พาณิชย์ ผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน แก้วิกฤติปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ขาดแคลน

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์(นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2565 โดยมีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สภาเกษตรกรแห่งชาติ สมาคมการค้าพืชไร่ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องกิติยากรวรลักษณ์ ชั้น 4 สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

หลังการประชุมนายจุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากผลประชุมครั้งที่แล้ว
ที่ประชุมได้มอบหมาย 5 ฝ่าย ประชุมร่วมกันในการแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ในอนาคต ที่ประชุม 5 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ผู้แทนส่วนราชการ กระทรวงพาณิชย์กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงการคลัง เป็นต้น 2.ผู้แทนสภาเกษตรกรที่เกี่ยวกับข้าวโพดและสมาคมชาวไร่มันสำปะหลัง 3.สมาคมการค้าพืชไร่ 4.สมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ หมูและไก่เนื้อ 5.สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ ประชุมหารือร่วมกันและมีข้อสรุปเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดในวันนี้ เพื่อดูแลปริมาณวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอภายในประเทศและการผลิตอาหารสัตว์ต่อไป จากมาตรการที่เคยกำหนดไว้เดิมให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้สะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น และส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มาชดเชยส่วนที่ขาดในปัจจุบัน และส่งเสริมให้มีการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะเมียนมา โดยจัดให้มีกิจกรรมจับคู่ออนไลน์ OBM ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นี้

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าประเด็นสำคัญประกอบด้วย 1.ยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้เดิม ในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วนเป็นการชั่วคราวก่อน คือระหว่างเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเป็นการผ่อนปรนมาตรการที่กำหนดไว้เดิมในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อชดเชยส่วนที่ขาดในประเทศ 2.เพิ่มโควต้านำเข้าข้าวโพดจากเดิมกำหนดไว้ 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน ภายในเดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 จะมีผลให้ลดภาษีนำเข้าข้าวโพดจากอัตรา 20% เป็น 0% เป็นการชั่วคราว ในช่วง 3 เดือนนี้ 3.การนำเข้าช่องทางอื่นตามปกติ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะช่วยจับคู่ธุรกิจ เพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอในประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ต่อไป

” ซึ่งเป็นการกำหนดให้นำเข้าวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ได้ 3 ช่องทาง มีปริมาณรวมกันไม่เกิน 1,200,000 ตัน แต่เมษายนถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพื่อชดเชยส่วนที่ยังขาดให้มีเหลือพอใช้หนึ่งเดือน และให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 5 ฝ่าย เพื่อติดตามประเมินการผลดำเนินการทั้งหมดและสามารถเสนอให้ทบทวนหรือปรับปรุงมาตรการต่อไปได้เพื่อความเหมาะสม ” นายจุรินทร์ กล่าว

Scroll to Top