กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า คำถามคือ ธุรกิจของคุณพร้อมรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหรือยัง?…
BizTalk x Sunny Horo กับคอลลัมน์ ดวงธุรกิจ Weekly ชวนมาอัพเดต ดวงประจำวันที่ 25 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2567 กัน ใครเกิดตรงกับวันไหน…
Biztalk วันอาทิตย์ที่ 24 พ.ย. 2567 คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไอที โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยข้อมูล คุณวันพิชิต ชินตระกูลชัย Chief Technology Officer (CTO) บริษัท แร็กน่าร์…
จากองค์กรที่อยู่คู่คนไทยมายาวนานถึง 141 ปี ไปรษณีย์ไทย กำลังก้าวสู่ "ไลฟ์สไตล์แบรนด์" ที่มีความทันสมัย และพร้อมตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน ใครว่าไปรษณีย์ไทยมีดีแค่ส่งจดหมายและพัสดุ? วันนี้ไปรษณีย์ไทยกำลังก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ สู่การเป็น "ไลฟ์สไตล์แบรนด์" ที่พร้อมเติมเต็มทุกมิติชีวิตของคนไทย ด้วยกลยุทธ์การพัฒนาบริการดิจิทัลควบคู่ไปกับการต่อยอดธุรกิจดั้งเดิม พร้อมสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ…
10 สตาร์ทอัพเซมิคอนดักเตอร์ แห่งปี 2024 ก้าวข้ามขีดจำกัดของวงการ AI ด้วยเทคโนโลยีชิปสุดล้ำ ในขณะที่ Nvidia ครองตลาดชิป AI ด้วยมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละไตรมาส บริษัทและนักลงทุนจำนวนมากเชื่อว่ายังมีโอกาสสำหรับผู้เล่นรายอื่นในตลาดโครงสร้างพื้นฐาน AI ทั้งในส่วนของชิปที่ใช้ในอุปกรณ์…
พรีวิว Oppo Find X8 ซีรีส์ สมาร์ทโฟนที่มาพร้อมชิปเซ็ตตัวใหม่ล่าสุด MediaTek Dimensity 9400 ที่ให้ประสิทธิภาพแรงขึ้นกว่าเดิม ทั้ง CPU เร็วขึ้น 35% และ…