นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี กล่าวว่า ร้านโดนใจหรือร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้รับความร่วมมือที่ดีจากทุกภาคส่วนและได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเจ้าของร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ โดยในขณะนี้มีร้านโชห่วยเข้าร่วมโมเดลธุรกิจร้านโดนใจแล้วกว่า 1,200 ร้านค้า ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการนำระบบ POS หรือระบบขายหน้าร้าน การให้คำปรึกษาทางธุรกิจจากทีมผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มจะช่วยยกระดับและเสริมประสิทธิภาพในการขายสินค้าให้กับผู้ค้า เปลี่ยนโฉมร้านโชห่วยให้สอดรับกับความต้องการของผู้บริโภค มากไปกว่านั้นการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ยังสามารถนำไปขยายผลเพื่อวางแผนการตลาดในอนาคตให้สอดรับกับพื้นที่
อย่างไรก็ดีนอกจากการพัฒนาโมเดลร้านค้าปลีกสมัยใหม่ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญคือการหาคู่ค้า วันนี้บีเจซีได้เดินหน้าเปิดตัวพันธมิตรกว่า 30 บริษัทเพื่อติดปีกเสริมแกร่งให้ร้านโดนใจมีสินค้าและผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายที่หลากหลายแบรนด์ ในราคาที่เหมาะสม
พร้อมกันนี้ยังมีพันธมิตรสนับสนุนด้านการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และ บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อต่อยอดในการสร้างทุนให้กับผู้ประกอบการที่สนใจที่จะเปิดร้านโดนใจในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าการเชื่อมโยงพันธมิตรที่หลากหลายจะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญให้ร้านโดนใจสามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นางฐาปณี กล่าวเสริม
นางฐาปณี กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายการยกระดับร้านโชห่วยเข้าร่วมในแพลตฟอร์มเครือข่ายร้านโดนใจในปี 2566 วางเป้าไว้ที่ 8,000 ร้านค้า โดยมีการประชาสัมพันธ์และเตรียมลงพื้นที่ผ่านโครงการโดนใจออนทัวร์ เพื่อสร้างการรับรู้และเสริมองค์ความรู้ให้กับร้านโชห่วยในพื้นที่ต่างๆ โดยในไตรมาสที่ 1 จะเริ่มจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกและภาคกลางตามลำดับ เน้นในพื้นที่จังหวัดที่เป็นหัวเมือง
อาทิ อุบลราชธานี ขอนแก่น ภูเก็ต และชลบุรี เป็นต้น ซึ่งจากข้อมูลร้านโชห่วยทั่วประเทศที่มีกว่า 400,000 ร้านค้า เรามองว่านี่คือโอกาสที่ร้านโชห่วยต่างๆ จะปรับโฉมการบริหารจัดการเพื่อยกระดับร้านค้าให้กลายเป็นที่ร้านที่โดนใจและถูกใจสอดรับกับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทัน ทั้งนี้เรามองว่าการเป็นหนึ่งฟันเฟืองในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานรากจะทำให้ร้านโชห่วยของไทยเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสังคมและชุมชนด้วยความสมดุล
นางฐาปณี เสริมต่อไปว่า แพลตฟอร์มร้านโดนใจมีจุดเด่นที่ผู้ประกอบการร้านค้าโชห่วยสามารถเลือกลงทุนและสินค้าที่จำหน่ายได้เอง โดยไม่ต้องแบ่งผลกำไร ใช้งบลงทุนที่ไม่สูง
รูปแบบของร้านแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.บีเจซีจะใช้เครือข่ายของบิ๊กซีเป็นคนจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าในชุมชน 2.นำเอาระบบ POS ที่พัฒนาขึ้นเข้าไปเสริมแกร่งธุรกิจให้กับร้านโชห่วย ทั้งนี้สำหรับการกระจายสินค้าร้านโดนใจจะใช้เครือข่ายสาขาของบิ๊กซีที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้ามาเป็นเครือข่ายในการกระจายสินค้า ขณะที่การปรับปรุงร้านค้านั้นหากผู้ประกอบการต้องการปรับโฉมหรือตกแต่งให้ดูทันสมัยสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของงบประมาณที่ตัวเองเห็นสมควร
“เราเชื่อมั่นว่า ร้านโดนใจ จะเป็นส่วนเติมเต็มที่สำคัญให้กับการพัฒนาร้านโชห่วยในประเทศไทยให้สามารถเติบโตและขานรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างหลากหลาย มากไปกว่านั้นการมีระบบบริหารจัดการที่ดีจะทำให้ร้านค้ารวมไปถึงผู้ประกอบการและลูกค้ามีความสะดวกสบาย” นางฐาปณี กล่าวสรุป