สกสว. – บพท. สำรวจเส้นทางการค้าอนุฯ ลุ่มน้ำโขง หนุนโอกาส “ไทย-ลาว-จีน” ใช้ ววน. นำทางการท่องเที่ยว ขนส่ง การปศุสัตว์และการเกษตร

สกสว. - บพท. สำรวจเส้นทางการค้าอนุฯ ลุ่มน้ำโขง หนุนโอกาส “ไทย-ลาว-จีน” ใช้ ววน. นำทางการท่องเที่ยว ขนส่ง การปศุสัตว์และการเกษตร

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนเชิงพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.เชียงราย) สำรวจเส้นทางการค้าการลงทุนทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง Greater Mekong Subregion (GMS) และโลจิสติกส์ตามเส้นทางเศรษฐกิจ R3A เส้นทางแขวงหลวงน้ำทา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และ จุดเชื่อมต่อการค้าในการส่งออก-นำเข้าสินค้าเกษตร ระหว่าง ด่านบ่อเต็น สปป.ลาว และ ด่านบ่อหาน เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงการศึกษางานท่าเรือกวนเหล่ย ท่าเรือขนส่งทางน้ำของของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำล้านช้างและลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยน เรื่องการค้า-การลงทุน การนำเข้า-ส่งออก การผลิต-แปรรูปผลิตผลการเกษตร และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของแขวงหลวงน้ำทา กับการพัฒนาด้านโลจีสติกส์ของประเทศจีน โดยมีหน่วยภาครัฐ ภาคเอกชน แขวงน้ำทา สสป.ลาว และนักวิชาการตามเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ เข้าร่วมการประชุมด้วย

รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำ (O-Inclusiveness) กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่ในการจัดทำแผน และกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ซึ่งแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ งบประมาณในการสนับสนุนการวิจัยขั้นพื้นฐานและเสริมสร้างศักยภาพการวิจัยให้กับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวง อว. (Fundamental Fund, FF) ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ผ่านหน่วยรับงบประมาณของกระทรวง และ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 186 หน่วยงาน และงบประมาณในการสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (Strategic Fund, SF) ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุน 9 หน่วยงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ

นอกจากบทบาทหน้าที่หลัก ตามที่กล่าวแล้ว สกสว. ยังได้รับมอบหมายจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ตามมติคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานในองค์ประกอบการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการวิจัย พัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ใน 4 ภูมิภาค ที่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และ จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่หนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง) ที่ต้องดำเนินการ โดยการต่อยอดงานวิจัย ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านหน่วยรับงบประมาณ และหน่วยบริหารและจัดการทุน สู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่สถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัย และอุทยานวิทยาศาสตร์ในพื้นที่ ให้มีบทบาทนำและเชื่อมโยงภาคีต่างๆ ในการวิจัยและพัฒนา เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือนวัตกรรม แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจและเกษตรกร ที่จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น

“การลงพื้นที่ และการหารือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ ถือเป็นการรับฟังโจทย์และความต้องการของพื้นที่ในสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนำข้อมูลที่ได้กลับไปทบทวนและจัดทำแผนด้าน ววน. ให้สอดคล้องกับนโยบายที่ได้รับมอบหมาย และเป็นไปตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ 3 ของ แผนด้าน ววน. โดยเฉพาะแผนที่ 13 ว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาเมืองน่าอยู่และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมสู่ทุกภูมิภาค โดยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งต้องมีการสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อน ววน. ให้เกิดผลกระทบตามตัวชี้วัด คือ การทำให้พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษมีมูลค่าสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จำนวน 3 พื้นที่ ในช่วงปี 2566-2570”

รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการดังกล่าว จะดำเนินการเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ จะต้องอาศัยความร่วมมือในทุกระดับ ทั้งในส่วนของระดับปฏิบัติการและระดับนโยบาย เพราะหากประเทศใดประเทศหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านมีความเจริญ หรือประสบความสำเร็จทางการค้า ทุกประเทศก็จะสำเร็จไปด้วยกัน โดย บพท. ในฐานะหน่วยบริหารและจัดการทุน ที่รับงบประมาณจากกองทุน ววน. พร้อมที่จะริเริ่มประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ทำระบบความรู้เปิด เช่น ความรู้ภาคการเกษตร หรือ การท่องเที่ยว และองค์ความรู้อื่นๆที่จะสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการพัฒนาโจทย์วิจัยให้มีความเชื่อมโยงกับความต้องการ อาทิ โปรแกรม/ระบบ ที่ทำให้การลงทุนจาก 3 ส่วน คือ ไทย จีน ลาว ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการแชร์เทคโนโลยีร่วมกัน ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการคลี่ภาพทั้ง value chain เพื่อจำแนกผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพ

ในส่วนของ สปป.ลาว ได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือกับไทย อาทิ พัฒนาสายพันธุ์วัว การปลูกพืชอินทรีย์ เพื่อสนับสนุนการยกระดับการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ที่ประกาศให้เป็นปีการท่องเที่ยว อาทิ 1. การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ 2. การท่องเที่ยววัดวาอาราม และ 3. การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

ผู้ว่าการ กทพ.เปิดตัว Application EXAT Portal และระบบสะสมแต้ม EXAT Reward

Scroll to Top