เอกชน มองทิศทางการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ส่งสัญญาณบวก แต่เงื่อนไขขอต้องมีเสถียรภาพ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาภาคเอกชนติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และเห็นทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงได้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยปัจจุบันทราบว่ามีการรวมเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล รวม 9 พรรค และคาดว่าจะมีพรรคการเมืองและวุฒิสภาให้การสนับสนุนเพิ่มเติมจนสามารถโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากแคนนดิเดตพรรคเพื่อไทยได้ แต่สิ่งสำคัญคือเสถียรภาพของรัฐบาลที่จะต้องมีเสียงเพียงพอและเข้มแข็ง เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเป็นไปอย่างราบรื่นและมีความต่อเนื่อง หากพิจารณาจากสถานการณ์ในปัจจุบันหอการค้าฯ ยังมีความมั่นใจว่าประเทศน่าจะมีรัฐบาลชุดใหม่ได้ในกรอบของ ส.ค. – ก.ย. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไม่ช้าเกินไป โดยหอการค้าไทยมองว่าไทยควรมีรัฐบาลชุดใหม่ให้เร็วที่สุด เพราะปัจจุบันประเทศมีประเด็นความท้าทายสำคัญหลายประการ ทั้งจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไทยกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวขึ้น การลงทุนยังคง wait and see ท่ามกลางความผันผวน ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวลง รวมถึงภาวะสงครามที่เกิดขึ้น

ทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงรอบด้านของเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ข้อเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องดูแลทันทีคือการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ผ่านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นโยบายลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และลดต้นทุนภาคเอกชนทั้งค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า ที่ยังอยู่ในระดับสูง และการเผชิญกับปัญหาภาคการส่งออกที่ชะลอตัวติดลบต่อเนื่อง 8 – 9 เดือน

นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่จำเป็นต้องเร่งเสริมความโดดเด่นภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์หลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายและถือเป็นช่วงไฮท์ซีซันของปี ทั้งการอำนวยความสะดวกเรื่องการทำวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวจีนให้รวดเร็ว การเพิ่มเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว รวมถึงเร่งจัดทำงบประมาณรายจ่าย 2567 ให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนเร่งสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ จากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และเป็นผลดีต่อตัวเลขการส่งออกในอนาคต ส่วนในระยะกลางต้องวางแผนและป้องกันความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ กกร. ได้ประเมินว่าภัยแล้งน่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นต้องเตรียมแผนบริหารจัดการทั้งพื้นที่และการกักเก็บน้ำที่เหมาะสม รองรับความต้องการของภาคการเกษตร ภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปีหน้า ตลอดจนสานต่อข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศที่ไทยได้เริ่มดำเนินการกับหลายประเทศ เพื่อเร่งขยายตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ FTA ไทย – EU และอีกหลายฉบับ โดยเอกชนมองว่าจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกมากขึ้น ส่วนในระยะยาว ต้องเริ่มปูพื้นฐานความรู้ความเข้าใจของทุกภาคส่วนถึงประเด็นการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะรูปแบบการค้าของโลกจะเปลี่ยนไป วันนี้เห็นได้ชัดว่ามาตรฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสังคมกลายเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะการการส่งเสริมแนวทาง BCG และ ESG ให้มีรูปแบบและมาตรฐานสากล

สำหรับเศรษฐกิจภายในประเทศต้องยอมรับว่ายังคงน่ากังวล โดยเฉพาะกำลังซื้อของประชาชนที่สะท้อนจากการซื้อสินค้าคงทนตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายนมีแนวโน้มลดลง เป็นสัญญาณว่าประชาชนไม่มีรายได้และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น สถานการณ์เช่นนี้จำเป็นต้องมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทันทีเช่นเดียวกับที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมาเช่น โครงการคนละครึ่ง เพื่อดึงกำลังซื้อของประชาขนให้กลับมา ขณะที่สเปคของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นว่าจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วนว่าจะสามารถนำเสนอนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างรวดเร็วและตรงจุด

ดังนั้น หากรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และนำเอานโยบายแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจแบบทันทีนั้น หอการค้าฯ มองว่าในหลักการสามารถทำได้ แต่ต้องประเมินผลความคุ้มค่าในแง่เศรษฐกิจให้ชัดเจนและรอบด้านเพราะเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณมหาศาล

Scroll to Top